น้องโรวา ดัลเมเชียนอายุ 2 เดือน มาตรวจสุขภาพเพื่อทำวัคซีนเข็มแรก คุณหมอประจำบ้านตรวจพบเสียงลิ้นหัวใจรั่ว ดังฟู่วววววว ๆๆๆ จากการใช้สเตทโตสโคปฟังเสียงหัวใจ จึงรีบส่งตัวมาพบคุณหมอเฉพาะโรคหัวใจ คุณแม่ของน้องเล่าให้ฟังว่า น้องโรวาก็ดูร่าเริงดี วิ่งเล่นกับเพื่อนได้ปกติ คุณหมอขอตรวจหัวใจอย่างละเอียด ทั้งการเอกเรย์ช่องอกเพื่อดูขนาดของหัวใจและเนื้อปอด ทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และสิ่งสำคัญที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การอัลตราซาวน์หัวใจ ใช้เวลาไม่นานมากนัก เราก็ทราบถึงโรคหัวใจที่น้องเป็น นั่นคือ น้องเป็นโรคหัวใจมาแต่กำเนิด ชนิดลิ้นหัวใจเส้นเลือดไปปอดตีบแต่อยู่ในระยะไม่แสดงอาการ คุณหมอแจ้งคุณแม่ให้ทราบว่า ตอนนี้หัวใจห้องล่างขวากำลังทำงานหนักเพื่อบีบเลือดไปฟอกที่ปอด อาการแสดงที่อาจจะพบ ได้แก่ อาการเหนื่อยหอบ ลิ้นสีคล้ำม่วงและเป็นลมได้ โดยเฉพาะตอนที่น้องทำกิจกรรมบางอย่างที่ออกแรงเยอะ เช่น การวิ่ง กระโดด เล่น หรือ เห่าแรงๆ จึงขอให้คุณแม่เฝ้าสังเกตอาการน้องโรวาเป็นพิเศษและพาน้องมาตรวจหัวใจตามระยะค่ะ
ตามปกติแล้วโรคหัวใจแต่กำเนิดพบได้น้อยมาก เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่เซลล์เริ่มมีการแบ่งตัวเลยทีเดียว โรคนี้มีชื่อว่า “โรคลิ้นหัวใจเส้นเลือดไปปอดตีบ หรือ Pulmonic stenosis” สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ตามตำแน่งของการตีบค่ะ สำหรับน้องโรวาเป็นกลุ่มที่ตีบตรงบริเวณลิ้น จึงเรียกว่า Valvular pulmonic stenosis ซึ่งกลุ่มนี้พบบ่อยที่สุดเลยค่ะ สายพันธุ์ที่พบได้แก่ English Bulldog, French Bulldog, Miniature Pinscher และ Boxer เป็นต้น โรคหัวใจกลุ่มนี้จะทำให้หัวใจห้องขวาโตและส่งเลือดไปฟอกที่ปอดไม่ดี น้องๆ ก็จะแสดงอาการเหนื่อยง่ายเวลาวิ่งเล่น ร่างกายไม่ค่อยโต และเป็นลมได้ค่ะ
เราต้องทำการตรวจอัลตราซาวน์หัวใจ เป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก หรือ ซับซ้อน และน้องๆ ไม่ต้องถูกวางยาสลบในขั้นตอนนี้ค่ะ และคุณหมออาจจะทำการเอกเรย์ช่องอก และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อนำมาวินิจฉัยร่วมกันค่ะ
การรักษาจะขึ้นกับว่า น้องมีความรุนแรงของการตีบมากแค่ไหน และ ตำแหน่งของการตีบค่ะ หากอยู่ในกลุ่มของการตีบระดับเฉพาะลิ้นและไม่มีโครงสร้างผิดปกติของเส้นเลือดอื่นร่วมด้วย อาจสามารถทำการขยายลิ้นหัวใจด้วยบอลลูนได้ ในสุนัขในกลุ่มการตีบนั้นมีความรุนแรงไม่มาก น้องๆ ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีปัญหาอะไรเลยก็มีเช่นกันค่ะ
การตรวจสุขภาพร่างกายตามรอบอายุ ไม่ว่าจะเด็กหรือโตแล้วมีความสำคัญมากค่ะ หากพบเสียงหัวใจที่ผิดปกติในลูกสัตว์อายุน้อย ควรพามาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหัวใจอย่างละเอียดกันด้วยนะคะ และน้องๆที่มีโรคหัวใจแต่กำเนิดนั้นไม่ควรนำมาเป็นคุณพ่อคุณแม่นะคะ
ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch
และสามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App เพื่อช่วยในการนับและบันทึกอัตราการหายใจได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”
บทความนี้เขียนโดย สพญ. รติพร ตันติศักดิ์