การประเมินอาการสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือมีภาวะหัวใจล้มเหลวที่บ้าน

11 JAN 2022
share :

เมื่อสัตว์เลี้ยงของเรา มีอาการที่ผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก มีอาการไอแห้งบ่อย ๆ ในสุนัข หรือแสดงอาการไม่ใช้สองขาหลังเฉียบพลัน ซึ่งมักพบได้บ่อยในแมว เจ้าของควรนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ หลังจากทำการตรวจวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์แล้ว ถ้าพบว่าความผิดปกตินั้นเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวในสัตว์เลี้ยง การจัดการที่บ้านอย่างเหมาะสมก็มีส่วนสำคัญมากในการช่วยดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การประเมินอาการที่บ้าน สามารถทำได้หลายอย่าง

1. การสังเกตอาการทั่วไปของสัตว์เลี้ยง

การหมั่นสังเกตอาการทั่วไปในชีวิตประจำวันของสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่ความอยากอาหาร การแสดงอาการอ่อนเพลีย นอนเยอะกว่าปกติ การกินน้ำที่มากหรือน้อยเกินไป การอาเจียนหรือถ่ายเหลว แสดงอาการไอแห้งๆ เพิ่มขึ้น น้ำหนักที่ลดลงหรือเพิ่มผิดปกติ ท้องกางมากกว่าปกติ อาการเหล่านี้ช่วยให้สามารถประเมินอาการป่วยของสัตว์เลี้ยงเบื้องต้นได้ดี ซึ่งอาการที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีภาวะของโรคหัวใจที่มากขึ้น ผลข้างเคียงจากยาที่ได้รับ หรือเป็นอาการป่วยจากระบบอื่นๆ ของร่างกาย เป็นต้น ซึ่งหากสัตว์เลี้ยงมีอาการผิดปกติ แนะนำให้เจ้าของรีบพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้

2. การนับอัตราการหายใจขณะหลับของสัตว์เลี้ยง

ในภาวะปกติ สัตว์เลี้ยงควรหายใจในขณะหลับประมาณ 15-20 ครั้งต่อนาที เพราะฉะนั้นหากสัตว์เลี้ยงมีอัตราการหายใจในขณะหลับ มากกว่า 35 ครั้งต่อนาที อาจแสดงถึงการเกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้ ในสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาโรคหัวใจ จึงควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาเพิ่มเติม

3. การจัดการด้านอาหาร

โดยส่วนใหญ่สัตว์เลี้ยงที่เข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว สัตวแพทย์มักจะแนะนำให้กินอาหารที่มีทั้งพลังงานและปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในแต่ละระดับของโรค โดยในสัตว์เลี้ยงที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง แนะนำให้ลดปริมาณโซเดียมในอาหารลง และหลีกเลี่ยงการให้กินอาหารคน (people food) เนื่องจากมีปริมาณโซเดียมที่มากกว่าที่สัตว์เลี้ยงต้องการ และมีผลทำให้หัวใจมีการทำงานที่หนักมากขึ้น

4. การจัดการด้านการออกกำลังกาย

ในสัตว์เลี้ยงที่เข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว นอกจากอาการเหนื่อยง่ายขึ้นหลังออกกำลังกายแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เข้มข้นเกินไป เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการตื่นเต้นมากเกินไป ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วมากขึ้น และอาจเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทันในชั่วขณะนึง ส่งผลทำให้มีอาการลิ้นซีด อ่อนแรงเฉียบพลัน หรือแสดงอาการเป็นลมได้ เจ้าของจึงควรระมัดระวังและเฝ้าดูขณะออกกำลังกายทุกครั้ง หรือในสัตว์เลี้ยงที่มีภาวะของโรคหัวใจรุนแรง สัตวแพทย์ก็อาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย

จะเห็นได้ว่า สัตว์เลี้ยงที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว นอกเหนือจากการรักษาด้วยการกินยาและพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอแล้ว การจัดการดูแล สังเกตอาการที่บ้าน มีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยในการเพิ่มคุณภาพชีวิตและอายุที่ยืนยาวมากขึ้นของสัตว์เลี้ยงได้

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ. นภาเพ็ญ วชิรธาดา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

10 FEB 2023
หมอขอเล่า... หมาอ้วน ดูน่ารัก แต่เสี่ยงสารพัดโรค รวมถึงโรคหัวใจด้วยไหมนะ? ส่องโรคหัวใจแทรกซ้อนที่อาจซ่อนในหมาอ้วน
น้องหมาบ้านใครอวบอ้วน กอดอุ่นบ้าง ยกมือขึ้น … ถ้าเป็นเรื่องความน่ารัก เต็มไม้เต็มมือ ใครๆ ก็คงอยากมีน้องหมาอวบอ้วนสักหนึ่งตัวเป็นของตัวเอง แต่ในเรื่องของสุขภาพสัตว์เลี้ยงนั้น รู้หรือไม่ว่าหมาอ้วนจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ตามมาอีกมากมาย
30 JUN 2022
โรคหัวใจที่พบได้บ่อยในสุนัขและการจัดการดูแล
หัวใจ ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญและมีความซับซ้อนอีกอวัยวะหนึ่งของร่างกายสุนัข เพราะหัวใจมีหน้าที่สูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย การทำงานที่ผิดปกติของหัวใจสุนัขส่งผลให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจลดลง ทำให้เกิดภาวะการสะสมของน้ำในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความดันร่างกายลดลง และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในสุนัขตามมา
11 APR 2023
ตรวจโรคหัวใจต้องทำอะไรบ้าง หมอจะเล่าให้ฟัง
วันนี้เราได้รับการติดต่อจากคุณหมออายุรกรรมเรื่องนัดหมายให้พบกับคุณแม่ของน้องน้ำตาล สุนัขเพศเมียทำหมันแล้ว พันธุ์พุดเดิ้ล อายุ 13 ปี ซึ่งน้องน้ำตาลได้เข้าตรวจกับคุณหมออายุกรรมด้วยอาการหอบ เหนื่อยง่ายขึ้น มีอาการไอแห้ง โดยเฉพาะเวลากลางคืน และเริ่มมีอาการเป็นลมเวลาตื่นเต้นดีใจ
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่