“เตรียมรับมือ รู้จักระยะของโรคหัวใจในสุนัข”

18 JUL 2024
share :

เมื่อพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์และหากสุนัขของเราได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ เชื่อว่าสิ่งแรกที่วิ่งเข้ามาในหัวของเจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายท่านคือภาพอาการที่รุนแรงของโรคหัวใจ เช่น การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรืออาการหัวใจวายแบบที่เราเห็นกันได้บ่อยๆ ในภาพยนตร์หรือซีรีส์ แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า แท้จริงแล้วคำว่าโรคหัวใจในสุนัขมีความหมายที่กว้างกว่านั้น และโรคหัวใจส่วนใหญ่ที่เราเจอกันในทางคลินิกเป็นโรคที่มีการดำเนินไปอย่างเรื้อรังและประกอบด้วยระยะต่างๆ หลายระยะเหมือนกับโรคที่เกิดจากความเสื่อมในอวัยวะอื่นๆ ดังนั้นบทความของเราในวันนี้จะขอชวนผู้อ่านทุกท่านให้มารู้จักกับโรคหัวใจที่พบได้บ่อยที่สุดในสุนัข นั่นคือโรคลิ้นหัวใจเสื่อมหรือโรคลิ้นหัวใจรั่ว ว่าโรคนี้มีกี่ระยะและแต่ละระยะมีข้อแนะนำสำหรับการดูแลในภาพรวมอย่างไร เพื่อให้เจ้าของสุนัขทุกท่านสามารถเตรียมรับมือและนำไปใช้ดูแลสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น

โรคลิ้นหัวใจรั่วมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางโครงสร้างของลิ้นหัวใจที่ทำให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท โดยตำแหน่งของลิ้นหัวใจที่พบความผิดปกติได้บ่อยที่สุดคือลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนและล่างซ้าย เมื่อหัวใจบีบตัว ลิ้นหัวใจที่ปิดไม่สนิทจะทำให้เลือดบางส่วนเกิดการไหลย้อนกลับไปที่หัวใจห้องบน เมื่อเวลาผ่านไปจะส่งผลให้หัวใจต้องปรับตัวและทำงานหนักมากขึ้นเพื่อชดเชยให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอ โรคนี้มักพบในสุนัขพันธุ์เล็กถึงพันธุ์กลางที่อายุ 6 – 7 ปีขึ้นไป เช่น พันธุ์ปอมเมอเรเนียน ชิวาวา ชิสุ พุดเดิล ดัชชุน และมินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ โดยโรคลิ้นหัวใจรั่วมีทั้งระยะที่สุนัขแสดงอาการและไม่แสดงอาการ กล่าวคือสุนัขสามารถมีโรคนี้แฝงอยู่ในร่างกายได้ แม้อาการภายนอกจะดูเหมือนเป็นปกติทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะในช่วงแรกที่โรคยังมีการดำเนินไปอย่างช้าๆ ซึ่งอาจจะใช้เวลาหลายปีกว่าความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้นจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว สุนัขจึงจะแสดงอาการป่วยให้เจ้าของสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน โดยระบบที่ใช้ในการแบ่งระยะของโรคลิ้นหัวใจรั่วในปัจจุบันจะใช้เกณฑ์การแบ่งระยะตาม American College of Veterinary Internal Medicine (ACVIM) ปี 2019 ซึ่งได้มีการแบ่งโรคลิ้นหัวใจรั่วออกเป็น 4 ระยะหลัก ตามการพัฒนาและการดำเนินไปของโรค ดังนี้

ระยะ A คือระยะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ้นหัวใจรั่วในอนาคต แต่ยังไม่พบความผิดปกติทางโครงสร้างของลิ้นหัวใจและไม่พบอาการของหัวใจล้มเหลว เช่น ในสุนัขสายพันธุ์ที่มีรายงานว่าสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ้นหัวใจรั่ว (breed predisposition) และ/หรืออายุ 6 ปีขึ้นไป ดังนั้นวิธีการดูแลสุนัขกลุ่มนี้จึงดูแลในลักษณะเดียวกับสุนัขปกติ โดยมีข้อแนะนำว่าควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรค

ระยะ B คือระยะที่ตรวจพบความผิดปกติทางโครงสร้างของลิ้นหัวใจ แต่ยังไม่แสดงอาการของหัวใจล้มเหลว โดยสัญญาณแรกที่บ่งบอกว่าสุนัขอยู่ในระยะนี้คือเมื่อสัตวแพทย์ทำการฟังเสียงหัวใจของสุนัขจะได้ยินเสียงหัวใจที่ผิดปกติ หรือเสียงฟู่ (heart murmur) จากการรั่วของลิ้นหัวใจ โดยทั่วไปแล้วโรคหัวใจระยะนี้ยังมีการดำเนินไปของโรคอย่างช้าๆ และมักกินระยะเวลานานหลายปี โดยในระยะ B จะสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ระยะย่อย ได้แก่

- ระยะ B1 หรือระยะเริ่มต้นของโรคลิ้นหัวใจรั่ว คือระยะที่ตรวจพบการเสื่อมของลิ้นหัวใจ และ ได้ยินเสียงหัวใจที่ผิดปกติ แต่ยังไม่มีภาวะหัวใจโตจากการเอกซเรย์ช่องอกหรือการอัลตราซาวนด์หัวใจ (echocardiogram) โดยการดูแลสุนัขกลุ่มนี้จะยังคงคล้ายคลึงกับสุนัขปกติ และในระยะนี้สุนัขยังไม่มีความจำเป็นต้องได้รับยารักษาใดๆ แต่มีข้อแนะนำว่าควรพบสัตวแพทย์เป็นประจำทุก 6 – 12 เดือน เพื่อเฝ้าระวังภาวะหัวใจโต

- ระยะ B2 คือระยะที่ตรวจพบการเสื่อมของลิ้นหัวใจ และมีขนาดหัวใจโตเกินเกณฑ์ที่กำหนดจากการเอกซเรย์ช่องอกร่วมกับการอัลตราซาวนด์หัวใจแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการของหัวใจล้มเหลว ในระยะนี้สัตวแพทย์พิจารณาให้เริ่มป้อนยาเพิ่มการบีบตัวของหัวใจและขยายหลอดเลือด เนื่องจากมีรายงานว่าสามารถช่วยชะลอการเข้าสู่ระยะหัวใจล้มเหลว ลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและเพิ่มคุณภาพชีวิตของสุนัขได้เมื่อเทียบกับสุนัขกลุ่มที่ไม่ได้รับยา นอกจากนี้อาจเริ่มปรับอาหารโดยการลดปริมาณโซเดียมในอาหารลงเล็กน้อยเพื่อช่วยลดภาวะการคั่งของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย โดยมากสุนัขโรคหัวใจที่อยู่ในระยะ B2 มักจะสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ แต่เนื่องจากในระยะนี้เป็นระยะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอด เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงควรเริ่มหมั่นสังเกตความทนในการทำกิจกรรมของสุนัข ลักษณะการหายใจรวมทั้งการนับและติดตามอัตราการหายใจขณะหลับ (sleeping respiratory rate) ที่ไม่ควรเกิน 30 ครั้งต่อนาที หากเริ่มสังเกตพบความผิดปกติของการหายใจหรือมีอัตราการหายใจขณะหลับที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ควรรีบพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที

ระยะ C คือระยะที่ตรวจพบความผิดปกติทางโครงสร้างของลิ้นหัวใจ มีภาวะหัวใจโต และพบอาการแสดงของภาวะหัวใจล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอดแล้ว เนื่องจากกระบวนการปรับตัวต่างๆ ของหัวใจที่ได้พยายามปรับตัวเพื่อชดเชยการทำงานในระยะก่อนหน้าเกิดการล้มเหลว (decompensated) จนไม่สามารถช่วยพยุงการทำงานของหัวใจให้สูบฉีดเลือดได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอีกต่อไป สุนัขโรคหัวใจที่อยู่ในระยะนี้จึงมักจะแสดงอาการรุนแรง เช่น มีอาการหอบ หายใจลำบาก เป็นลม นอนราบไม่ได้ และเมื่อทำการเอกซเรย์ช่องอกจะพบลักษณะของเนื้อปอดที่ขาวขึ้นร่วมกับมีภาวะหัวใจโต ซึ่งบ่งชี้ภาวะน้ำท่วมปอดที่มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ ดังนั้นในระยะนี้สุนัขจึงมีความจำเป็นต้องได้รับยาหลายชนิดร่วมกันเพื่อควบคุมอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว หากมีการหยุดยา ขาดยา หรือได้รับยาไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้อาการของสุนัขทรุดลงได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ควรมีการปรับอาหารเป็นสูตรสำหรับสุนัขโรคหัวใจเพื่อควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหาร และสุนัขควรได้รับพลังงานในอาหารอย่างเพียงพอและได้รับโปรตีนที่มีคุณภาพสูงเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำหนักตัวและมวลกล้ามเนื้อที่มากเกินไป เนื่องจากโรคหัวใจระยะ C เป็นระยะที่รุนแรง สุนัขโรคหัวใจในกลุ่มนี้จึงมักต้องการการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของอย่างใกล้ชิด โดยเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะมีบทบาทตั้งแต่ การป้อนยาอย่างสมํ่าเสมอ การจัดการด้านอาหารและนํ้าอย่างเหมาะสม การพาไปพบสัตวแพทย์ตามนัดหมายอย่างเป็นประจำและต่อเนื่อง รวมทั้งการหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติของสุนัข ทั้งทางด้านพฤติกรรม การทำกิจกรรม ความอยากอาหาร รวมทั้งลักษณะการหายใจและการติดตามอัตราการหายใจขณะหลับ

ระยะ D คือระยะหัวใจล้มเหลวที่ดื้อต่อการรักษาหรือไม่สามารถจัดการได้ด้วยการรักษาแบบมาตรฐาน (standard treatment) และอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการพิเศษเพื่อควบคุมอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอด อาทิ การให้ยาขับน้ำในปริมาณสูงหรือถี่มากขึ้นหรือการต้องใช้ยาขับน้ำหลายชนิดร่วมกันเพื่อประคับประคองอาการ สุนัขโรคหัวใจในระยะนี้มักแสดงอาการรุนแรงและไม่ค่อยร่าเริง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมภาวะน้ำท่วมปอดให้หายสนิทได้ หรือมีภาวะแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากโรคลิ้นหัวใจรั่วที่เป็นมาอย่างยาวนาน สำหรับการดูแลสัตว์ป่วยในภาพรวมนั้นไม่แตกต่างจากการดูแลสุนัขโรคหัวใจในระยะ C มากนัก แต่ต้องการการเฝ้าระวังเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นและปฏิบัติตามคำแนะนำจากสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น การจัดการน้ำและอาหาร การป้อนยาในปริมาณมากเพื่อประคองอาการ รวมทั้งการพาสุนัขเข้ารับการตรวจระดับของเกลือแร่ในร่างกายและตรวจประเมินการทำงานของไตร่วมด้วยอย่างสม่ำเสมอ

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าโรคหัวใจนั้นประกอบด้วยระยะต่างๆ ที่จะมีระดับความรุนแรง การแสดงอาการและข้อแนะนำในการดูแลที่แตกต่างกันไป โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลน้องหมาโรคหัวใจไม่แพ้คุณหมอผู้ทำการรักษาคือ “เจ้าของสัตว์เลี้ยง” ที่จะมีส่วนอย่างมากในแง่มุมต่างๆ ของการดูแลสัตว์เลี้ยงที่เรารัก และแม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การได้รับความรักและการดูแลเอาใจใส่ที่เหมาะสมจากเจ้าของถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยให้สัตว์ป่วยโรคหัวใจมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุที่ยืนยาวขึ้นได้นั่นเองครับ

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch และสามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App เพื่อช่วยในการนับและบันทึกอัตราการหายใจได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

บทความนี้เขียนโดย อ.น.สพ.ธนพล สันติวัฒนธรรม

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

3 SEP 2024
ยารักษาโรคหัวใจสุนัข ควรเก็บอย่างไรให้ถูกวิธีและจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นยาที่มีคุณภาพ? วันนี้หมอจะอัปเดตให้รู้
ยาโรคหัวใจ เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการบรรเทาและรักษาอาการของโรคหัวใจ ถึงแม้พวกเราจะป้อนยาให้น้องสุนัข ได้ตรงเวลาตามคำสั่งของสัตวแพทย์ แต่เดี๋ยวก่อนนะคะ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ยานั้นมีคุณภาพที่ดีพอๆ เหมือนออกมาจากแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นยาหรืออาหารก็ต้องมีการเก็บรักษาที่ถูกวิธี เพราะการเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพ ถ้าเป็นอาหารก็จะบูดเน่า สารอาหารก็หายไป แล้วถ้าเป็นยาล่ะ
18 APR 2024
โรคหัวใจในสุนัขและภาวะแทรกซ้อน
หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เมื่อหัวใจทำงานเสื่อมลงหรือมีความผิดปกติก็สามารถส่งผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญอื่นๆ ได้ด้วย สุนัขที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจนั้น จะแบ่งกลุ่มหลักๆ ได้สองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังไม่แสดงอาการและกลุ่มที่แสดงอาการ ในกลุ่มที่อยู่ในระยะแสดงอาการแล้ว
2 SEP 2021
ความเสี่ยงซื้อยาออนไลน์ อาจเป็นอันตรายกับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะการรักษาโรคหัวใจ
คงต้องยอมรับว่าผู้บริโภคอย่างพวกเราเริ่มมีความเคยชินกับการจับจ่ายซื้อขายของผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ประกอบกับช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งการเติบโตของการซื้อของออนไลน์
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่