อาการไอ มักพบเห็นได้บ่อยในสุนัข ไม่ว่าจะเป็นอาการสุนัขไอแห้งหรือสุนัขไอเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สุนัขเกิดอาการไอ นอกจากโรคระบบทางเดินหายใจแล้ว ก็ยังมีสาเหตุจากโรคหัวใจในสุนัขอีกด้วย ก่อนอื่นมาทำความรู้จักก่อนว่าอาการไอของสุนัขเกิดขึ้นได้อย่างไร
อาการไอ เป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกายสุนัข เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ โดยเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น สิ่งแปลกปลอม ฝุ่นละออง ควัน สารเคมี สิ่งคัดหลั่ง (mucus) การอักเสบ (inflammation) หรือแรงกดทับ เข้าไปในระบบทางเดินหายใจ จะเกิดการกระตุ้นตัวรับที่ทำให้เกิดอาการไอ (cough receptors) ทำงาน ส่วนใหญ่ตัวรับจะอยู่ที่บริเวณกล่องเสียง หลอดลมใหญ่ (trachea) และหลอดลมบริเวณขั้วปอด (mainstem bronchi) และมีตัวรับจำนวนน้อยลงในบริเวณหลอดลมส่วนปลาย จากนั้นสุนัขจะมีอาการไอเกิดขึ้น โดยแสดงอาการหายใจเข้าแรงขึ้น ตามด้วยอาการไอ เพื่อพยายามผลักสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกไปจากทางเดินหายใจ
อาการไอในสุนัข หากพบนาน ๆ ครั้ง เช่นสัปดาห์ละครั้ง ถือว่าพบได้เป็นปกติ เนื่องจากอาจมีฝุ่นละออง หรือสารเคมีเข้าไประคายเคืองระบบทางเดินหายใจ เมื่อสุนัขไอออกมาแล้วอาการก็จะหายไป แต่หากอาการไอในสุนัขเกิดขึ้นเป็นประจำ เช่นเกิดขึ้นทุกวันหรือเกิดขึ้นทั้งวัน จนรบกวนการใช้ชีวิตปกติ ควรต้องหาสาเหตุเพื่อการวินิจฉัยโรคต่อไป
ระบบทางเดินหายใจแบ่งเป็น ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น และระบบทางเดินหายใจส่วนปลาย และแต่ละส่วนประกอบด้วยอวัยวะดังนี้
ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ประกอบด้วย จมูก โพรงจมูก คอหอย กล่องเสียง
ระบบทางเดินหายใจส่วนปลาย ประกอบด้วย หลอดลม หลอดลมบริเวณขั้วปอด หลอดลมฝอย ถุงลม เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับอวัยวะเหล่านี้ มักทำให้เกิดอาการไอในสุนัขขึ้น เช่น
สุนัขเป็นโรคหัวใจในระยะแรก มักไม่แสดงอาการให้เห็น อาการไอในสุนัขที่เกิดจากโรคหัวใจในสุนัข ส่วนใหญ่มักพบในสุนัขมีภาวะหัวใจโตและมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย ในสุนัขพันธุ์เล็กช่วงกลางวัยถึงสูงวัย มักพบว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม ในสุนัขพันธุ์ใหญ่ มักพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ส่งผลให้หัวใจสุนัขมีขนาดโตขึ้น ไปกดทับหลอดลมบริเวณขั้วปอด ซึ่งไปกระตุ้นตัวรับทำให้เกิดอาการไอในสุนัขได้ หากสุนัขมีภาวะหัวใจล้มเหลว กล่าวคือมีน้ำท่วมปอด จะมีการคั่งของหลอดเลือดดำที่ปอด และกระตุ้นตัวรับในปอด (juxtapulmonary receptors) ทำให้เกิดหลอดลมฝอยหดตัวและเพิ่มสิ่งคัดหลั่งในระบบหายใจ ผลทำให้เกิดการกระตุ้นอาการไอในสุนัข และอาจมีอาการขากหลังจากไอร่วมด้วย นอกจากอาการไอแล้ว พบว่ามักมีอาการสุนัขเหนื่อยง่าย สุนัขหายใจเร็ว เยื่อเมือกซีด ในสุนัขบางตัวหากมีอาการไอมากติดต่อกัน อาจเกิดอาการสุนัขเป็นลมได้
ในบางกรณีพบว่าอาการไอในสุนัขเกิดจากโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจร่วมกันได้ เช่นสุนัขพันธุ์เล็กที่เป็นโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม และมีโรคระบบทางเดินหายใจ เช่นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
อย่างไรก็ตามหากสุนัขมีอาการไอหรือมีอาการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นเพียงการคาดคะเนในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นเท่านั้น ไม่อาจช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคว่าเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจในสุนัขได้แน่นอน เจ้าของควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ เพื่อซักประวัติเพิ่มเติม ตรวจร่างกายอย่างละเอียด และสัตวแพทย์จะพิจารณาตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์ช่องอก การตรวจเลือด หรือการทำเอ็คโค่หัวใจ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคต่อไป
สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”
ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch
1. Hsieh, B.M., Beets, A.K. Coughing in small animal patients. 2019. Frontiers in veterianary science. 6:513.
2. Ferasin, L. Client information: Cough. In: Ettinger, S.J., Feldman, E.C., Cote, E., 2017. Textbook of Veterinary Internal Medicine. 8thEdition. Missouri, Elsevier.
บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ.สุชาดา หัทยานานนท์