ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคหัวใจ (heart disease) หมายถึง การที่หัวใจมีความผิดปกติเกิดขึ้น โดยอาจมีสาเหตุมาจากโครงสร้างของหัวใจ หลอดเลือด หรือลิ้นหัวใจอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งอย่างก็ได้ เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว หรือ ตีบ ห้องหัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติ หรือ มีความผิดปกติเกี่ยวกับการบีบหรือคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยอาจเป็นมาแต่กำเนิด หรือ เป็นภายหลังจากความเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งในช่วงแรกส่วนมากหัวใจจะยังพยายามปรับตัวเองเพื่อทำงานชดเชยกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ทำให้สุนัขจะยังสามารถใช้ชีวิตหรือมีกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ หรือเรียกว่า ระยะที่ไม่แสดงอาการป่วย (subclinical or asymptomatic period) นั่นเอง
ส่วนมากสุนัขกลุ่มนี้จะถูกตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจเมื่อสัตวแพทย์ทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดย อาจพบเสียงผิดปกติของหัวใจ (murmur) หรือ จากการถ่ายภาพเอกซเรย์ช่องอก แล้วพบว่ามี ภาวะหัวใจโตผิดปกติ ซึ่งจะต้องตรวจ Echocardiography ต่อไปเพื่อวินิจฉัย ระบุความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ
โดยทั่วไปสุนัขกลุ่มนี้จะยังไม่มีอาการป่วย สัตวแพทย์จะแนะนำให้เจ้าของสุนัขสังเกตอาการทั่วไป เช่น การ หายใจ หรือการออกกำลังกาย หากมีอาการหายใจหอบเร็ว หรือ ออกกำลังแล้วเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ควรมาตรวจซ้ำทันที หากทุกอย่างปกติดี แนะนำให้มาตรวจประเมินภาวะโรคหัวใจซ้ำภายในระยะเวลา 6-12 เดือน ตามความเหมาะสมของสุนัขแต่ละตัว สุนัขที่เป็นโรคหัวใจกลุ่มที่ไม่แสดงอาการนี้ส่วนมากจะยังไม่ต้องใช้ยารักษา ยกเว้นบางรายที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือ รายที่เป็นโรคห้องหัวใจขยายใหญ่ผิดปกติ (dilated cardiomyopathy) อาจต้องเริ่มทานยาตามดุลพินิจของสัตวแพทย์ สุนัขกลุ่มนี้จะได้รับคำแนะนำให้คุมอาหารบ้าง หากน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ควรลดน้ำหนักลงเพื่อให้สุนัขหายใจสะดวกขึ้นและช่วยลดอาการแทรกซ้อนจากภาวะโรคอื่นๆ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เค็มจัด แต่ไม่ถึงกับงดเค็ม นอกจากนี้ยังแนะนำให้สุนัขออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดิน วันละ 20 นาที เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อและระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น
สุนัขที่เป็น “โรคหัวใจ” ไม่จำเป็นจะต้อง “หัวใจวาย” หรือ “หัวใจล้มเหลว” (heart failure) กันทุกตัว..... หัวใจวาย คือภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพออีกต่อไป จนร่างกายเกิดการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อภาวะนั้นไม่ได้ ทำให้เกิดการคั่งน้ำ(ก็คือน้ำเลือดนั่นเอง) ภายในหัวใจ หลอดเลือดและปอด รวมถึงที่ช่องอก ช่องท้อง หรือตามผิวหนังได้ ทำให้สุนัขแสดงอาการหายใจลำบากชัดเจน หอบ อ่อนแรง และเบื่ออาหาร บางตัวอาจมีอาการไอ หรือเป็นลมร่วมด้วย สุนัขกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที โดยสัตวแพทย์จะตรวจประเมินอาการและให้การรักษาตามความเหมาะสม ซึ่งหากสุนัขยังอยู่ในภาวะวิกฤตจะต้องอยู่รับการรักษาที่โรงพยาบาลก่อน จนอาการปลอดภัยจึงรับยาไปทานต่อที่บ้าน
1. ต้องเข้าใจว่าโรคหัวใจรักษาไม่หายขาด.. ปัจจุบันการรักษาจะเป็นการแบบประคับประคองโดยให้ทานยาเพื่อบรรเทาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเท่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดภาวะหัวใจวายขึ้นซ้ำ ช่วยยืดระยะเวลาการมีชีวิตรอด และเพื่อให้สุนัขหรือแมวกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงเดิมให้มากที่สุด
2. ทำความรู้จักยาและการใช้ให้ถูกต้อง.. เพราะนี่คือตัวหลักของการรักษา การให้ยาในสัตว์ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม แต่เจ้าของหรือผู้ป้อนยาจะต้องรู้ว่ามียาอะไรบ้าง เช่น ยาขับน้ำหรือขับปัสสาวะ ยาช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ ยาลดความดัน เป็นต้น ถ้ารู้จักชื่อยาด้วยยิ่งดี และควรจำลักษณะของยาให้ได้ เพื่อป้องกันการป้อนผิด ตรวจสอบความเข้าใจในการใช้ยาให้ถูกต้อง ถ้าไม่เข้าใจควรถามสัตวแพทย์ทันที ทั้งเรื่องเวลาการให้ยา เช่น ยาก่อนอาหาร หมายถึงควรให้ตอนท้องว่างก่อนทานอาหารประมาณ 30 นาที หมายความว่าถ้าสุนัขไม่ทานอาหารก็ยังป้อนยาก่อนอาหารได้ ยาหลังอาหาร หมายถึงควรให้หลังมื้ออาหารจึงจะถูกดูดซึมได้ดี เป็นต้น และ ระยะเวลาในการให้ยา เช่น วันละ 2 ครั้ง หมายถึงควรให้ยาระยะห่างกัน ประมาณ 12 ชั่วโมง อาจไม่ใช่แค่หลังอาหารเช้าและเย็น เพราะเวลาการให้อาหารอาจไม่แน่นอน ก็ควรถามสัตวแพทย์ให้แน่ใจว่าควรปรับการป้อนยาอย่างไร หรือหากมียาประจำตัวของโรคอื่นที่ใช้อยู่ก็ต้องแจ้งให้สัตวแพทย์ทราบด้วย นอกจากนี้การจัดยาให้ได้ตามขนาดที่ต้องใช้ก็ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะยาที่ต้องตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ แนะนำให้ตัดแบ่งเม็ดต่อเม็ด ไม่ควรแบ่งไว้ทีเดียวทั้งหมด เนื่องจากยาอาจชื้นหรือเสื่อมคุณภาพได้ การเก็บรักษายา ควรเก็บในที่แห้ง ไม่ร้อนและพ้นจากการกัดแทะของสุนัขและแมว
3. ฝึกสังเกตอาการของสุนัข เป็นผู้ช่วยหมอประจำตัวของน้องหมาน้องแมวด้วยตัวเอง เพราะเจ้าของเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดสัตว์เลี้ยงที่สุด หรือต้องบอกสมาชิกในบ้านหรือผู้ที่ช่วยดูแลให้ทราบว่าอาการแบบไหนที่ปกติและแบบไหนไม่ปกติ เริ่มตั้งแต่การสังเกตพฤติกรรมประจำวัน เช่น การทานอาหาร น้ำและการขับถ่าย หากทานอาหารลดลงหรือเบื่ออาหาร ต้องเฝ้าดูใกล้ชิด และสังเกตการหายใจว่าปกติจะเบาและช้าสม่ำเสมอ หากมีอาการหายใจแรงและเร็ว คืออาจเริ่มไม่ดี โดยจะดูได้จาก การนับอัตราการหายใจขณะนอนหลับ (sleeping respiratory rate: SRR) ซึ่งปกติสุนัขที่เป็นโรคหัวใจแล้วจะนับได้น้อยกว่า 30 ครั้งต่อนาที และในแมวควรน้อยกว่า 35 ครั้งต่อนาที หาก SRR มากเกินค่าปกติอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเริ่มมีภาวะปอดบวมน้ำ ควรพาไปพบสัตวแพทย์ แนะนำให้นับ SRR เป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน นอกจากนี้ยังควรสังเกตสีเหงือกและลิ้นของสุนัขและแมวด้วยว่าปกติควรเป็นสีชมพูสดใส ไม่มีซีดหรือคล้ำที่จะเป็นการสื่อว่าการไหลเวียนโลหิตไม่ดีหรือมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ
4. ต้องมีแผนสำหรับกรณีฉุกเฉิน เช่น หากเกิดภาวะหายใจลำบากมากๆ หรือคล้ายหายใจไม่ออก และสงสัยว่าเป็นอาการหัวใจวายกำเริบ จะต้องทำอย่างไร คำแนะนำคือควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ที่ใกล้ที่สุดก่อนเพราะอาจเป็นภาวะฉุกเฉิน โดยให้นำยาที่ทานอยู่ทั้งหมดติดไปด้วย โดยที่หากเกิดปัญหาช่วงกลางคืนที่สถานพยาบาลปิดแล้ว ก็ควรมีแผนสำรอง คือ โรงพยาบาลสัตว์ที่เปิด 24 ชั่วโมง ที่ใกล้บ้านคือที่ไหนต้องรู้ไว้ หรือ ถามสัตวแพทย์ที่รักษาอยู่ว่าเจ้าของจะสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองบ้างหากไม่สามารถนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ได้ทันที เช่น สามารถป้อนยาชนิดใดเพิ่มได้หรือไม่ ปริมาณเท่าไร ความถี่เท่าไร และวิธีสังเกตอาการต่อไป
5. มาตรวจและรับยาตามนัดของสัตวแพทย์ สัตว์ที่เป็นโรคหัวใจโดยเฉพาะที่อยู่ในระยะหัวใจวายแล้ว รวมถึงรายที่ควบคุมอาการได้ด้วยยา จำเป็นต้องมาตรวจเพื่อติดตามอาการ ตรวจประเมินการทำงานของไตและค่าเกลือแร่ และวัดความดันโลหิตเป็นระยะตามความเหมาะสมของแผนการรักษา อาจมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือเอกซเรย์ช่องอกร่วมด้วย เนื่องจากส่วนมากสัตว์จะได้รับยาขับปัสสาวะ ซึ่งจะมีผลทำให้ไตทำงานหนักขึ้นและมีการสูญเสียเกลือแร่ออกไปด้วย โดยในช่วงแรกที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยและรับยาไปจะนัดตรวจในระยะ 7 – 14 วัน หลังจากนั้นหากสัตว์ตอบสนองต่อการรักษาได้ดีก็จะค่อยๆ นัดระยะเวลาห่างขึ้น หากไม่สามารถพาไปตรวจตามนัดได้ ควรติดต่อสอบถามเพื่อเลื่อนนัดและรับยาต่อเนื่องจนถึงวันนัด ไม่ควรให้สัตว์ขาดยา
6. อย่าปรับยาเอง และอย่าซื้อยาเอง มีหลากหลายเหตุผลที่บางครั้งเจ้าของสัตว์ปรับขนาดยาเอง ทั้งลดลงทั้งเพิ่มขึ้น เช่น ลดปริมาณลงเพราะคิดว่าอาการดีขึ้นแล้ว หรือกลัวยาจะหมดก่อนนัด หรือ อยากประหยัด หรือเพิ่มปริมาณต่อครั้งแต่ลดความถี่เพราะความไม่สะดวก เป็นต้น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะอาจทำให้อาการทรุดลงหรือเป็นอันตรายได้ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนทุกครั้ง ส่วนการหาซื้อยาเองยิ่งไม่แนะนำเพราะนอกจากจะไม่ปลอดภัยต่อสัตว์แล้วยังอาจผิดกฎหมายอีกด้วย
7. ดูแลโภชนาการให้ดี สัตว์ที่เป็นโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเค็มจัด เลือกให้เป็นอาหารที่มีปริมาณเกลือต่ำ (low-salt diet) และหากหัวใจวายมากแล้วต้องจำกัดปริมาณเกลือ (restricted salt diet) โดยสามารถเลือกใช้อาหารสำเร็จรูปของสุนัขหรือแมวที่มีจำหน่ายอยู่ หรืออาจปรุงเองก็ได้ สิ่งที่ควรทราบ คือ ควรให้สัตว์ได้ทานอาหารเองจะดีกว่าบังคับมากๆ หรืออย่างน้อยควรได้ปริมาณพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน (พลังงานที่ควรได้รับใน 1วัน เท่ากับ น้ำหนักตัว(กิโลกรัม) x 60 กิโลแคลอรี่) โดยยึดหลักว่า “ให้ได้ทานอาหารให้เพียงพอด้วยอาหารที่อาจไม่ได้ดีเลิศยังดีกว่าได้รับอาหารที่ดีเพอร์เฟคแต่ได้รับปริมาณไม่เพียงพอ” เพราะว่าหลักการรักษาคือการพยุงอาการให้ได้โดยยังสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้อาหารคือ น้ำ ควรสังเกตหรือลองตวงปริมาณน้ำที่สัตว์ทานด้วยว่าเพียงพอหรือไม่ เพราะหากทานน้ำน้อยเกินไปก็อาจทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นได้ (ปริมาณน้ำที่แนะนำต่อวันโดยประมาณ เท่ากับ น้ำหนักตัว(กิโลกรัม) x 50 มิลลิลิตร) ซึ่งบางคนมีความเข้าใจผิดก็จะจำกัดปริมาณน้ำดื่มไม่ให้สัตว์ดื่มมากเพราะกังวลว่าจะทำให้น้ำเกินและปอดบวมตามมา แต่ความจริงคือไม่ต้องกลัว เพราะนั่นเป็นผลจากการทานยาขับปัสสาวะจะทำให้สัตว์มีความกระหายน้ำมากขึ้น เมื่อทานน้ำก็จะปัสสาวะออกเอง ไม่ทำให้เกิดปอดบวม สรุปคือ ไม่ต้องจำกัดปริมาณน้ำกิน แต่ถ้าทานน้ำน้อยจะมีปัญหาแทน
น้องท้อดดี้ สุนัขพันธุ์ชิวาว่า เพศเมีย อายุ 12 ปี น้ำหนักตัว 2.6 กิโลกรัม มาตรวจร่างกายประจำปีพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ โดยที่ยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ สัตวแพทย์จึงแนะนำให้เอกซเรย์ช่องอกพบว่าเริ่มมีภาวะหัวใจโต จึงได้รับการตรวจ echo ต่อ และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม มีการรั่วของลิ้นหัวใจ โดยยังจัดอยู่ในระยะ B2 คือ ขนาดของห้องหัวใจมีการขยายใหญ่ชัดเจนแล้ว แต่ยังไม่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ยังไม่มีปอดบวม และยังไม่มีอาการป่วย น้องท้อดดี้จึงได้รับยาทานกลับบ้าน 1 ชนิด เพื่อช่วยปรับปรุงการทำงานของหัวใจและช่วยยืดระยะเวลาที่จะเข้าสู่ภาวะหัวใจวายออกไป หลังจากนั้นได้นัดมาตรวจทุก 1-2 เดือน พบว่าท้อดดี้ร่าเริงดี ไม่มีอาการผิดปกติ ค่าความดันโลหิตปกติ
เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 ปี เจ้าของน้องท้อดดี้สังเกตว่าท้อดดี้เริ่มหายใจแรงขึ้นและเหนื่อยง่ายขึ้นหลังเดินออกกำลังกายปกติ ดูมีอาการหายใจเร็วและซึมลง และนับ SRR ได้ 40-50 ครั้งต่อนาที จึงรีบพาไปพบสัตวแพทย์ ก็พบว่าท้อดดี้มีภาวะปอดบวม เข้าสู่ระยะหัวใจวาย ท้อดดี้จึงได้รับการฉีดยาขับปัสสาวะ และสังเกตอาการที่โรงพยาบาลจนอาการปอดบวมทุเลาลง การหายใจดีขึ้น สัตวแพทย์ได้จัดยาสำหรับทานให้ท้อดดี้ โดยคราวนี้ มียาขับปัสสาวะเพิ่มเข้ามาอีก 1 อย่าง
หลังจากกลับบ้านไป 2-3 วันแรก ท้อดดี้ดื่มน้ำมากกว่าเดิมและปัสสาวะบ่อย แต่ไม่ค่อยทานอาหาร เจ้าของจึงช่วยป้อนให้โดยใช้เป็นอาหารสูตรสุนัขสูงวัยที่ทานอยู่เดิม พอเข้าวันที่ 4 ท้อดดี้เริ่มมีแรงขึ้นและทานอาหารได้เอง เจ้าของนับ SRR ได้ 24-28 ครั้งต่อนาที การหายใจดีขึ้นกลับมาเหมือนปกติ ท้อดดี้กลับไปพบสัตวแพทย์อีกครั้งในวันที่ 7 พบว่าไม่มีอาการปอดบวมแล้ว น้ำหนักตัวคงที่ และได้รับการตรวจค่าการทำงานของไตและระดับเกลือแร่ในเลือด พบว่าค่าไตสูงขึ้นกว่าก่อนเริ่มรักษาเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับปกติดี ค่าความดันโลหิตปกติ ท้อดดี้จึงได้รับยาทานเท่าเดิม และนัดตรวจใน 2 สัปดาห์ถัดไป นับเป็นโชคดีที่ท้อดดี้ป้อนยาง่ายจึงตอบสนองต่อการรักษาได้ดี
ท้อดดี้ได้ไปตรวจตามนัดทุกครั้งโดยหลังจากอาการคงที่ดี ก็ไปทุก 1 เดือน ในช่วง 3 เดือนแรก แล้วค่อยนัดห่างขึ้นเป็นทุก 2-3 เดือน สัตวแพทย์มีการปรับยาบ้างตามความเหมาะสม และมีบางครั้งที่ยาจะหมดก่อนถึงวันนัด เนื่องจากเจ้าของทำยาหกหรือตัดเม็ดยาแล้วเสีย เนื่องจากท้อดดี้น้ำหนักตัวน้อยจึงจำเป็นต้องแบ่งเม็ดยา เจ้าของท้อดดี้จึงติดต่อมาที่โรงพยาบาลเพื่อรับคำแนะนำ ซึ่งสัตวแพทย์ก็แนะนำให้มารับยาเพิ่มไปทานให้ถึงวันที่นัดหมายไว้
หลังจากท้อดดี้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวครั้งแรกนานประมาณ 8 เดือน เจ้าของสังเกตว่าตอนกลางคืนท้อดดี้มีอาการนอนหลับไม่สนิทเปลี่ยนท่านอนบ่อยและหายใจหอบ ร่วมกับมีไอแห้งๆ 2-3 วัน แต่กลางวันดูปกติ จึงติดต่อนัดหมายเพื่อมาพบสัตวแพทย์ก่อนกำหนด เมื่อทำการตรวจเพิ่มเติมก็พบว่าอาการโรคหัวใจของท้อดดี้ทรุดลง หัวใจขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม สัตวแพทย์จึงปรับการรักษาโดยเพิ่มขนาด ความถี่และชนิดยาบางอย่าง แล้วนัดติดตามอาการตามลำดับ พบว่าอาการดีขึ้น ทานอาหารและน้ำได้ปกติ โดยยังมีไอบ้างแต่ลดลง และนอนได้ปกติ
จากตัวอย่างการรักษาท้อดดี้นี้จะเห็นว่า การดูแลรักษาสัตวป่วยโรคหัวใจนั้นจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งตัวสัตว์เอง สัตวแพทย์ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และความร่วมมือของเจ้าของสัตว์เลี้ยงนั้นล้วนมีความสำคัญทั้งหมด
สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น
ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch