โรคหัวใจเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสุนัขหลายพันธุ์และหลายช่วงอายุ อีกทั้งยังสามารถก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้ ดังนั้นมาทำความรู้จักกับโรคหัวใจและวิธีรับมือก่อนจะสายกันดีกว่า
โรคหัวใจในสุนัขถือเป็นโรคที่ทำอันตรายแก่สุนัขอย่างเงียบ ๆ กล่าวคือเป็นโรคที่มักไม่แสดงอาการ สังเกตได้ยาก กว่าสุนัขจะแสดงอาการป่วยก็ใช้เวลานานหลายปี จนความรุนแรงของโรคนั้นมีมากขึ้น หัวใจทำงานหนักเกินไป นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และทำให้สุนัขถึงแก่ชีวิตในที่สุด ดังนั้นจึงขอชวนเจ้าของสุนัขทุกคนมารู้จักกับโรคหัวใจในสุนัข และรีบรู้ให้ทันก่อนสุนัขเป็นโรคหัวใจและสายเกินไปกันดีกว่า
โรคหัวใจในสุนัข สามารถเกิดขึ้นกับสุนัขได้ตั้งแต่กำเนิด (Congenital Heart Diseases) และหลังกำเนิด (Acquired Heart Disease) โดยปัจจัยที่ส่งผลให้น้องหมาเป็นโรคหัวใจก่อนกำเนิด ได้แก่ โครงสร้างและการทำงานของหัวใจผิดปกติ และโรคประจำสายพันธุ์ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้สุนัขเป็นโรคหัวใจหลังกำเนิด ได้แก่ ความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น การได้รับสารอาหารที่ไม่สมดุล การติดเชื้อ รวมถึงพยาธิหนอนหัวใจก็สามารถทำให้เกิดโรคหัวใจในสุนัขได้เช่นกัน
เนื่องจากโรคหัวใจในสุนัขเป็นโรคที่มักไม่ค่อยแสดงอาการ ดังนั้นเจ้าของจึงควรตรวจสุขภาพสุนัขเป็นประจำและต่อเนื่องทุกปี โดยการพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์หรือโรงพยาบาลสัตว์ที่ไว้ใจ เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายอย่างละเอียด หากสุนัขป่วยหรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น จะได้เริ่มการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ทั้งนี้เจ้าของก็ควรสังเกตอาการผิดปกติและพฤติกรรมต่าง ๆ ของน้องหมาร่วมด้วย เพื่อประกอบการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น
อาการที่อาจบ่งบอกว่าน้องหมาเป็นโรคหัวใจ เช่น สุนัขไอแห้ง หรือไอเรื้อรัง เบื่ออาหาร ความอยากอาหารลดลง ซึม หายใจหอบและถี่ขึ้น เป็นต้น หากเจ้าของสังเกตเห็นว่าน้องหมามีอาการเหล่านี้ ควรรีบพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
การรักษาโรคหัวใจในสุนัขที่เหมาะสม ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ที่โรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้านหรือศูนย์โรคหัวใจสุนัข เพื่อให้สัตวแพทย์ได้ประเมินอาการ และจ่ายยาให้เหมาะสมกับอาการป่วยของสุนัข และเจ้าของสามารถมั่นใจได้ว่าสุนัขจะได้รับยาโรคหัวใจสุนัขที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ปลอดภัย ไม่ใช่ยาเถื่อนหรือยาปลอมอย่างแน่นอน อีกทั้งการได้รับยาที่เหมาะสมยังช่วยชะลอให้สุนัขเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้อีกด้วย
วิธีการดูแลสุนัขป่วยโรคหัวใจ เจ้าของควรใส่ใจและมีวินัยในการดูแลสุนัขอย่างเคร่งครัด เรื่องที่ควรต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษมีอยู่ 5 เรื่องหลัก ดังนี้
1. หมั่นสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ความอยากอาหาร อัตราการหายใจ
2. ใส่ใจในการให้อาหาร ลดอาหารที่มีโซเดียมสูง เลือกอาหารสำหรับสุนัขเป็นโรคหัวใจโดยเฉพาะ
3. มีวินัยในการให้ยา ให้ยาตรงขนาดและตรงเวลาตามที่ฉลากกำหนดอย่างเคร่งครัด
4. ดูแลเรื่องการออกกำลังกายอย่างใกล้ชิด หากเป็นสุนัขที่ป่วยโรคหัวใจไม่รุนแรงมาก ควรพาสุนัขออกกำลังกายเบา ๆ ในที่ไม่มีแดดจัด เช่น เดินเล่น
5. พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำและต่อเนื่องทุกปี เพื่อติดตามอาการและปรับยาให้เหมาะสมกับอาการในปัจจุบัน
เรื่องของ ‘หัวใจ’ เป็นอีกหนึ่งเรื่องสุขภาพที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม อย่าให้อันตรายมาถึงตัวก่อนจะสาย หมั่นสังเกตความผิดปกติและรักษาสุขภาพน้องหมาให้ดี ด้วยการพาสุนัขไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์เป็นประจำทุกปี และอยู่กับเราได้นาน ๆ ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ Your Pet Heart : ดูแลหัวใจ ห่วงใยสัตว์เลี้ยง
CVCA. Heart Disease in Dogs. (ออนไลน์). สืบค้นจาก:https://www.cvcavets.com/canine-heart-diseases/ (เข้าถึงเมื่อ 19 มกราคม 2565)
FETCH by WebMD. Congestive Heart Failure in Dogs. (ออนไลน์). สืบค้นจาก:https://pets.webmd.com/dogs/congestive-heart-failure-dogs#1 (เข้าถึงเมื่อ 19 มกราคม 2565)
Interpharma Group. หัวใจไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มารู้จักโรคหัวใจในน้องหมากันเถอะ. (ออนไลน์). สืบค้นจาก:https://www.interpharma.co.th/articles/articles-intervetta/%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%86/ (เข้าถึงเมื่อ 19 มกราคม 2565)
Thonglor Pet Hospital. รักษาโรคหัวใจในแมวและโรคหัวใจในสุนัข. (ออนไลน์). สืบค้นจาก:https://thonglorpet.com/th/diary/79 (เข้าถึงเมื่อ 19 มกราคม 2565)
สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”
ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch