I.การจัดการภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน (Management of acute congestive heart failure in dogs)
เป้าหมายของการรักษาเพื่อลดภาวะการคั่งน้ำและทำให้หัวใจเพิ่มการการไหลเวียนในระบบหลอดเลือดหัวใจ จากเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ ให้การดูแลรักษาโดย
1.การประเมินภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน
1.1 เกิดการคั่งของของเหลว พบความผิดปกติ ได้แก่ หายใจลำบาก ท้องมาน ภาวะปอดบวมน้ำ การขยายใหญ่ของหลอดเลือดที่บริเวณคอ
1.2 การไหลเวียนในระบบหลอดเลือดลดลง เช่น ความดันเลือดต่ำ ชีพจรเบา อุณหภูมิต่ำ เซื่องซึม อ่อนแรง
2.วิธีการจัดการ
2.1 First line
- การช่วยเสริมการหายใจ
- การให้ออกซิเจนแบบ Flow, แบบ Oxygen cage, แบบ Oxygen hood และแบบ Nasal canula
- หากไม่สามารถหายใจได้เอง โดยพบภาวะขาดออกซิเจน หรือ ภาวะหายใจลดลง ควรทำการช่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ Positive pressure ventilator
- ลดภาวะคั่งของเหลวในร่างกาย
- การให้ยาขับน้ำแบบเชิงรุก Furosemide ทุก ½-4 ชั่วโมง โดยทั่วไปหลังให้ยา 1 ชั่วโมง อัตราการหายใจจะลดลงและภาวะหายใจลำบากมีแนวโน้มดีขึ้น หากอัตราการหายใจไม่ดีขึ้นพิจารณาให้ยาขับน้ำเข้าเส้นแบบต่อเนื่อง ควรปรับขนาดและความถี่ของการให้ยาลงเมื่ออัตราการหายใจดีขึ้นคือ น้อยกว่า 30 ครั้ง/นาทีโดยปรับลดขนาดยา 50 % และควรมีการตั้งน้ำไว้ให้กินได้ตลอดเวลา หากให้ขนาดสูงมักพบภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และภาวะฟอสฟอรัสในเลือดต่ำได้ ควรมีการเอกซเรย์ช่องอกเป็นระยะเพื่อประเมินและเฝ้าติดตามผลของยา เพื่อปรับขนาดยาให้น้อยที่สุดที่คุมอาการได้ รวมถึงการตรวจเลือดติดตามการทำงานของไต (BUN, Creatinine, SDMA)
- การเจาะระบายของเหลวในกรณีที่สามารถทำได้ เช่น การเจาะระบายของเหลวในช่องอก เจาะระบายของเหลวในช่องท้อง โดยเฉพาะการเจาะระบายของเหลวในถุงหุ้มหัวใจถือเป็นหัตถการช่วยชีวิต
- เพิ่มการไหลเวียนในหลอดเลือด
- ยากลุ่มที่เพิ่มการบีบตัวของหัวใจ เช่น Pimobendan
2.2 Second line
- ลดความเครียด ทำการจับบังคับอย่างนุ่มนวล อาจต้องให้ยาซึมเพื่อลดความเครียดได้แก่ Acepromazine เข้ากล้ามเนื้อ, Morphine เข้ากล้ามเนื้อ หรือใต้ผิวหนัง, Buprenorphine เข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดดำ, Butorphanol เข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดดำ
- การให้ยาขยายหลอดเลือด ในกรณีมีความดันเลือดสูงกว่าปกติ มักพบในภาวะ severe mitral regurgitation เช่น Sodium nitroprusside ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำสามารลดความดันเลือดได้เร็วแต่ผลข้างเคียงมากจึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าติดตามความดันเลือดอย่างใกลชิด ส่วนการให้ยา nitroglycerine ointment หรือแบบ patch นั้นยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยา การให้ยาขยายหลอดเลือด เช่น amlodipine และ hydralazine ในรูปแบบกิน อาจมีประโยชน์
- Dobutamine เสริมการรักษาเพื่อเพิ่มการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายโดยเฉพาะในกรณีภาวะความดันต่ำ โดยให้แบบ CRI ต้องมีการเฝ้าติดตามสัญญาณชีพทั้งวัด อัตราการเต้นและจังหวะการเต้นของหัวใจ ความดันหลอดเลือดช่วง systolic ให้มากกว่า 85 mmHg หรือ MAP มากกว่า 60 ซึ่งหากพบอาการ คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะให้ลดขนาดยาลง
- กรณีความดันเลือดต่ำ ในสุนัขโรคกล้ามเนื้อหัวใจขยายใหญ่ (dilated cardiomyopathy) และในสุนัขโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม (DMVD) สามารถให้ยาในกลุ่ม pressor agent เพื่อเพิ่มความดันเลือด หากเริ่มไม่ตอบสนองกับ dobutamine เช่น dopamine ทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวและเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ หากยังไม่ตอบสนองพิจารณาให้ norepinephrine แบบ CRI
II.การจัดการภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเรื้อรัง (Management of Chronic congestive heart failure in dogs)
เป้าหมายของการรักษาเพื่อป้องกันการกลับมาเกิดภาวะคั่งน้ำ ควบคุมและชะลอการทรุดลงของโรค และทำให้หัวใจเพิ่มการไหลเวียนเลือดได้ดีขึ้นโดยให้การดูแลรักษา
- การให้ยากินแบบ Triple therapy คือ furosemide ร่วมกับ pimobendan และการให้ยากลุ่ม ACE inhibitor ได้แก่ enalapril, benazepril หรือ ramipril ซึ่งบ่งชี้ในการจัดการกรณีภาวะหัวใจล้มเหลว
- ควรแนะนำโภชนาการ เพื่อป้องกันภาวะผอมแห้ง (cardiac cachexia) ปรับอาหารให้มีปริมาณเกลือต่ำและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโปรตีนต่ำ ปริมาณพลังงานที่ได้ควรมากกว่า 60 กิโลแคลลอรีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยเพิ่มความน่ากินของอาหาร เช่น การอุ่นอาหาร การผสมอาหารเปียกกับอาหารเม็ด หรือมีความหลากหลายของชนิดอาหาร
- การเสริมสารอาหาร เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3 (EPA, DHA), taurine และ L-carnitine
- ควรมีการติดตามอาการทุก 1 -2 เดือน ระหว่างทำการรักษา และภายใน 5 – 14 วันหลังจากมีการปรับเปลี่ยนการรักษา โดยเฉพาะเมื่อมีการปรับขนาดยาในกลุ่มยาขับน้ำ ต้องตรวจเลือดดูการทำงานของไตและอิเลกโตรไลท์ และเฝ้าติดตามภาวะหัวใจล้มเหลว การเต้นผิดจังหวะโดยการเอกซเรย์ช่องอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การวัดความดันเลือด
- เมื่อภาวะหัวใจล้มเหลวอาการรุนแรงและดื้อต่อการรักษา คือ มีการใช้ยาขับน้ำ furosemide ขนาดมากกว่า 6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมงเพื่อควบคุมภาวะคั่งน้ำ และเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มในระหว่างการรักษา ได้แก่ ไตวาย ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีการไอถี่มากขึ้นโดยอาจเกิดร่วมกันกับโรคทางเดินหายใจ
- กรณีเริ่มดื้อต่อการให้ยาขับน้ำในการรักษา จัดการโดยเพิ่มชนิดของยาขับน้ำเป็นสองหรือสามชนิด เช่น spironolactone, Hydrochlorothiazide หรือให้ยาขับน้ำที่ออกฤทธิ์แรงกว่า furosemide เป็น torsemide สามารถเสริมด้วยการฉีด furosemide เข้าใต้หนังทุก 48 ชั่วโมงเพื่อคุมอาการ อาจเพิ่มขนาดและความถี่ของ pimobendan หากพบภาวะคั่งของของเหลวในช่องอก ช่องท้อง หรือ ถุงหุ้มหัวใจให้ทำการเจาะระบาย
- กรณีเริ่มมีปัญหาของทั้งโรคหัวใจและโรคไตนั้น ในการจัดการควรมีการตรวจการทำงานของไต (BUN, Creatine, SDMA) ทั้งก่อนและหลังการให้ยาขับน้ำและยากลุ่ม ACE inhibitor ในส่วนของการให้ furosemide นั้นควรให้ในขนาดต่ำที่สุดที่จำเป็นต้องใช้ในการควบคุมภาวะคั่งน้ำและติดตามลักษณะการหายใจ อัตราการหายใจอย่างใกล้ชิด ต้องจัดการข้อแทรกซ้อนต่าง ๆ ของภาวะไตวาย ได้แก่ ภาวะโลหิตจาง เบื่ออาหาร ความดันเลือดสูง การเสียสมดุลของเกลือแร่
- หากพบภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่รุนแรง ซึ่งมักพบการเต้นของหัวใจผิดจังหวะชนิด atrial fibrillation ต้องให้ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น diltiazem, digoxin, sotalol ส่วนการเต้นของหัวใจผิดจังหวะชนิด ventricular tachyarrhythmia ให้ยารักษา เช่น mexiletine, sotalol, procainamide
- การจัดการกรณีภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง มักพบอาการอ่อนแรง หรือเป็นลม ให้ยารักษา sildenafil หรืออาจให้เพียง pimobendan หากแรงดันสูงเพียงเล็กน้อย
- หากมีการไอถี่และเรื้อรังมากขึ้น โดยมีสาเหตุจากภาวะหัวใจโตกดหลอดลมหรือเกิดร่วมกันกับโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ต้องจำเป็นให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยาสเตียรอยด์ทั้งในรูปแบบทางระบบหรือเฉพาะที่ เช่น การให้ยาสูดพ่น, ยากดอาการไอกลุ่ม Narcotic เช่น codeine, hydrocodone เป็นต้น
เพื่อให้การจัดการภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดประสิทธิผลมากขึ้นสิ่งสำคัญ คือ การสื่อสารที่เข้าใจตรงกัน
ระหว่างเจ้าของสัตว์และสัตวแพทย์ เจ้าของสามารถดูแลและให้ยาได้อย่างสม่ำเสมอ สังเกตอาการหรือสามารถนับอัตราการหายใจขณะนอนหลับ (sleep respiration rate, SRR) ของสุนัขที่บ้านเพื่อประเมินอาการเบื้องต้นเองได้ สังเกตการกินได้ ไม่ผอมเกินไป สามารถนำสุนัขมาติดตามอาการได้อย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้สุนัขใช้ชีวิตได้นานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่
https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”
ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch
บทความนี้เขียนโดย
สพ.ญ. ชัญภร กวางรัตน์