ปัจจุบันมีสุนัขและแมวได้รับการวินิจฉัยและดูแลทำการรักษาโรคหัวใจมากขึ้น เนื่องด้วยเรามีอุปกรณ์ที่ทันสมัย โรคหัวใจเป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัขสูงวัย และในสุนัขบางพันธุ์มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว ในสุนัขพันธ์เล็กได้แก่ ปอมเมอเรเนี่ยน พุดเดิ้ล ยอร์คเชียร์ เทอเรีย ชิสุ หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขยายใหญ่ เช่น โดเบอร์แมน พินเชอร์ ดัลเมเชียน โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ เป็นต้น เมื่อสุนัขเป็นโรคหัวใจ สุนัขมีความจำเป็นต้องได้รับยาโรคหัวใจ เพื่อควบคุมอาการที่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดแทรกซ้อนตามมา เช่น ภาวะน้ำท่วมปอด น้ำในช่องอก หรือท้องมาน หากได้รับยาไม่ถูกต้อง สัตว์เลี้ยงอาจแสดงอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลวทรุดลงได้ ด้วยเหตุนี้สัตว์เลี้ยงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อเลือกวิธีการรักษาและเลือกชนิด ขนาดของยาอย่างถูกต้องเหมาะสมกับภาวะของโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง ร่วมกับได้รับการดูแลอย่างเคร่งครัดเหมาะสมจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงด้วย การให้ยาที่ถูกต้องจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงที่ป่วยด้วยโรคหัวใจมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไป ดังนั้นสัตว์เลี้ยงควรได้รับยาโรคหัวใจที่ได้รับการสั่งจ่ายอย่างถูกต้องโดยสัตวแพทย์
1. ควรทำการเลือกใช้ยาโรคหัวใจที่ถูกกฎหมาย ลดโอกาสเสี่ยงที่จะได้ยาปลอม ซึ่งมีอันตรายต่อสัตว์ เลี้ยงมากกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะไม่สามารถรักษาโรคและควบคุมอาการได้แล้ว อาจทำให้อาการของโรคแย่ลง ก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ท้องเสีย อาเจียน หรือเป็นพิษต่อตับและไต ส่งผลให้เกิดภาวะตับวายหรือไตวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตตามมาได้
2. การให้ยาถูกเวลา การให้ก่อนอาหาร คือ ป้อนก่อนอาหาร 15-30 นาที เนื่องจากหากให้ยาหลังอาหารอาจมีผลต่อการดูดซึมยา ในกรณียาหลังอาหารบางชนิด อาจจำเป็นต้องให้หลังอาหารทันทีเพราะมีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ควรทำการให้ยาแก่สัตว์เลี้ยงสม่ำเสมอและตรงตามเวลาที่กำหนด
3. เจ้าของต้องเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับชนิดของยาโรคหัวใจ เนื่องจากมีกลุ่มยาหลากหลายที่ใช้ในการ รักษาและควบคุมอาการโรคหัวใจ เช่น ยากลุ่มช่วยเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ยาขับน้ำ ยาขยายหลอดเลือด ยากลุ่มที่ควบคุมระบบประสาทและฮอร์โมน เป็นต้น หากเป็นยาของแท้นั้นมีการทดสอบและรายงานผลที่ชัดเจนทั้งผลดีและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ จะทำให้มั่นใจในประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้ยามากขึ้น ฉลากกำกับยา ควรแสดงถึงอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังได้รับยา เพื่อให้เจ้าของสามารถเฝ้าระวังและสังเกตอาการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
4. การเก็บยาให้ถูกที่และถูกวิธี คือ ไม่ควรเก็บในบริเวณที่มีแสงแดดจัดและความร้อนสูง ส่งผล ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ควรเก็บยาในสถานที่ที่ไม่มีความชื้น เพราะยาชนิดเม็ดอาจดูดความชื้นเข้าไป ทำให้ บวม แตกหักและเปื่อยยุ่ย ควรเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิดเพื่อลดการสัมผัสกับอากาศ การแบ่งเม็ดยาเป็นการเพิ่มการสัมผัสกับอากาศ ซึ่งก๊าซในอากาศอาจทำปฏิกิริยากับยาทำให้ยาเสื่อมสภาพเร็วขึ้น จึงแนะนำให้หักเม็ดยาเมื่อใช้เท่านั้น หรือแนะนำเลือกยาที่มีขนาดเม็ดเหมาะสมกับตัวสัตว์โดยไม่จำเป็นต้องแบ่ง ส่วนใหญ่ภาชนะบรรจุยาที่ออกแบบและจำหน่ายมาจากแหล่งผลิตมักมีสีชาหรือทึบแสง ปิดสนิท เพื่อป้องกันปัญหาและช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ ควรเก็บยาที่บรรจุในแผงยา เพื่อคงสภาพยา ไม่ควรแกะยาออกมาก่อนเวลาใช้จริง
5. ใช้ยาให้ถูกวิธี เช่น ยาบางชนิดไม่ควรหักแบ่ง หรือบดเม็ดยา ยาที่มีการเคลือบเม็ดยาเพื่อให้แตกตัวใน ลำไส้ หากมีความจำเป็นต้องแบ่งเม็ดยาต้องคอยตรวจสภาพยาทางกายภาพก่อนป้อนยา เพราะถ้าชิ้นยามีขนาดเล็กมากบางครั้งยาแตก หรือชิ้นไม่เท่ากันทำให้ได้รับยาขนาดต่ำกว่าที่สัตวแพทย์กำหนดได้ รวมถึงการผสมยากับวิตามินต่างๆ ครั้งเดียวเก็บไว้นานเป็นหลายสัปดาห์ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาได้เช่นกัน
1. ควรซื้อยาที่มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง ควรให้ยาโรคหัวใจที่มีคุณภาพกับสัตว์เลี้ยง คือ ยา โรคหัวใจที่มีการขึ้นทะเบียนและมีเอกสารกำกับยาที่สามารถตรวจสอบได้ บรรจุภัณฑ์มีตัวอักษรและฉลากชัดเจน ไม่ลบเลือน ระบุวันที่ผลิตและวันหมดอายุ มีเลขของล็อตยาประทับอยู่บนกล่อง ตัวยามีลักษณะและสีคงเดิมไม่เปลี่ยนไป ไม่มีจุดรา
2. ควรได้รับยาจากสถานที่น่าเชื่อถือ เช่น ศูนย์โรคหัวใจสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ หรือคลินิกรักษาสัตว์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสถานที่เพื่อจำหน่ายยาสำหรับสัตว์ เป็นแหล่งที่ทำให้มีความมั่นใจ คือ สามารถควบคุมคุณภาพตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตยาและบริษัทนำเข้าเพื่อจัดจำหน่าย มีการขนส่งและเก็บรักษายาอย่างถูกวิธี ก่อนทำการสั่งจ่ายให้แก่สัตว์เลี้ยงเพื่อทำการรักษาสัตว์ การที่เจ้าของซื้อยาเองผ่านช่องทางอออนไลน์ หรือสถานที่ที่ไม่น่าเชื่อถืออาจเสี่ยงเจอยาปลอม และเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงได้
3. ควรให้ยาอย่างสม่ำเสมอ ห้ามขาดยา พักการให้ยา หรือหยุดยาเอง เพราะจะทำให้อาการของสัตว์เลี้ยงทรุดหนักและรุนแรงมากขึ้นได้ นอกจากนี้อาจพบอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นตามมา หรือถึงแก่ชีวิต
4. ควรมีการเก็บยาหรือปริมาณยาพอเหมาะต่อการให้ยาก่อนการนัดตรวจติดตามอาการในครั้งถัดไป เพราะหากเก็บยาไว้ในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้มียาเก่าค้างนาน จะเพิ่มโอกาสทำให้คุณภาพของยาเสื่อมลงได้
5. ควรนำสัตว์เลี้ยงไปตรวจติดตามอาการและพบสัตวแพทย์เป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อประเมินอาการและ ปรับขนาดยา ชนิดของยาที่ให้เหมาะสมกับระดับความรุนแรงของโรค
เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและชีวิตที่ยืนยาว ยืดเวลาด้วยยาแท้ แก่สัตว์เลี้ยงที่แสนรักนะทุกคน
ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch
และสามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App เพื่อช่วยในการนับและบันทึกอัตราการหายใจได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่
สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”