โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อมในสุนัข (Canine degenerative mitral valve disease)

17 MAY 2021
share :

ลิ้นหัวใจไมทรัลคืออะไร?

สุนัขนั้นมีหัวใจ 4 ห้องเช่นเดียวกับคน ห้องหัวใจฝั่งขวาจะรับเลือดดำมาแล้วส่งไปฟอกที่ปอด จากนั้นเลือดแดงที่ผ่านการฟอกที่ปอดแล้วจึงกลับมายังห้องหัวใจฝั่งซ้าย ห้องหัวใจแต่ละห้องจะมีลิ้นหัวใจทำหน้าที่กั้นเลือดไม่ให้ไหลย้อนกลับเวลาหัวใจบีบตัวเพื่อให้เลือดไหลเวียนเป็นทางเดียวกัน ลิ้นหัวใจไมทรัล คือลิ้นหัวใจที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย เมื่อหัวใจคลายตัวเพื่อรับเลือดแดงที่ฟอกจากปอดแล้วมายังหัวใจห้องบนซ้าย ลิ้นหัวใจไมทรัลจะเปิดออกเพื่อให้เลือดไหลลงสู่หัวใจห้องล่างซ้ายจนเต็ม หลังจากนั้นกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายจะบีบตัวเพื่อส่งเลือดที่ฟอกที่ปอดแล้วออกทางหลอดเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายต่อไป ในจังหวะนี้ที่หัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัว ปกติลิ้นหัวใจไมทรัลจะปิดเพื่อกั้นเลือดไม่ให้ไหลย้อนกลับไปยังหัวใจห้องบนซ้ายอีก

ลิ้นหัวใจไมทรัลรั่วได้อย่างไร?

โดยทั่วไปอวัยวะจะเสื่อมตามกาลเวลา ลิ้นหัวใจก็เช่นเดียวกัน เมื่อเสื่อมจะมีพังผืดเกาะ ทำให้ลิ้นหัวใจซึ่งปกติจะเป็นเนื้อเยื่ออ่อนที่มีลักษณะเป็นแผ่นเรียบและบางเกิดการหนาตัวขึ้น มีผิวขรุขระ และอาจหดรั้งเข้า ทำให้ไม่สามารถปิดได้สนิทดังเดิม นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุมาจากการอักเสบของลิ้นหัวใจที่ได้รับผลกระทบมาจากความเจ็บป่วยอื่นของสุนัขเอง หรือบางรายอาจเป็นมาแต่กำเนิดได้ อย่างไรก็ตามโรคลิ้นหัวใจเสื่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วมากที่สุดในสุนัข

สุนัขที่มีความเสี่ยงต่อโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม

ได้แก่ สุนัขที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป โดยสายพันธุ์ขนาดเล็กมีโอกาสพบได้มากกว่าสายพันธุ์ขนาดกลางและใหญ่

อาการของสุนัขเป็นโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่ยังไม่แสดงอาการ สุนัขกลุ่มนี้แม้จะมีการรั่วของลิ้นหัวใจแล้ว แต่หัวใจยังสามารถปรับตัวทำงานชดเชยได้

2. กลุ่มที่แสดงอาการของโรคหัวใจ คือสุนัขที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว เนื่องจากลิ้นหัวใจไมทรัลที่รั่วส่งผลให้เกิดการคั่งเลือดที่หัวใจฝั่งซ้ายมากเกินไปจนทำให้เกิดการคั่งเลือดที่ปอด และเกิดภาวะปอดบวมน้ำตามมา สุนัขอาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผอมลง หรือแสดงอาการหายใจเร็ว (อัตราการหายใจขณะนอนหลับเกิน 30 ครั้ง/นาที) ในสุนัขบางตัวอาจมีอาการหายใจลำบาก สังเกตได้จากอาการอ้าปากหายใจหรือพยายามเหยียดคอ แหงนหน้าหายใจ สีเหงือกและลิ้นซีดลง หรืออมม่วง และอาจมีอาการไอ

การวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม

ประกอบด้วยหลายขั้นตอน เริ่มจากการซักประวัติ สัตวแพทย์ฟังพบเสียงลิ้นหัวใจผิดปกติ แล้วจึงทำการถ่ายภาพรังสีช่องอก ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และยืนยันโดยการตรวจด้วยคลื่นสะท้อนหัวใจความถี่สูง (echocardiography)

การรักษา

การรักษาในปัจจุบันจะเป็นการรักษาทางอายุรกรรมเพื่อประคับประคองอาการเพื่อให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยสัตวแพทย์จะต้องทำการประเมินระยะของโรคในสุนัขแต่ละรายก่อน จึงจะให้การรักษาตามความเหมาะสม ซึ่งสุนัขที่มีอาการทุกรายจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลว ส่วนในสุนัขที่ไม่แสดงอาการอาจได้รับคำแนะนำให้รับยาด้วยหากตรวจพบว่าเริ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ส่วนการรักษาทางศัลยกรรมนั้นมีความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายสูงจึงยังไม่เป็นที่แพร่หลาย

การป้องกัน

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันความเสื่อมของลิ้นหัวใจไมทรัลได้ จึงแนะนำให้พาสุนัขไปตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อที่จะสามารถรับมือกับโรคนี้ได้ตั้งแต่สุนัขยังไม่แสดงอาการป่วย ทำให้ยืดระยะเวลาการเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวและการมีชีวิตรอดได้

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ. ธนิกา อธิปธรรมวารี

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

17 MAR 2022
10 อาการเตือนที่บ่งบอกว่าสุนัขของคุณอาจป่วยเป็นโรคหัวใจในสุนัข
โรคหัวใจในสุนัขสามารถพบได้เช่นเดียวกันกับในคน สามารถพบได้ตั้งแต่เกิด (Congenital heart disease) แต่มีโอกาสเกิดได้น้อย หรือพบตามมาภายหลังเกิด (Acquired heart disease) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว โรคหัวใจมีการพัฒนาเกิดขึ้นในช่วงกลางชีวิต โดยเฉพาะในสัตว์อายุมาก
13 DEC 2022
สารอาหารสำคัญชนิดไหนที่ช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง
ในสุนัขและแมวที่พบว่ามีปัญหาป่วยโรคหัวใจนั้น นอกจากยาโรคหัวใจที่เราจะใช้เพื่อช่วยในการรักษาแล้ว การจัดการปัจจัยด้านอื่น ๆ ก็ช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีอายุที่ยืนยาวขึ้นได้ การจัดการอาหารที่เหมาะสม ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการรักษาสัตว์ป่วยโรคหัวใจให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น อีกทั้งยังอาจมีส่วนช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งในสัตว์แต่ละตัวก็มีการจัดการอาหารที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค การซักประวัติ การตรวจร่างกาย หรือการมีโรคระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย เป็นต้น
18 OCT 2024
ยืดเวลาด้วยยาแท้ ทำไมถึงควรใช้ยาจากแหล่งที่เชื่อถือได้
ปัจจุบันมีสุนัขและแมวได้รับการวินิจฉัยและดูแลทำการรักษาโรคหัวใจมากขึ้น เนื่องด้วยเรามีอุปกรณ์ที่ทันสมัย โรคหัวใจเป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัขสูงวัย และในสุนัขบางพันธุ์มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว ในสุนัขพันธ์เล็กได้แก่ ปอมเมอเรเนี่ยน พุดเดิ้ล ยอร์คเชียร์ เทอเรีย ชิสุ หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขยายใหญ่
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่