การดูแลน้องหมาป่วยโรคหัวใจในภาวะฉุกเฉิน

31 OCT 2024
share :

การดูแลสุนัขที่เป็นโรคหัวใจนั้น ไม่เพียงแต่การดูแลป้อนยาให้สม่ำเสมอ และการดูแลเรื่องอาหารการกินเท่านั้น เราต้องมีการเตรียมรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดจากโรคหัวใจ ที่เราอาจจะพบได้เมื่ออยู่ที่บ้าน เช่น การเป็นลม การหายใจลำบาก เป็นต้น ภาวะฉุกเฉินทางโรคหัวใจ เป็นอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและมีอาการที่รุนแรงจนสามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ฉะนั้นเรามาทำความรู้จักอาการสำคัญที่จะพบได้และวิธีการช่วยเหลือก่อนส่งตัวถึงสัตวแพทย์กันค่ะ

เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรมีการบันทึกอัตราการหายใจขณะนอนหลับหรือขณะพักอย่างสม่ำเสมอ การที่น้องสุนัขหายใจเร็วขึ้นต่างไปจากเดิมนั้นทำให้เราต้องระมัดระวังอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ 30 ครั้งต่อนาที (นับการหายใจเข้า-ออก) เจ้าของควรมีบันทึกประวัติโรคหัวใจติดตัวไว้เสมอ เช่น ป่วยด้วยโรคหัวใจกลุ่มไหน ระยะของโรค และชนิดของยาประจำตัว เป็นต้น และที่สำคัญควรมีโรงพยาบาลที่สามารถพาน้องสุนัขเข้ารับการรักษาได้ 24 ชั่วโมงและอยู่ใกล้ที่พักก็จะทำให้เราอุ่นใจได้มากขึ้นค่ะ เมื่อสุนัขมีอาการฉุกเฉิน เจ้าของต้องตั้งสติให้ดี จดจำอาการแสดงของสุนัขขณะนั้นเพื่อแจ้งแก่สัตวแพทย์ เช่น สีเหงือก สีลิ้น ความรู้สึก มีน้ำลายไหล ปัสสาวะ อุจจาระหรือไม่ การกระตุกเกร็งหรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ระยะฟื้นตัว ลักษณะการหายใจ กิจกรรมที่ทำก่อนหน้า เป็นต้น การเตรียมอุปกรณ์ที่ช่วยเหลือ หากจำเป็นต้องทำการกู้ชีพเบื้องต้น เช่น นำสุนัขมาที่ปลอดภัย พื้นเรียบ เพื่อระวังการกระทบกระเทือนที่ศีรษะและสันหลัง อุปกรณ์การให้ออกซิเจน เช่น บางบ้านจะมีเครื่องผลิตออกซิเจนติดบ้านไว้

อาการฉุกเฉินที่พบบ่อยในสุนัขโรคหัวใจที่บ้าน ได้แก่ อาการเป็นลมและอาการหายใจลำบาก

อาการเป็นลม (syncope) เป็นการหมดสติ จากการที่สมองได้รับออกซิเจน หรือเลือดไหลเวียนไม่เพียงพอเป็นช่วงเวลาสั้นๆ จะพบอาการขาเหยียดเกร็ง เหยียดคอคล้ายอาการชัก ส่งเสียงร้องในบางครั้ง มักจะมีกิจกรรมบางอย่างทำก่อนที่จะเกิดเหตุ เช่น ไอ เบ่งอุจจาระ เห่า กินอาหาร ตื่นเต้นดีใจเมื่อเจอเจ้าของ และเมื่อฟื้นจะกลับมามีอาการปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น การเป็นลมที่เกิดจากโรคหัวใจ เกิดจากสมองได้รับเลือดส่งไปเลี้ยงไม่พอจากการที่หัวใจทำงานได้น้อยลง หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากเกิดขึ้นบ่อยๆ และนานขึ้น สามารถทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก หรืออาจทำให้เสียชีวิตได้

การช่วยเหลือเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินข้างต้น ให้นำสุนัขนอนตะแคงพื้นราบ ให้ศีรษะต่ำกว่าช่วงขาหลัง เพื่อให้เลือดไหลกลับมาเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น เปิดช่องปากสำรวจว่าไม่มีอะไรค้างในช่องปาก ขวางหลอดลม หรือ สำลักเข้าปอดได้ เช่น น้ำลายหรือเศษอาหาร จัดท่าของศีรษะและลำคอไม่ให้งอพับ ดึงลิ้นยืดออกมาด้านนอก ไม่ป้อนยาหรือน้ำขณะที่สัตว์ยังไม่มีสติเพราะจะทำให้สำลักไหลลงปอดได้ หากมีเครื่องผลิตออกซิเจนให้นำมาจ่อดมที่บริเวณจมูก จากนั้นติดต่อสัตวแพทย์ประจำและนำส่งโรงพยาบาลสัตว์

หากพบว่าสุนัขไม่หายใจ ช่องอกไม่กระเพื่อมขึ้นลง ก่อนที่ลิ้นเริ่มเป็นสีคล้ำ ให้เริ่มการกู้ชีพขั้นต้น (basic cardiorespiratory resuscitation ; CPR) ได้แก่ การช่วยหายใจ (rescue breathing) และ การกดช่องอก (chest compression) ที่สำคัญก่อนที่จะเริ่ม CPR เราต้องแน่ใจนะคะว่าสัตว์หยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นจริงๆ โดยการจับชีพจรที่ขาหลังด้านในหรือเอามือสัมผัสที่ช่องอกเพื่อจับการเต้นของหัวใจ เจ้าของควรเรียกชื่อและจับตัวสุนัขเพื่อให้แน่ใจว่าหมดสติ ไม่ได้หลับลึก หากแน่ใจว่าสุนัขไม่มีสัญญาณชีพจริงให้เริ่มสำรวจช่องปากลำลำคอว่าไม่มีสิ่งใดอุดตัน ให้เริ่มการ CPR (กดช่องอก) ทันที และในขณะช่วยนั้นให้สังเกตว่าสัตว์กลับมาหายใจเองได้หรือไม่ โดยการหยุดดูการหายใจขึ้นลงของช่องอก หากไม่หายใจเองใน 10 วินาที ให้เริ่มการทำ CPR ต่อไป ถ้าเจ้าของอยู่เพียงคนเดียวให้กดช่องอกไปเรื่อยๆ ก่อนในช่วงแรก 100-120 ครั้งต่อนาที เนื่องจากว่าการกดช่องอกจะมีการเคลื่อนของลมเข้าช่องอกอยู่แล้ว แต่ถ้ามีคนช่วยอีกคน ให้กดช่องอก 30 ครั้ง สลับกับ ช่วยหายใจ 2 ครั้ง สำหรับการช่วยหายใจ ให้รวบปิดปากและเป่าลมเข้าจมูกแบบเต็มๆ สังเกตว่าช่องอกจะฟูขึ้น ให้เป่าประมาณ 3-5 ครั้ง แบบติดๆ กัน (สลับกับการกดช่องอก) ในขณะที่ทำการช่วยกู้ชีพนั้นหากพบว่ากระเพาะอาหารขยายขึ้นให้ทำการกดระบายแก๊สเป็นระยะ เพราะมีโอกาสที่ลมที่เราเป่าไปนั้นจะเข้าไปในทางเดินอาหาร กระเพาะอาหารที่ขยายนั้นจะทำให้ปอดขยายได้น้อยลง ในการกดช่องอกสุนัขขนาดใหญ่และอกกว้าง เช่น Bulldog ให้ปรับเป็นท่านอนหงายและเราต้องกดให้ช่องอกยุบลง 1.5-4 นิ้ว เราจะหยุดการทำ CPR เมื่อพบว่าสัตว์กลับมามีชีพจรและหัวใจเต้น และเมื่อส่งสัตว์ป่วยถึงมือสัตวแพทย์และโรงพยาบาลแล้ว

อาการหายใจลำบาก (respiratory distress) อาการที่พบ ได้แก่ หายใจเร็วขึ้น มีอาการยืดคอหรือกางขาหน้า เพื่อช่วยให้หายใจสะดวก รวมถึงการใช้ช่องท้องช่วยหายใจ ซึ่งเราจะเห็นท้องยุบตามจังหวะการหายใจ หากพบว่ามีการเปลี่ยนสีของเหงือกหรือลิ้นเป็นสีม่วง อ้าปากขณะหายใจ เริ่มมีตาปรือ นั่งตัวโอนเอน นั่งสัปหงก แสดงว่าอาการเริ่มรุนแรงมากขึ้นแล้ว หากทำได้เจ้าของสามารถบันทึกเป็นคลิปวิดีโอแล้วส่งปรึกษาสัตวแพทย์ ในสุนัขที่มีเป็นโรคหัวใจ อาการหายใจลำบากที่แสดงนั้นอาจจะเกิดจากภาวะน้ำท่วมปอดได้ ซึ่งต้องได้รับยาขับน้ำโดยการฉีด สิ่งที่เจ้าของควรทำ ได้แก่ การลดความเครียดให้กับน้องสุนัข การให้สุนัขอยู่ในที่เงียบ ไม่ร้อนไม่อับชื้น หากมีเครื่องผลิตออกซิเจนให้จ่อดมล่วงหน้าไปก่อนและโทรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อพิจารณาป้อนยาขับน้ำเพิ่มเติม และพามาโรงพยาบาลสัตว์ที่ใกล้ที่สุด

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch และสามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App เพื่อช่วยในการนับและบันทึกอัตราการหายใจได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ. รติพร ตันติศักดิ์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

14 JUN 2024
น้องหมาก็เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ อันตรายเสี่ยงโรคหัวใจ
โรคความดันโลหิตสูงเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นเนื่องจากส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและอายุของน้องหมามากขึ้น ภาวะความดันโลหิตสูงหรือ systemic hypertension นั้นเป็นภาวะที่มีการเพิ่มสูงขึ้นของความดันโลหิตในขณะหลอดเลือดหดตัว (systolic blood pressure, SBP) เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากภาวะนี้ความรุนแรงจะไม่ได้เกิดขึ้นกับชีวิตของน้องหมาแบบฉับพลัน แต่ความเสียหายจะค่อย ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง ในร่างกายที่ “อวัยวะเป้าหมาย”
7 JUL 2022
รู้ก่อนป่วย รักษาก่อนเป็นหนัก “อาการแบบไหน” ที่ต้องเริ่มให้ยารักษาโรคหัวใจ เพื่อจะได้ช่วยให้เค้าอยู่กับเราไปนานๆ
ภาวะโรคหัวใจ หมายถึง ภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ (ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะในสุนัขและแมว) โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของลักษณะโครงสร้าง เช่น ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว กล้ามเนื้อหัวใจเสียความยืดหยุ่นหรืออ่อนแรง ผนังห้องหัวใจรั่ว
11 APR 2023
ตรวจโรคหัวใจต้องทำอะไรบ้าง หมอจะเล่าให้ฟัง
วันนี้เราได้รับการติดต่อจากคุณหมออายุรกรรมเรื่องนัดหมายให้พบกับคุณแม่ของน้องน้ำตาล สุนัขเพศเมียทำหมันแล้ว พันธุ์พุดเดิ้ล อายุ 13 ปี ซึ่งน้องน้ำตาลได้เข้าตรวจกับคุณหมออายุกรรมด้วยอาการหอบ เหนื่อยง่ายขึ้น มีอาการไอแห้ง โดยเฉพาะเวลากลางคืน และเริ่มมีอาการเป็นลมเวลาตื่นเต้นดีใจ
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่