ยารักษาโรคหัวใจสุนัข ควรเก็บอย่างไรให้ถูกวิธีและจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นยาที่มีคุณภาพ? วันนี้หมอจะอัปเดตให้รู้

3 SEP 2024
share :

ยาโรคหัวใจ เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการบรรเทาและรักษาอาการของโรคหัวใจ ถึงแม้พวกเราจะป้อนยาให้น้องสุนัข ได้ตรงเวลาตามคำสั่งของสัตวแพทย์ แต่เดี๋ยวก่อนนะคะ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ยานั้นมีคุณภาพที่ดีพอๆ เหมือนออกมาจากแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นยาหรืออาหารก็ต้องมีการเก็บรักษาที่ถูกวิธี เพราะการเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพ ถ้าเป็นอาหารก็จะบูดเน่า สารอาหารก็หายไป แล้วถ้าเป็นยาล่ะ ตัวยาที่ออกฤทธิ์ในการรักษาโรคที่เราคาดหวังว่าจะช่วยรักษาอาจเสื่อมสภาพ กลายเป็นว่า ป้อนยาอย่างไรก็ไม่ได้ผล ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ เสียทั้งเวลา เสียเงิน และเสียโอกาสที่จะหายจากโรค วันนี้เรามาเรียนรู้วิธีการเก็บรักษายาโรคหัวใจของน้องสุนัข กันค่ะ

ปัจจัยที่มีผลต่อความเสื่อมของยามีอะไรบ้าง

1. แสงและความร้อน ตัวยาหลายชนิดจะแปรสภาพหรือเสื่อมไปเมื่อโดนแสงแดด ดังนั้นภาชนะบรรจุที่ออกมาจากแหล่งผลิตมักจะเป็นสีทึบหรือสีชา เพื่อลดความเสี่ยงนี้

2. ความชื้น เมื่อเม็ดยาดูดความชื้นเข้าไป อาจจะบวม หรือนุ่มขึ้น ดังนั้นไม่ควรเก็บยาในห้องที่มีความชื้นสูง รวมทั้งมือของเราควรล้างให้สะอาดและเช็ดแห้งทุกครั้งก่อนนำเม็ดยาออกจากกระปุก

3. อากาศ มีก๊าซในอากาศหลายชนิดที่เร่งให้ยาเสื่อมสภาพเร็วขึ้น การหักแบ่งเม็ดยาทิ้งไว้นานเกินไป จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สัมผัสกับอากาศมากขึ้น ยาที่ถูกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จะทำให้อายุและคุณภาพยาสั้นลง มีโอกาสเสื่อมคุณภาพได้มากขึ้น

เราจะเก็บรักษายาอย่างไร ไม่ให้ไร้คุณภาพ ก่อนอื่นเลยคือ เราไม่ควรเก็บยาในปริมาณมากเกินไป เพราะยาจะค้างไว้นานยิ่งเพิ่มโอกาสยาเสื่อมคุณภาพ เคยเป็นใช่มั้ยคะยาเก่าและยาใหม่ปนกันไปหมด หมอแนะนำอย่างนี้ค่ะ เวลาที่หมอนัดตรวจติดตามอาการของสุนัขโรคหัวใจมักจะเป็นเวลา ทุก 1-2 เดือน เจ้าของควรรับยาตามจำนวนเท่าวันนัด เมื่อยาหมดจึงมารับยาใหม่ น้องสุนัขของเราก็จะได้รับยาที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างนานเกินไป เพจเกจหรือบรรจุภัณฑ์ที่มาจากบริษัทยาโดยตรง เช่น ขวดหรือฟอยด์นั้น เป็นตัวบรรจุของยาที่ดีที่สุด ยาที่อยู่ในขวดฝาเกลียวจะปิดสนิทเพื่อป้องกันความชื้นและแสงที่มาสัมผัสยาซึ่งจะเกิดทุกครั้งเมื่อเปิดขวด ยาที่อยู่ในฟอยด์จะช่วยกันแสงและความชื้นดังนั้นหากต้องนำยามาจัดเตรียมในแต่ละมื้อ ควรตัดฟอยด์ย่อยตามเม็ดยา และค่อยแกะเม็ดยาออกในตอนที่จะป้อนยาให้กับน้องสุนัขจะดีกว่านะคะ หากจำเป็นต้องหักเม็ดยาป้อนในมื้อต่อไปก็ควรห่อกลับในฟอยด์ในแผงยาก็จะช่วยรักษาคุณภาพยาได้บ้างคะ มีอีกสิ่งที่หมอเห็นบ่อยๆ ค่ะ บางบ้านจะมีการจัดเตรียมยาสำหรับมื้อเช้า มื้อกลางวันและมื้อเย็น เพื่อความสะดวกรวดเร็วและลดความผิดพลาดในการป้อนยาไม่ครบ โดยการใช้ กล่องแบ่งยาเจ็ดวันหรรษา ดังนั้นกล่องแบ่งยาที่ใช้ก็ควรผลิตมาจากพลาสติกชั้นดีที่ปิดมิดชิด ป้องกันแสงได้ ไม่เช่นนั้นยาที่ถูกนำออกมาจากซองทึบกันแสงจากโรงพยาบาลก็จะโดนแสงอยู่ดี และที่หมอบอกว่า หรรษานั้น ก็คือ เวลาหมอตรวจนับจำนวนเม็ดยาที่เหลือเพื่อตรวจดูว่า น้องสุนัขได้รับยาครบทุกวันหรือไม่ หมออาจต้องมานั่งเดากันว่า ยาชิ้นไหนคืออะไร ยาโรคหัวใจโดยเฉพาะเม็ดแป้งสีขาวที่แบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ หน้าตาจะคล้ายกันมากเลยทีเดียวค่ะ บริเวณที่เก็บยาก็สำคัญเช่นกัน ห้องที่เก็บยาไม่ควรจะเป็นห้องครัวหรือห้องที่ร้อนหรืออับ และไม่ควรเก็บยาไว้ในรถด้วยนะคะเพราะความร้อนที่สะสมก็จะทำลายคุณภาพของยา ยาที่ได้รับจากสัตวแพทย์มักจะได้รับการตรวจสอบวันหมดอายุมาเรียบร้อยแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเราก็ควรตอบสอบทุกครั้งนะคะ และคำนวณดูว่าเราจะใช้ยาหมดก่อนที่จะถึงวันหมดอายุหรือไม่ ก่อนที่จะป้อนยาให้น้องสุนัข ควรตรวจดูลักษณะทางกายภาพของเม็ดยาทุกครั้งด้วยค่ะ เช่น สีเปลี่ยนไปจากเดิม เม็ดยานุ่มกว่าปกติ ร่วนกว่าปกติ หรือมีกลิ่นเพี้ยนไปจากเดิม ก็ต้องเริ่มเอะใจแล้วว่าการเก็บยาของเราไม่ได้คุณภาพหรือไม่ หากน้องสุนัข ของเราตัวเล็กมาก น้ำหนักตัวน้อย เม็ดยาก็จะโดนแบ่งเป็นเม็ดเล็กจิ๋วขึ้นไปอีก ปัญหาที่หมอเจอคือ ยาเม็ดแบ่งนั้นถูกเก็บในซองยาแล้วกลิ้งไปกลิ้งมาก็จะกลายเป็นผงๆ ตกอยู่ในซองยา เม็ดยาก็จะไม่เท่ากันและขนาดยาที่ได้ก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าได้รับยาขนาดต่ำกว่าสัตวแพทย์สั่ง เพราะตัวยาก็กลายเป็นผงไปหมดเสียแล้วค่ะ ดังนั้นเราไม่ควรหักเม็ดยาเก็บไว้เยอะเกินไปควรหักเท่าที่ใช้ดีกว่าค่ะ ก่อนใช้ยาทุกชนิดควรตรวจสอบเลขทะเบียนและเอกสารกำกับยาที่ถูกต้อง มีการระบุวันผลิต วันหมดอายุ และรับยาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น โรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกรักษาสัตว์ เนื่องจากเราจะมีการควบคุมคุณภาพขณะขนส่งจากบริษัทมาโรงพยาบาลและเก็บรักษายาอย่างถูกวิธีก่อนส่งต่อให้สุนัขที่เป็นโรคหัวใจด้วยนะคะ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับยาที่ถูกต้องและไม่เสื่อมสภาพเพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่ดีที่สุดค่ะ

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch และสามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App เพื่อช่วยในการนับและบันทึกอัตราการหายใจได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น "โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์"

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ. รติพร ตันติศักดิ์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

17 MAY 2021
โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อมในสุนัข (Canine degenerative mitral valve disease)
ลิ้นหัวใจไมทรัลคืออะไร? สุนัขนั้นมีหัวใจ 4 ห้องเช่นเดียวกับคน ห้องหัวใจฝั่งขวาจะรับเลือดดำมาแล้วส่งไปฟอกที่ปอด จากนั้นเลือดแดงที่ผ่านการฟอกที่ปอดแล้วจึงกลับมายังห้องหัวใจฝั่งซ้าย
30 JUN 2022
โรคหัวใจที่พบได้บ่อยในสุนัขและการจัดการดูแล
หัวใจ ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญและมีความซับซ้อนอีกอวัยวะหนึ่งของร่างกายสุนัข เพราะหัวใจมีหน้าที่สูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย การทำงานที่ผิดปกติของหัวใจสุนัขส่งผลให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจลดลง ทำให้เกิดภาวะการสะสมของน้ำในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความดันร่างกายลดลง และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในสุนัขตามมา
6 AUG 2021
วิธีการให้ยาในสุนัขและแมวที่เป็นโรคหัวใจ
เมื่อสุนัขและแมวที่เป็นโรคหัวใจ มีภาวะหัวใจล้มเหลว สัตวแพทย์จะจ่ายยาโรคหัวใจเพื่อช่วยควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดขึ้น ช่วยลดภาวะปอดบวมน้ำ ท้องมาน หรืออาการบวมตามร่างกาย
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่