ข้อแตกต่างระหว่างสุนัขที่เป็นโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม (MMVD) กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ (DCM)

10 OCT 2023
share :

เมื่อมีสุนัขเข้ามาในโรงพยาบาล 2 ตัว โดยทั้ง 2 ตัวเป็นสุนัขที่มีอายุมากแล้ว ตัวหนึ่งเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก มาด้วยอาการไอ หายใจลำบาก ส่วนอีกตัวเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ มีอาการอ่อนแรง เหนื่อยง่าย ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า หากเป็นโรคหัวใจ สุนัขทั้ง 2 ตัว จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจชนิดใด

โรคหัวใจที่เป็นภายหลังกำเนิดที่พบบ่อยในสุนัขมี 2 ชนิด ได้แก่ โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม หรือ myxomatous mitral valve disease (MMVD) และโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ หรือ dilated cardiomyopathy (DCM) ทั้ง 2 โรคมักพบได้มากในสุนัขที่มีอายุมากแล้ว แต่โรค MMVD จะพบได้มากในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น คาวาเลียร์ คิง ชาลส์ สเปเนียล ชิวาวา ชิสุ พุดเดิ้ล ปอมเมอเรเนียน เป็นต้น ส่วน DCM จะพบได้มากในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น เกรทเดน โดเบอร์แมน บ๊อกเซอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โรค DCM อาจพบในสุนัขสายพันธุ์ขนาดกลาง เช่น อิงลิช คอกเกอร์ สเปเนียล ได้เช่นกัน ในสุนัขสายพันธุ์ขนาดกลางบางพันธุ์ เช่น ดาลเมเชี่ยน อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้ทั้ง 2 ชนิด โรคหัวใจทั้ง 2 โรค สามารถพบในสุนัขเพศผู้ได้มากกว่าเพศเมีย และสามารถพบการเกิดโรคในสุนัขเพศผู้ที่อายุน้อยกว่าเพศเมีย และมักพบว่าสุนัขเพศผู้มีความรุนแรงของโรคมากกว่าเพศเมีย

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค MMVD อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าน่าจะเกิดจากกระบวนการเสื่อมทำให้มีการสร้างสารที่เป็นองค์ประกอบของลิ้นหัวใจผิดไปจากปกติ ส่งผลให้ลิ้นหัวใจมีลักษณะหนาตัว และเกิดการรั่วของลิ้นหัวใจตามมา ส่วนกรณี DCM สาเหตุอาจเกิดจากความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเกิดจากการได้รับยาที่มีผลเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น ยาเคมีบำบัดบางชนิด การติดเชื้อโปรโตซัวบางชนิด หรือแม้กระทั่งการได้รับสารอาหารที่ไม่สมดุล ขาดสารอาหารที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น ทอรีน หรือ แอล คาร์นิทีน ส่งผลให้หัวใจเสียหน้าที่ในช่วงหัวใจบีบตัว

เมื่อตรวจร่างกาย สุนัขที่เป็นโรค MMVD สัตวแพทย์จะได้ยินเสียงหัวใจที่ผิดปกติ จากภาวะลิ้นหัวใจรั่ว หรือที่เรียกว่า เสียงเมอร์เมอร์ เมื่อสุนัขมีภาวะหัวใจล้มเหลว สุนัขอาจแสดงอาการ ไอ หายใจลำบาก เนื่องจากภาวะน้ำท่วมปอด ส่วน สุนัขที่เป็น DCM มักแสดงอาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง เนื่องจากมีปัญหา กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ และในระยะท้ายอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้เช่นเดียวกัน

การวินิจฉัยเพื่อยืนยันโรคทั้งสองชนิด จำเป็นต้องใช้การตรวจด้วยวิธีคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ในกรณีโรค MMVD จะทำการตรวจเพื่อให้เห็นลิ้นหัวใจที่เกิดการเสื่อมหนาตัว และประเมินความรุนแรงของภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ส่วนโรค DCM จะใช้วิธีการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจในขณะหัวใจหดตัว การตรวจยืนยันชนิดของโรคจะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถวางแผนการรักษาโรคหัวใจได้ถูกต้องและถูกจุดมากขึ้น

เมื่อสุนัขได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรค MMVD หรือ DCM ควรได้รับการตรวจติดตามโรคกับสัตวแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อคอยเฝ้าระวังภาวะหัวใจล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นได้ และเมื่อสุนัขมีภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว จะจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อควบคุมอาการ รวมทั้งภาวะแทรกซ้อน เจ้าของจึงควรพาสุนัขเข้ารับการตรวจโดยสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และป้อนยาตามที่สัตวแพทย์สั่งเป็นประจำ เพื่อลดอาการและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินไปของโรค

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่าน สามารถสังเกตและแยกชนิดโรคหัวใจ จากข้อมูลเบื้องต้นและอาการที่สุนัขแสดง เพื่อช่วยให้ข้อมูลแก่สัตวแพทย์เพื่อการวินิจฉัยชนิดของโรคหัวใจ และวางแผนการรักษาโรคได้ถูกต้องแม่นยำต่อไป

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch และสามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App เพื่อช่วยในการนับและบันทึกอัตราการหายใจได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

บทความนี้เขียนโดย รศ.สพ.ญ.ดร. สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

12 OCT 2023
แม้น้องหมาต้องอยู่คู่กับโรคหัวใจ ก็อายุยืนขึ้นได้ ด้วยวิธีนี้
หมอแนะนำเจ้าของให้ทำการตรวจวินิจฉัยเรื่องโรคหัวใจเพิ่มเติม เพื่อทำการประเมินระยะของโรค หลังทำการวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพรังสีและอัลตร้าซาวน์หัวใจ (echocardiography) แล้ว พบว่าน้องพิริ เป็นโรคหัวใจในระยะหัวใจโตแต่ยังไม่มีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วม (stage B2)
12 OCT 2023
พาสุนัขป่วยโรคหัวใจไปหาคุณหมอครั้งแรก น้องจะเจออะไรบ้างนะ
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ในปัจจุบันสุนัขมิใช่เป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยง ที่เลี้ยงไว้เพียงแค่เฝ้าบ้านเหมือนดังแต่ก่อน แต่เค้าคือสมาชิกตัวเล็กๆ อีกคนหนึ่งที่เป็นความสุขของทุกคนครอบครัว เมื่อเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ใจและไม่สบายใจแก่เจ้าของเป็นอันมาก ยิ่งเมื่อน้องอายุมากขึ้น ความเสื่อมของร่างกายก็เกิดขึ้นมาตามลำดับ โ
12 OCT 2023
อันตรายจากการให้ยาโรคหัวใจสัตว์เลี้ยงไม่ต่อเนื่องหรือให้ไม่ถูกต้องเหมาะสม
สาเหตุที่มักทำให้แมวและสุนัขได้รับยาโรคหัวใจไม่สม่ำเสมอ
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่