โรคพยาธิหนอนหัวใจในสัตว์เลี้ยง

27 JUL 2021
share :

โรคพยาธิหนอนหัวใจคืออะไร

เกิดจากพยาธิตัวกลมที่ชื่อ Dirofilaria immitis เข้าไปอาศัยอยู่ในหัวใจและปอดของสุนัขหรือแมว โดยยุงเกือบทุกชนิดสามารถเป็นพาหะนำเชื้อนี้ได้

สุนัขและแมวติดโรคพยาธิหนอนหัวใจได้อย่างไร

วงจรชีวิตของพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข

เริ่มจากพยาธิหัวใจตัวเต็มวัยผสมพันธุ์กันภายในตัวสุนัขแล้วออกลูกเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 อาศัยอยู่ในระบบไหลเวียนเลือด เมื่อยุงตัวเมียมาดูดเลือดสุนัขจะได้รับตัวอ่อนระยะที่ 1 นี้ไปและใช้เวลา 8-17 วัน เติบโตจนเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 อยู่ภายในท่อน้ำลายของยุง หลังจากนั้นพอยุงไปกัดสุนัขตัวใหม่ก็จะปล่อยตัวอ่อนระยะติดเชื้อ (ระยะที่3) นี้เข้าสู่กระแสเลือดของสุนัขตัวใหม่ เติบโตที่ชั้นใต้ผิวหนัง ไขมันหรือกล้ามเนื้อ กลายเป็นตัวอ่อนระยะที่ 4 (ใช้เวลา 1-12 วัน) และ สุดท้ายกลายเป็นตัวเต็มวัย ใช้เวลารวม 50-68 วัน หลังจากถูกยุงที่มีตัวอ่อนพยาธิกัด

พยาธิหัวใจตัวเต็มวัยแรกๆ จะมีความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร จะเข้าสู่หลอดเลือดและเคลื่อนไปอาศัยอยู่ที่ปอดและหัวใจ และเติบโตจนพร้อมผสมพันธุ์ (ตัวผู้ความยาว 15-18 เซนติเมตร ตัวเมียยาว 25-30 เซนติเมตร) ออกลูกมาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 เมื่อยุงมาดูดเลือดจะแพร่พยาธิต่อ รวมระยะเวลาทั้งหมดหลังสุนัขได้รับพยาธิราว 184 – 210 วัน

*รู้หรือไม่ว่าพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยในสุนัขมีอายุยืนถึง 5-7 ปี

วงจรชีวิตของพยาธิหนอนหัวใจในแมว

เหมือนกับในสุนัข แต่แมวจะติดเชื้อพยาธิหัวใจได้ยากกว่าสุนัข และใช้เวลานานกว่าในการพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย หรือได้รับตัวอ่อนมาแต่ไม่เติบโตจนเป็นตัวเต็มวัยได้ และตัวเต็มวัยจะมีอายุราว 2-3 ปี

อาการของสุนัขและแมวที่เป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ

สุนัข : อ่อนแรง ไอ หายใจลำบาก มีภาวะหัวใจวาย ท้องมาน

แมว : มักแสดงอาการไอ หายใจลำบากรุนแรง คล้ายหอบหืด อันเนื่องมาจากเกิดการอักเสบจากการรบกวนของตัวพยาธิ (Heartworm Associated Respiratory Disease หรือ HARD) อาจมีอาการอาเจียน ซึม

*ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะเลือดจาง ตับวาย ไตวาย ลิ่มเลือดอุดตัน และเสียชีวิตได้

การวินิจฉัยโรคพยาธิหนอนหัวใจ

1.ตรวจเลือดเพื่อหาตัวอ่อนระยะที่ 1

2.ตรวจเลือดเพื่อหาแอนติเจนจากพยาธิหัวใจตัวเมีย

3.ตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดี้ต่อพยาธิหัวใจ

4.ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง เพื่อหาพยาธิหัวใจตัวเต็มวัย

**รู้หรือไม่ว่าการวินิจฉัยโรคพยาธิหนอนหัวใจในแมวนั้นยากกว่าในสุนัขมาก

การรักษา

มีทั้งการกำจัดตัวพยาธิโดยตรงและการรักษาแบบประคับประคอง โดยขึ้นอยู่กับอาการและระยะการป่วยของสัตว์แต่ละราย ซึ่งสัตวแพทย์จำเป็นต้องตรวจประเมินอย่างละเอียดก่อนเริ่มให้การรักษา

การป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ

สามารถเริ่มให้ยาเพื่อป้องกันได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับชนิดของยาและผลิตภัณฑ์) และควรทำต่อเนื่องกันทุก 1 เดือน หากเริ่มป้องกันหลังจากสุนัขอายุ 7 เดือน ควรทำการตรวจการติดพยาธิหัวใจก่อน

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

เอกสารอ้างอิง

Atkins C. Canine and feline heartworm disease. Textbook of veterinary internal medicine. 2017. Current canine guidelines for the prevention, diagnosis, and management of heartworm (Dirofilaria immitis) infection in dogs. American Heartworm Society. 2018 Summary of the current feline guidelines for the prevention, diagnosis, and management of heartworm (Dirofilaria immitis) infection in cats. American Heartworm Society. 2020

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ. ธนิกา อธิปธรรมวารี

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

21 JUL 2021
วิธีการวินิจฉัยโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง
โรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง เป็นโรคที่ใช้วิธีการวินิจฉัยหลายวิธีร่วมกัน เริ่มจากการวินิจฉัยโรคหัวใจ เบื้องต้น โดยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย เพื่อประเมินว่าสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจหรือไม่
13 DEC 2022
สารอาหารสำคัญชนิดไหนที่ช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง
ในสุนัขและแมวที่พบว่ามีปัญหาป่วยโรคหัวใจนั้น นอกจากยาโรคหัวใจที่เราจะใช้เพื่อช่วยในการรักษาแล้ว การจัดการปัจจัยด้านอื่น ๆ ก็ช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีอายุที่ยืนยาวขึ้นได้ การจัดการอาหารที่เหมาะสม ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการรักษาสัตว์ป่วยโรคหัวใจให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น อีกทั้งยังอาจมีส่วนช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งในสัตว์แต่ละตัวก็มีการจัดการอาหารที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค การซักประวัติ การตรวจร่างกาย หรือการมีโรคระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย เป็นต้น
3 SEP 2024
ยารักษาโรคหัวใจสุนัข ควรเก็บอย่างไรให้ถูกวิธีและจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นยาที่มีคุณภาพ? วันนี้หมอจะอัปเดตให้รู้
ยาโรคหัวใจ เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการบรรเทาและรักษาอาการของโรคหัวใจ ถึงแม้พวกเราจะป้อนยาให้น้องสุนัข ได้ตรงเวลาตามคำสั่งของสัตวแพทย์ แต่เดี๋ยวก่อนนะคะ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ยานั้นมีคุณภาพที่ดีพอๆ เหมือนออกมาจากแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นยาหรืออาหารก็ต้องมีการเก็บรักษาที่ถูกวิธี เพราะการเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพ ถ้าเป็นอาหารก็จะบูดเน่า สารอาหารก็หายไป แล้วถ้าเป็นยาล่ะ
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่