วิธีการให้ยาในสุนัขและแมวที่เป็นโรคหัวใจ

6 AUG 2021
share :

เมื่อสุนัขและแมวที่เป็นโรคหัวใจ มีภาวะหัวใจล้มเหลว สัตวแพทย์จะจ่ายยาโรคหัวใจเพื่อช่วยควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดขึ้น ช่วยลดภาวะปอดบวมน้ำ ท้องมาน หรืออาการบวมตามร่างกาย เพื่อให้สุนัขและแมวสามารถดำรงชีวิตได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลุ่มยาโรคหัวใจที่ใช้โดยทั่วไปได้แก่ ยาขับน้ำ ยาช่วยควบคุมระบบประสาทและฮอร์โมน ยาช่วยเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ยาขยายหลอดเลือด และยาต้านการทำงานของเกล็ดเลือด เป็นต้น

ข้อควรพิจารณาในการให้ยาในกลุ่มต่างๆ

ยาขับน้ำ ตัวอย่างยาได้แก่ furosemide ควรให้ยาตามระยะเวลาที่สัตวแพทย์กำหนด เช่น หากสัตวแพทย์ สั่งจ่าย ทุก 12 ชั่วโมง ควรให้สัตว์เลี้ยงได้รับยา 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมงโดยประมาณ เนื่องจากยาจะออกฤทธิ์ขับปัสสาวะหลังจ่ายเป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมง โดยประมาณ หากสัตว์เลี้ยงไม่ได้รับยาตามที่กำหนดอาจทำให้ไม่สามารถควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลวตลอด 24 ชั่วโมงได้ และอาจทำให้สัตว์เลี้ยงมีอาการไอ หรือหายใจลำบากเกิดขึ้นในช่วงที่ไม่ได้รับยา เนื่องจากยามีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะจึงควรให้สัตว์เลี้ยงมีโอกาสได้ปัสสาวะอย่างอิสระ หรือพาออกไปปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน เพราะสัตว์เลี้ยงบางตัวอาจปัสสาวะรดที่นอนได้เนื่องจากมีปัสสาวะปริมาณมาก และควรมีน้ำให้สัตว์เลี้ยงสามารถกินได้ตลอดเวลา เพื่อลดการเกิดภาวะแห้งน้ำ การกินอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยากลุ่มนี้ จึงสามารถให้ยาได้ทั้งก่อนอาหารและหลังอาหาร นอกจากฤทธิ์ขับน้ำซึ่งมีผลต่อการทำงานของไต ยากลุ่มนี้ยังมีผลต่อการขับเกลือแร่ออกทางปัสสาวะ ด้วยเหตุนี้ภายหลังจากที่ได้รับยากลุ่มนี้ สัตวแพทย์จะทำการตรวจเลือด เพื่อเฝ้าระวังการทำงานของไตและระดับเกลือแร่ในร่างกายเป็นระยะ สัตวแพทย์มักแนะนำให้ควบคุมปริมาณเกลือในอาหาร เพื่อช่วยลดการสะสมของเกลือและของเหลวในร่างกายเป็นการช่วยลดขนาดยาขับน้ำได้ทางหนึ่ง

ยากลุ่มควบคุมระบบประสาทและฮอร์โมน ยากลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลการกระตุ้นระบบประสาทและฮอร์โมนที่มากเกินไปจากภาวะหัวใจล้มเหลว ตัวยาที่ใช้บ่อยได้แก่ กลุ่มยายับยั้งเอนไซม์แองจิโอเทนซินคอนเวิร์ตติ้ง เช่น enalapril ramipril benazepril และ imidapril โดย enalapril เป็นยาที่จำเป็นที่ต้องได้รับ 2 ครั้งต่อวัน ส่วนยาตัวอื่นๆ ในกลุ่มนี้สามารถให้วันละครั้งได้ โดยยาสามารถให้ได้ทั้งก่อนอาหารและหลังอาหาร

ยากลุ่มช่วยเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ตัวอย่างยากลุ่มนี้ได้แก่ pimobendan ซึ่งแนะนำให้กินก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง เนื่องจากอาหารมีผลต่อการดูดซึมยา ยาจะออกฤทธิ์ 12 ชั่วโมง จึงจำเป็นต้องได้รับยาอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน เพื่อให้ออกฤทธิ์ครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง ยากลุ่มนี้มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และมีผลข้างเคียงน้อย อาจพบอาการถ่ายเหลวได้บ้างในสุนัขบางตัว

ยาขยายหลอดเลือด ตัวอย่างยา เช่น amlodipine ยากลุ่มนี้จะมีผลทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว จึงอาจมีผลต่อความดันเลือด สัตวแพทย์จะเฝ้าระวังระดับความดันเลือดเป็นระยะๆ หากได้รับยากลุ่มนี้แล้วสัตว์เลี้ยงมีอาการซึม ไม่มีแรงควรรีบพบสัตวแพทย์เพื่อปรับขนาดยา

ยาต้านการทำงานของเกล็ดเลือด ตัวอย่างยา เช่น aspirin และ clopidogrel สัตวแพทย์จะพิจารณาจ่ายยากลุ่มนี้เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยเฉพาะในแมวที่เป็นโรคหัวใจ ข้อควรระวังในการให้ยากลุ่มนี้ เช่น clopidogrel มีรสค่อนข้างขม จึงอาจช่วยให้การป้อนยาง่ายขึ้นโดยการใส่ยาในแคปซูลเปล่าก่อนป้อน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะเลือดออก อาจพบเลือดออกในช่องปาก เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีจ้ำเลือดออกใต้ผิวหนัง หากพบอาการหรือความผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพาสัตว์เลี้ยงของท่านไปพบสัตวแพทย์เพื่อปรับลดขนาดยา

ในกรณีที่สุนัขและแมวเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว จำเป็นต้องได้รับยาหัวใจเพื่อควบคุมอาการ หากขาดยาสัตว์เลี้ยงจึงมักแสดงอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้เจ้าของจึงควรป้อนยาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ อย่างไรก็ตามในกรณีที่ลืมป้อนยาในมื้อใดมื้อหนึ่ง ไม่ควรป้อนยาโดยการรวมมื้อยามาป้อนรวมกัน เช่น จากปกติต้องกิน 1 เม็ด แต่ป้อนเพิ่มเป็น 2 เม็ด เพราะอาจทำให้ เกิดผลข้างเคียงจากการได้รับยามากเกินได้ หากลืมป้อนยา ให้รีบป้อนยาให้เร็วที่สุด และให้คงมื้อยาในมื้อถัดๆ ไปตามปกติ

การป้อนยาที่ถูกต้อง ตรงตามระยะเวลาที่สัตวแพทย์กำหนด เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงที่ป่วยที่เป็นโรคหัวใจมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไปนะคะ

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

บทความนี้เขียนโดย รศ.สพ.ญ.ดร. สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

17 MAY 2021
โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อมในสุนัข (Canine degenerative mitral valve disease)
ลิ้นหัวใจไมทรัลคืออะไร? สุนัขนั้นมีหัวใจ 4 ห้องเช่นเดียวกับคน ห้องหัวใจฝั่งขวาจะรับเลือดดำมาแล้วส่งไปฟอกที่ปอด จากนั้นเลือดแดงที่ผ่านการฟอกที่ปอดแล้วจึงกลับมายังห้องหัวใจฝั่งซ้าย
2 SEP 2021
ความเสี่ยงซื้อยาออนไลน์ อาจเป็นอันตรายกับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะการรักษาโรคหัวใจ
คงต้องยอมรับว่าผู้บริโภคอย่างพวกเราเริ่มมีความเคยชินกับการจับจ่ายซื้อขายของผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ประกอบกับช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งการเติบโตของการซื้อของออนไลน์
17 SEP 2021
การดูแลและรักษาสุนัขที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (part 1)
การดูแลรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ต้องคำนึงถึงหลักสำคัญในหลายปัจจัยพิจารณาร่วมด้วย
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่