5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดูแลน้องหมาโรคหัวใจ

1 DEC 2023
share :

เมื่อพูดถึงเรื่องของ “ความเชื่อ” แล้วนั้น คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างแน่นแฟ้นและยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขภาพ การปฏิบัติตัว การรับประทานอาหาร ไม่เว้นแม้แต่ความเชื่อเกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยง ที่ในหลายๆ ครั้งถูกส่งต่อกันมาในหลากหลายวิธี ตั้งแต่ปากต่อปาก ตำนาน ไปจนถึงวิธีการอื่นๆ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารมีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็วและแพร่หลาย ผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะช่องทางยอดฮิตอย่างโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีการกระจายทั้งข้อมูลที่เป็นจริงและเป็นประโยชน์ แต่ในหลายๆ ครั้งข้อมูลเหล่านั้นก็อาจบิดเบือนและไม่ถูกต้องซะทีเดียว จนทำให้เจ้าของสัตว์เกิดความสับสน โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ “โรคหัวใจ” ในสัตว์เลี้ยง ซึ่งหัวใจถือเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย หากเจ้าของมีความเชื่อและความเข้าใจที่ผิด อาจนำไปสู่การดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างผิดวิธีและส่งผลกระทบกับสุขภาพสัตว์เลี้ยงของเราได้ บทความในวันนี้จึงอยากจะมาตีแผ่ 5 ความเชื่อที่เหล่าทาสมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดูแลหัวใจของน้องหมาที่เรารัก ให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่านได้เข้าใจกันครับ

ความเชื่อที่ 1 “หากน้องหมาป่วยเป็นโรคหัวใจ จะต้องแสดงอาการรุนแรงเสมอ”

เป็นความเชื่อที่ผิดนะครับ เพราะโรคหัวใจนั้นเป็นโรคที่มีทั้งระยะที่สุนัขแสดงอาการและไม่แสดงอาการ (subclinical) กล่าวคือสุนัขสามารถมีการป่วยด้วยโรคหัวใจแฝงอยู่ในร่างกายได้ แม้อาการภายนอกจะดูเหมือนเป็นปกติทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะอาการป่วยในช่วงแรกที่โรคยังมีการดำเนินไปอย่างช้าๆ ซึ่งอาจจะใช้เวลาหลายปีกว่าความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้นจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว แล้วสุนัขจึงจะเริ่มแสดงอาการป่วยให้เจ้าของสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ดังนั้นเจ้าของจึงควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ และควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของน้องหมาอย่างสม่ำเสมอแม้จะเป็นความผิดปกติเพียงเล็กน้อย เพราะหากตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ คุณหมอก็จะสามารถให้การรักษาน้องๆ ได้อย่างทันท่วงที และรับมือกับโรคได้เหมาะสม...ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ความเชื่อที่ 2 “น้องหมาที่แสดงอาการไอ = เป็นโรคหัวใจ”

ความเชื่อนี้ไม่จริงเสมอไปครับ อาการไอเป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัข ไม่ว่าจะเป็นอาการไอแห้งหรือไอแบบมีเสมหะ โดยสาเหตุของอาการไอนั้น นอกจากโรคหัวใจแล้ว โรคอื่นๆ ของระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดลมตีบ โรคหลอดลมฝอยอักเสบเรื้อรัง โรคพยาธิหนอนหัวใจ โรคปอดอักเสบ หรือการมีเนื้องอกในช่องอกหรือเนื้องอกที่ปอดเอง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอได้เช่นกัน และในบางกรณียังพบว่าสุนัขที่แสดงอาการไออาจมีโรคที่เป็นสาเหตุร่วมกันทั้งจากโรคหัวใจและโรคในระบบทางเดินหายใจเอง ดังนั้นหากเจ้าของพบว่าสุนัขแสดงอาการไอ อาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ในทันทีว่าอาการไอนั้นมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจเพียงอย่างเดียว เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายโดยละเอียด เพื่อระบุสาเหตุของอาการไอในครั้งนั้น ร่วมกับการพิจารณาตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การเอกซเรย์ช่องอก หรือการอัลตราซาวนด์หัวใจ (echocardiogram) ที่จะช่วยให้การวินิจฉัยแยกโรคและการรักษาโรคเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง ครบถ้วนมากที่สุด

ความเชื่อที่ 3 “ถ้าเลี้ยงน้องหมาในบ้าน ไม่จำเป็นต้องป้องกันพยาธิหนอนหัวใจก็ได้”

ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิดนะครับ โรคพยาธิหนอนหัวใจเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากๆ ในน้องหมา เกิดจากปรสิตตัวร้ายคือ“พยาธิหนอนหัวใจ” โดยมี "ยุง" เป็นสัตว์พาหะนำโรค โดยวงจรของโรคจะเริ่มขึ้นเมื่อสุนัขถูกยุงที่มีตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจกัด แม้การกัดเพียงหนึ่งครั้ง ยุงก็สามารถถ่ายทอดตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจให้กับสุนัขได้ หากสุนัขไม่ได้รับยาที่มีฤทธิ์ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ อาจทำให้ตัวอ่อนพยาธิที่สุนัขได้รับมาจากยุง เจริญไปเป็นตัวเต็มวัยและอาศัยอยู่ที่หลอดเลือดบริเวณปอดและเหนี่ยวนำให้เกิดกระบวนการอักเสบในระบบทางเดินหายใจตามมา รวมทั้งตัวพยาธิเองที่อาศัยอยู่ในหลอดเลือดอาจทำให้เกิดการอุดตันในหัวใจได้ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นสาเหตุให้สุนัขเสียชีวิตได้ โดยความเสี่ยงที่เจ้า 4 ขาจะติดพยาธิหนอนหัวใจนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะยุงที่เป็นพาหะของโรคสามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น รวมทั้งยุงนั้นมีขนาดเล็กแถมมีปีก สามารถเล็ดลอดเข้าสู่ตัวบ้านได้ง่าย มีการสำรวจเคยรายงานไว้ว่าแม้จะทำการเลี้ยงสัตว์ให้อยู่ภายในบ้าน 100% ก็ยังสามารถเกิดการป่วยด้วยโรคพยาธิหนอนหัวใจได้ ดังนั้นแม้จะเลี้ยงน้องหมาแค่ภายในบ้านและดูแลเป็นอย่างดีก็มีความจำเป็นต้องป้องกันพยาธิหนอนหัวใจให้กับน้องหมาเป็นประจำทุกเดือนด้วย

ความเชื่อที่ 4 “โรคหัวใจ กินยาเฉพาะตอนมีอาการก็พอ”

ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิดนะครับ เพราะดังที่กล่าวข้างต้นว่าหากสุนัขเริ่มแสดงอาการป่วยชัดเจนจากโรคหัวใจแล้ว แสดงว่าสุนัขนั้นกำลังเข้าสู่หรืออยู่ในระยะที่หัวใจล้มเหลวแล้ว ซึ่งถือเป็นระยะของโรคที่มีความรุนแรงหรือ “อาการหนัก” แล้วนั่นเอง ดังนั้นการเริ่มกินยาหรือให้การรักษาในระยะนี้ จะช่วยประคับประคองอาการของสุนัขได้ในระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวสุนัขมักมีอายุขัยที่ไม่ได้ยืนยาวนัก เนื่องจากโรคมักมีการดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และสุนัขอาจมีความจำเป็นต้องได้รับยาหลายชนิดร่วมกันเพื่อควบคุมอาการจากโรคที่เกิดขึ้น โดยในปัจจุบันพบว่ามียาที่ให้ผลดีและสามารถเริ่มให้การรักษาโรคหัวใจได้ตั้งแต่ในระยะที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งหากสุนัขถูกตรวจพบว่ามีภาวะหัวใจโตเกินเกณฑ์จากการทำเอกซเรย์ช่องอกร่วมกับการอัลตราซาวนด์หัวใจ สัตวแพทย์อาจพิจารณาให้ยาเพิ่มการบีบตัวของหัวใจและขยายหลอดเลือด เนื่องจากมีรายงานว่าสามารถช่วยชะลอการเข้าสู่ระยะหัวใจล้มเหลว ลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและเพิ่มคุณภาพชีวิตของสุนัขได้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา นอกจากนี้แม้ว่าสุนัขที่เป็นโรคหัวใจจะมีอาการคงที่หรือดีขึ้นแล้วจากการได้รับยา สุนัขโรคหัวใจก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับยาโรคหัวใจอย่างต่อเนื่อง เจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่ควรเว้นระยะการให้ยาและไม่ควรหยุดยาเอง เพราะอาจทำให้อาการของสุนัขโรคหัวใจทรุดลงได้อย่างรวดเร็ว

ความเชื่อที่ 5 “เมื่อป่วยเป็นโรคหัวใจ เจ้าของไม่มีส่วนช่วยในการรักษา”

เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะความสำเร็จของการรักษาโรคหัวใจนั้นไม่ได้ขึ้นกับสัตวแพทย์ผู้ทำการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่คนที่มีความสำคัญมากไม่แพ้คุณหมอคือเจ้าของสัตว์เลี้ยง แม้จะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การให้ความรักและการดูแลเอาใจใส่ที่เหมาะสมถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สัตว์ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุที่ยืนยาวขึ้นได้ โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการดูแลน้องหมาโรคหัวใจ จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงนั่นเอง เพราะเจ้าของสัตว์เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงที่สุด มีความเข้าใจพฤติกรรม ความชอบของสัตว์เลี้ยงมากที่สุด และจะสังเกตเห็นความผิดปกติของสัตว์เลี้ยงได้เป็นอย่างดี โดยบทบาทของเจ้าของมีได้ตั้งแต่ การป้อนยาอย่างสม่ำเสมอ การให้อาหารและน้ำอย่างเหมาะสม การพาไปพบสัตวแพทย์ตามนัดอย่างเป็นประจำและต่อเนื่อง รวมทั้งการหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติของสุนัข ทั้งทางด้านพฤติกรรม การทำกิจกรรม ความอยากอาหาร ปริมาณน้ำที่ทาน ลักษณะการขับถ่าย และที่สำคัญคือลักษณะการหายใจและการนับอัตราการหายใจขณะหลับ (sleeping respiratory rate) ที่ไม่ควรเกิน 30 ครั้งต่อนาที หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงสังเกตพบความผิดปกติและสัญญาณเตือนของโรคหัวใจดังที่กล่าวข้างต้น ควรรีบพาสัตว์ป่วยไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาน้องหมาแสนรักของเราได้อย่างทันท่วงที

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ จากตัวอย่าง 5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดูแลน้องหมาโรคหัวใจ จะเห็นได้ว่าความเชื่อหรือข้อมูลที่เราได้รับการส่งต่อมาเกี่ยวกับโรคหัวใจในสุนัขนั้น อาจไม่ใช่เรื่องจริงและถูกต้องทั้งหมดเสมอไป อย่างไรแล้วหลังจากอ่านบทความในวันนี้จบ ในครั้งหน้าที่เราได้รับข้อมูลอะไรมาอย่าลืม “เช็ค” กับสัตวแพทย์ให้ชัวร์ก่อนที่จะ “เชื่อ” และ “แชร์” ให้กับเพื่อนๆ ผู้ปกครองเจ้า 4 ขาท่านอื่นๆ ด้วยนะคร้าบ ☺

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch และสามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App เพื่อช่วยในการนับและบันทึกอัตราการหายใจได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

บทความนี้เขียนโดย อ.น.สพ.ธนพล สันติวัฒนธรรม

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

27 JUL 2021
โรคพยาธิหนอนหัวใจในสัตว์เลี้ยง
โรคพยาธิหนอนหัวใจในสัตว์เลี้ยง เกิดจากพยาธิตัวกลมที่ชื่อ Dirofilaria immitis เข้าไปอาศัยอยู่ในหัวใจและปอดของสุนัขหรือแมว โดยยุงเกือบทุกชนิดสามารถเป็นพาหะนำเชื้อนี้ได้
11 FEB 2022
“สุนัขไอเรื้อรัง” อาการที่พบได้บ่อยนี้ นอกจากโรคหัวใจ มีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการไอ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในสุนัข ไม่ว่าจะเป็นอาการที่สุนัขไอแห้ง หรือสุนัขไอเรื้อรัง ก็เป็นหนึ่งในอาการที่ทำให้เจ้าของรู้สึกไม่สบายใจ เมื่อสุนัขในบ้านมีอาการไอเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดขึ้นแบบเรื้อรัง สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้สุนัขไอเรื้อรัง
7 JUL 2022
รู้ก่อนป่วย รักษาก่อนเป็นหนัก “อาการแบบไหน” ที่ต้องเริ่มให้ยารักษาโรคหัวใจ เพื่อจะได้ช่วยให้เค้าอยู่กับเราไปนานๆ
ภาวะโรคหัวใจ หมายถึง ภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ (ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะในสุนัขและแมว) โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของลักษณะโครงสร้าง เช่น ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว กล้ามเนื้อหัวใจเสียความยืดหยุ่นหรืออ่อนแรง ผนังห้องหัวใจรั่ว
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่