อันตรายจากการให้ยาโรคหัวใจสัตว์เลี้ยงไม่ต่อเนื่องหรือให้ไม่ถูกต้องเหมาะสม

12 OCT 2023
share :

สาเหตุที่มักทำให้แมวและสุนัขได้รับยาโรคหัวใจไม่สม่ำเสมอ

✓ ปัจจัยจากเจ้าของสัตว์เลี้ยง

1) วิธีการป้อนยาโรคหัวใจไม่เหมาะสม

ยาโรคหัวใจมักมีลักษณะเป็นเม็ด เจ้าของบางท่านอาจป้อนไม่เป็น ป้อนไม่ลึก ทำให้สัตว์เลี้ยงขย้อนเอาเม็ดยาออกมาได้ และยาบางชนิด เมื่อโดนน้ำลายแล้ว น้ำลายจะทำให้เม็ดยาเปื่อยยุ่ยและแตกเป็นเศษเล็ก หากป้อนเม็ดที่เปื่อยยุ่ยนั้นซ้ำไปอีก สัตว์เลี้ยงก็อาจได้รับยาไม่ครบ ดังนั้นเจ้าของควรขอคำปรึกษาเรื่องเทคนิคการป้อนยาจากสัตวแพทย์และผู้ช่วย

2) กลัวโดนสัตว์เลี้ยงกัด จึงไม่กล้าป้อนยาโรคหัวใจ

สัตว์ป่วยโรคหัวใจ มักต้องทานยาเพื่อประคองอาการไปตลอดชีวิต ซึ่งเจ้าของควรต้องหาวิธีการรับมือกับสัตว์เลี้ยงให้ได้ เพื่อที่จะสามารถป้อนให้สัตว์เลี้ยงได้ และให้ผลการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

3) ไม่มีเวลา

ในกรณีนี้ เจ้าของอาจต้องหาทางออกด้วยการจัดตารางการป้อนยาโรคหัวใจให้สัตว์เลี้ยง โดยต้องสอดคล้องกับช่วงเวลาการให้ยาที่สัตวแพทย์สั่ง ในช่วงที่เจ้าของไม่ว่างป้อนยาให้สัตว์เลี้ยงเอง อาจร้องขอให้ญาติหรือคนรู้จักช่วยป้อนยาให้แทน

4) ลืมป้อนยา

หากลืมป้อนยาโรคหัวใจบ่อยครั้ง เจ้าของอาจแก้ไขได้โดยการตั้งนาฬิกาเตือนเวลาป้อนยา หรือวางถุงยาในที่ ๆ สังเกตเห็นได้ง่าย

5) ระยะห่างในการป้อนยาไม่สม่ำเสมอ หรือความถี่ไม่ได้ตามกำหนด

กรณีนี้มักเกิดจากการป้อนยาให้สัตว์เลี้ยงตามความเคยชินโดยไม่ได้อ่านฉลากยาให้รอบคอบก่อนป้อน เพราะเข้าใจว่าทานยาเท่าเดิม แต่ในบางครั้งสัตวแพทย์ต้องทำการปรับขนาดและความถี่ของยาโรคหัวใจให้สัมพันธ์กับอาการป่วยในปัจจุบันของสัตว์เลี้ยง เจ้าของจึงควรมีการตรวจสอบขนาดยา และความถี่ในการป้อนจากฉลากยาที่สั่งจ่ายโดยสัตวแพทย์เสมอ

6) ฝากผู้อื่นซึ่งไม่คุ้นเคยกับตัวสัตว์เลี้ยงให้เป็นผู้ป้อนยาโรคหัวใจแทน

ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับสัตว์เลี้ยงอาจไม่รู้วิธีการป้อนยาให้สัตว์เลี้ยง อีกทั้งสัตว์เลี้ยงอาจไม่ให้ความร่วมมือในการทานยา จึงอาจทำให้ได้รับยาไม่ครบตามที่กำหนด

✓ ปัจจัยจากตัวสัตว์

1) สัตว์เลี้ยงขย้อนยาออกมา

สัตว์เลี้ยงบางตัวมีความสามารถในการ ขย้อนเม็ดยา หรือพ่นยาน้ำออกมาได้

2) สัตว์เลี้ยงอมยาโรคหัวใจไว้แล้วไปคายทีหลัง

บางครั้งสัตว์เลี้ยงอาจอมยาเอาไว้ก่อนแล้วไปคายทีหลังโดยเจ้าของไม่รู้ เจ้าของมักรู้ได้โดยบังเอิญหลังจากป้อนยาไปนานแล้ว เช่น ไปเจอยาตกอยู่ตามพื้นหรือพรม เป็นต้น

3) สัตว์เลี้ยงไม่ทานยาโรคหัวใจที่ให้พร้อมอาหาร

สัตว์เลี้ยงบางตัวจะสำรวจอาหารก่อนทาน หากได้กลิ่นยาในอาหาร ก็จะปฏิเสธไม่ทานอาหารนั้นเลย หรือเลือกทานแต่อาหารแล้วเหลือส่วนที่มียาเอาไว้

ปัจจัยจากตัวสัตว์นี้ จะต้องอาศัยความรู้ใจและความเอาใจใส่ของเจ้าของสัตว์เลี้ยงในการป้อนเพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้รับยาโรคหัวใจได้นานที่สุด

✓ ปัจจัยจากตัวยา

1) ยาโรคหัวใจมีขนาดใหญ่

เม็ดยาโรคหัวใจที่มีขนาดใหญ่มักเป็นอุปสรรคในการป้อนยาให้สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะในสัตว์เลี้ยงที่มีขนาดตัวเล็ก เช่น สุนัขพันธุ์เล็กและแมว เจ้าของอาจแก้ปัญหาโดยการแบ่งเม็ดออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วทยอยป้อนจนครบ

2) ยาเมื่อถูกตัดแบ่งแล้วมีรสขม

เช่น ยาต้านการทำงานของเกล็ดเลือด clopidogrel ที่ปกติแล้วจะมีเปลือกเคลือบเม็ดยาอยู่ แต่ในแมวส่วนใหญ่ แมวแต่ละตัวมักทานยาเพียง 1/4 เม็ด ซึ่งต้องมีการแบ่งเม็ดยา ทำให้มีส่วนหน้าตัดของเม็ดยาที่ไม่มีเปลือกหุ้มเผยออกมา โดยเมื่อยาสัมผัสกับลิ้นของแมวแล้ว มักจะพบว่าแมวจะมีอาการน้ำลายยืดหรือเป็นฟอง แล้วมักตามมาด้วยการขย้อนยาออกมา เจ้าของอาจแก้โดยการนำชิ้นส่วนยาบรรจุในแคปซูลเปล่าก่อนป้อนให้สัตว์เลี้ยง

3) ยาน้ำ

อาจทำให้สัตว์เลี้ยงได้รับปริมาณยาไม่เต็มขนาด เนื่องจากเวลาป้อนยาอาจมียาบางส่วนไหลออกข้างปาก เจ้าของสามารถแก้ไขโดยเรียนรู้เทคนิคการป้อนยา และขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์

4) อาหารลดประสิทธิภาพการดูดซึมยา

ยาบางชนิดจะออกฤทธิ์ได้ดีในขณะท้องว่าง มากกว่าในขณะที่มีอาหารอยู่ในทางเดินอาหาร เช่น ยาเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ pimobendan เป็นต้น ดังนั้นหากสัตว์เลี้ยงมีอาหารอยู่ในทางเดินอาหาร อาจทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร

5) จำนวนยาที่สัตว์เลี้ยงต้องทานในแต่ละครั้งมีปริมาณมาก

อาจทำให้เกิดความเครียดต่อทั้งผู้ป้อนและสัตว์เลี้ยง และเกิดการปฏิเสธยาในที่สุด โดยเฉพาะในแมวซึ่งมักทานยายาก หากมียาหลายชนิดในการป้อนแต่ละครั้ง ผู้ป้อนอาจนำยาทั้งหมดใส่รวมไว้ในแคปซูลเปล่าแล้วค่อยป้อน เพื่อลดจำนวนครั้งในการป้อนยาให้สัตว์เลี้ยง และช่วยลดความเครียดจากการป้อนยาซึ่งต้องเจออยู่ทุกวันได้

6) การแบ่งยาหรือหั่นเม็ดยาไม่เท่ากัน

ยาบางชนิดมีขนาดเล็ก ทำให้แบ่งยายาก หรือเม็ดยามีความร่วน แตกเป็นผงง่าย แนะนำให้ผู้ป้อนใช้อุปกรณ์ที่ใช้ในการแบ่งยาโดยเฉพาะ หรือใช้มีดคัตเตอร์ที่คมมาก ๆ ก็จะช่วยให้สามารถแบ่งเม็ดยาได้ง่ายขึ้น

สัตว์ป่วยโรคหัวใจนั้น มีหลายระยะ ได้แก่

1) สัตว์ป่วยโรคหัวใจระยะที่ยังไม่แสดงอาการ โดยอาจมีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจเกิดขึ้นแล้ว แต่สัตว์เลี้ยงยังไม่แสดงอาการ หรือมีอาการแล้วแต่อาการน้อยมากจนเจ้าของไม่สังเกตเห็น มักพบว่าสัตว์เลี้ยงป่วยโรคหัวใจตอนที่พามาตรวจสุขภาพประจำปี เช่น เอ็กซ์เรย์พบว่าหัวใจโตกว่าปกติ หรือตรวจพบจากการฟังเสียงโดยใช้หูฟัง ของสัตวแพทย์ เป็นต้น

2) สัตว์ป่วยโรคหัวใจระยะที่แสดงอาการแล้ว เช่น สัตว์เลี้ยงมีอาการไอขาก หายใจแรงและถี่ เหนื่อยง่าย หอบ หมดสติ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะถูกสังเกตเห็นโดยเจ้าของ และเป็นสาเหตุที่เจ้าของพาสัตว์เลี้ยงมาตรวจที่โรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งในระยะนี้การทำงานของหัวใจในการสูบฉีดเลือดมักลดลงกว่าปกติ ไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยตัวเอง และจำเป็นต้องได้รับยาโรคหัวใจไปทาน เพื่อควบคุมให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น และเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยืดระยะเวลาการเกิด ภาวะหัวใจล้มเหลวให้นานออกไป ดังนั้นการให้สัตว์เลี้ยงได้รับยาโรคหัวใจอย่างสม่ำเสมอในระยะนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก หากขาดยา อาจส่งผลให้มีภาวะหัวใจล้มเหลวได้

ตัวอย่างยาโรคหัวใจที่สัตว์เลี้ยงมักได้รับ เช่น

- ยาขับน้ำ เป็นยาที่ช่วยลดปริมาณเลือดที่เข้าสู่หัวใจ เพื่อลดการคั่งของเลือดในห้องหัวใจ ตลอดจนการคั่งของน้ำในปอด หรือที่เรียกว่า อาการน้ำท่วมปอด ถือเป็นยาที่สำคัญมากในการรักษาโรคหัวใจ และจำเป็นต้องมีการใช้ยาตามปริมาณและความถี่ที่เหมาะสมกับอาการในช่วงนั้นๆ สัตวแพทย์จะปรับขนาดยาและความถี่ในการทานยาให้สัตว์เลี้ยงเป็นระยะโดยอ้างอิงตามอาการที่ปรากฏ หากขาดยาไปถึงแม้จะไม่กี่มื้อก็สามารถทำให้สัตว์เลี้ยงมีอาการน้ำท่วมปอดได้

- ยาเพิ่มการบีบตัวของหัวใจและขยายหลอดเลือด pimobendan เป็นยาที่ออกฤทธิ์ 12 ชั่วโมง ดังนั้นเจ้าของจึงจำเป็นต้องป้อนยาให้สัตว์เลี้ยงวันละ 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 12 ชั่วโมง เพื่อให้ยาสามารถคุมอาการของโรคหัวใจได้ตลอดวัน หากขาดยา หัวใจจะบีบตัวและสูบฉีดเลือดได้ไม่ดี ส่งผลให้เกิดอาการ อ่อนเพลีย ซึม เหนื่อยง่าย ไอแห้ง ท้องมาน หายใจหอบ นอนไม่ได้ เป็นลมหมดสติ อาการทรุดลง และหัวใจวายในที่สุด

นอกจากเจ้าของต้องป้อนยาให้สัตว์ป่วยโรคหัวใจอย่างสม่ำเสมอแล้ว การป้อนยาโรคหัวใจให้ถูกตามขนาดและความถี่ ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะยาแต่ละชนิดมีทั้งผลดีและผลเสีย ยกตัวอย่างเช่น

การป้อนยาขับน้ำผิด โดยป้อนยามากเกินจากที่สัตวแพทย์กำหนด จะทำให้สัตว์เลี้ยงมีอาการกระหายน้ำและปัสสาวะมากผิดปกติ จนทำให้ร่างกายขาดน้ำ อ่อนแรง และช็อกได้ หากเจ้าของป้อนยาผิดเป็นเวลานาน ก็สามารถส่งผลให้ไตทำงานหนักและเกิดไตวายได้

ดังนั้นทุกครั้งที่เจ้าของป้อนยาโรคหัวใจให้แก่สัตว์ป่วย เจ้าของควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ปรับเพิ่มหรือลดปริมาณยาเอง และไม่ขาดยา เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ควบคุมอาการโรคหัวใจของสัตว์เลี้ยงได้อย่างราบรื่น และชะลออาการหัวใจวายได้นานขึ้น

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ.กานต์ชนก สอนไม้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

1 DEC 2023
5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดูแลน้องหมาโรคหัวใจ
เมื่อพูดถึงเรื่องของ “ความเชื่อ” แล้วนั้น คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างแน่นแฟ้นและยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขภาพ การปฏิบัติตัว การรับประทานอาหาร ไม่เว้นแม้แต่ความเชื่อเกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยง ที่ในหลายๆ ครั้งถูกส่งต่อกันมาในหลากหลายวิธี ตั้งแต่ปากต่อปาก ตำนาน ไปจนถึงวิธีการอื่นๆ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารมีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็วและแพร่หลาย ผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะช่องทางยอดฮิตอย่างโซเชียลมีเดีย
13 DEC 2022
สารอาหารสำคัญชนิดไหนที่ช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง
ในสุนัขและแมวที่พบว่ามีปัญหาป่วยโรคหัวใจนั้น นอกจากยาโรคหัวใจที่เราจะใช้เพื่อช่วยในการรักษาแล้ว การจัดการปัจจัยด้านอื่น ๆ ก็ช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีอายุที่ยืนยาวขึ้นได้ การจัดการอาหารที่เหมาะสม ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการรักษาสัตว์ป่วยโรคหัวใจให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น อีกทั้งยังอาจมีส่วนช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งในสัตว์แต่ละตัวก็มีการจัดการอาหารที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค การซักประวัติ การตรวจร่างกาย หรือการมีโรคระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย เป็นต้น
17 MAY 2021
โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อมในสุนัข (Canine degenerative mitral valve disease)
ลิ้นหัวใจไมทรัลคืออะไร? สุนัขนั้นมีหัวใจ 4 ห้องเช่นเดียวกับคน ห้องหัวใจฝั่งขวาจะรับเลือดดำมาแล้วส่งไปฟอกที่ปอด จากนั้นเลือดแดงที่ผ่านการฟอกที่ปอดแล้วจึงกลับมายังห้องหัวใจฝั่งซ้าย
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่