โรคหัวใจที่พบได้บ่อยในสุนัขและการจัดการดูแล

30 JUN 2022
share :

หัวใจ ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญและมีความซับซ้อนอีกอวัยวะหนึ่งของร่างกายสุนัข เพราะหัวใจมีหน้าที่สูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย การทำงานที่ผิดปกติของหัวใจสุนัขส่งผลให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจลดลง ทำให้เกิดภาวะการสะสมของน้ำในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความดันร่างกายลดลง และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในสุนัขตามมา

ปัจจุบันโรคหัวใจในสุนัขสามารถพบได้บ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจสุนัขที่เป็นตั้งแต่กำเนิด (Congenital heart disease) หรือโรคหัวใจสุนัขที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired heart disease) ตามหลักฐานทางการแพทย์พบว่า โรคหัวใจในสุนัขที่เป็นตั้งแต่กำเนิดนั้นมีเพียง 5% โดยอีก 95% เป็นโรคหัวใจสุนัขที่เกิดขึ้นภายหลัง โดย 75% ของสุนัขป่วยโรคหัวใจ มักพบในสุนัขสายพันธุ์เล็ก อายุมากกว่า 7 ปี โดยพบปัญหาความเสื่อมของลิ้นหัวใจเรื้อรัง (valvular degeneration) และเกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วตามมา ส่วนในสุนัขสายพันธุ์ใหญ่อายุมากนั้น เรามักพบความผิดปกติของผนังห้องหัวใจอ่อนแรงมากกว่า

โดยโรคหัวใจในสุนัขที่สามารถพบได้บ่อย ได้แก่

1.โรคลิ้นหัวใจเสื่อม (Valve degeneration)

กายวิภาคของหัวใจสุนัขเหมือนกันกับคน คือมีห้องหัวใจ 4 ห้อง และแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งขวาและซ้าย และแยกเป็นห้องบนและล่างโดยมีลิ้นหัวใจคอยเปิดปิด เพื่อกำหนดทิศทางการไหลเวียนของเลือด แต่เมื่อสุนัขมีอายุมากขึ้น มีความเสื่อมของลิ้นหัวใจ เกิดการขรุขระหนาตัวขึ้น และหดรั้งเข้า ทำให้การปิดของลิ้นหัวใจไม่สนิท เกิดช่องว่างระหว่างหัวใจห้องบนและห้องล่างขณะหัวใจบีบตัว ส่งผลให้เลือดมีการรั่วไหลย้อนกลับจากหัวใจห้องล่างขึ้นไปยังหัวใจห้องบน ทำให้ขนาดหัวใจโตขึ้น และเกิดการสะสมของของเหลวในช่องอกหรือช่องท้องตามมา ซึ่งก็คือภาวะหัวใจล้มเหลวนั่นเอง

2.ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงร่วมกับการขยายใหญ่ของห้องหัวใจ (Dilated cardiomyopathy)

เป็นโรคที่มักพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่ สามารถพบความผิดปกติได้ในสุนัข ตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป สายพันธุ์ที่พบได้มาก เช่น Doberman Pinschers, Boxers และ Great Danes เป็นต้น ภาวะที่ผนังกล้ามเนื้อหัวใจบางกว่าปกติและอ่อนแอลง ทำให้ความสามารถในการบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจลดลง ปริมาณเลือดในห้องหัวใจมากขึ้น ทำให้ห้องหัวใจขยายโตขึ้น

3. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Heart arrhythmias)

การบีบตัวของหัวใจนั้นมีคลื่นไฟฟ้าที่มีต้นกำเนิดจากส่วนบนของหัวใจซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้า แล้วส่งกระแสไฟฟ้าไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถพบได้ทั้งชนิดหัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นช้า คลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นแทรก หรือหัวใจหยุดเต้นเป็นบางจังหวะ โดยอาการผิดปกติที่เราสามารถพบได้ เช่น สุนัขอ่อนแรง สุนัขเหนื่อยง่ายขึ้น หรือสุนัขเป็นลม

4.โรคหัวใจในสุนัขที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด (Congenital heart disease)

เป็นความผิดปกติของการพัฒนาของหัวใจสุนัขที่เกิดตั้งแต่เป็นระยะตัวอ่อนในท้องแม่ เช่น 1. ลิ้นหัวใจตีบ (valvular stenosis) 2. การคงอยู่ของหลอดเลือดที่เชื่อมระหว่างเส้นเลือดที่ออกจากหัวใจและเส้นเลือดแดงขนาดใหญ่ ในขณะที่เป็นตัวอ่อน (patent ductus arteriosus) 3. ความผิดปกติของผนังกั้นหัวใจห้องซ้ายและขวา (septal defect) เรามักจะทราบว่าหัวใจสุนัขมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดได้ก็ต่อเมื่อพามาพบสัตวแพทย์และได้รับการตรวจร่างกายและฟังเสียงหัวใจอย่างละเอียด

5.โรคพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm disease)

โรคพยาธิหนอนหัวใจ แม้ไม่ใช่เป็นความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจสุนัขโดยตรง แต่เมื่อสุนัขมีการติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจ ส่งผลให้เกิดการรบกวนการทำงานของหัวใจสุนัข ก่อให้เกิดภาวะหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะสุนัขท้องมานและหัวใจห้องขวาล้มเหลวได้ ซึ่งในประเทศไทยเรายังพบว่ามีการระบาดของโรคพยาธิหนอนหัวใจอยู่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องให้การป้องกันอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ

การจัดการดูแลสุนัขป่วยโรคหัวใจ

ควรสังเกตอาการของสุนัขป่วยโรคหัวใจอย่างใกล้ชิด เช่น สุนัขเบื่ออาหาร ความอยากอาหารลดลง สุนัขน้ำหนักลด สุนัขซึม อ่อนแรง เหงือกซีด เหนื่อยง่ายขึ้น หายใจเร็วและแรง สุนัขไอ สุนัขท้องมานหรือท้องกางขยายใหญ่ขึ้น หรือสุนัขเป็นลม ให้รีบพามาพบสัตวแพทย์ที่ศูนย์โรคหัวใจสุนัขหรือโรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้าน เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาต่อไป

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์นั้น ประกอบด้วย การตรวจร่างกาย การฟังเสียงหัวใจ การตรวจเลือด การถ่ายภาพเอกซเรย์ช่องอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและการตรวจคลื่นสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) เป็นต้น

ส่วนการดูแลสุนัขป่วยโรคหัวใจนั้น เจ้าของถือว่าเป็นบุคคลสำคัญสุดที่ทำให้สุนัขป่วยโรคหัวใจสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราต้องหมั่นคอยสังเกตอาการผิดปกติของสุนัขอย่างใกล้ชิด การนับอัตราการหายใจขณะหลับสนิท (ไม่เกิน 30 ครั้งใน 1 นาที) การป้อนยาอย่างสม่ำเสมอและพาสุนัขไปตรวจกับสัตวแพทย์ตามนัด การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมไม่ออกกำลังกายที่ใช้แรงมากเกินไป และการจำกัดปริมาณเกลือในอาหาร รวมทั้งการให้ความรัก ความเข้าใจและการเอาใจใส่ดูแล ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สุนัขที่ป่วยโรคหัวใจจะมีชีวิตอยู่อย่างยืนยาวและมีความสุข

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

เอกสารอ้างอิง

Buchanan JW, 1977. Chronic valvular disease(endocardiosis) in dogs. Adv Vet Sci Comp Med, 21: 75-106.>

Cunningham SM and Roderick KV, 2019. Treatment of cardiovascular in dog. www.msdvetmanual.com

Drake Centre of Veterinary Care, 2019. Heart disease in dogs. www.thedrakecentre.com

Mara B, Viola Z, Chiara L, Alberto G, Sara G and Paola GB. 2022. Management of Chronic Congestive Heart Failure Caused by Myxomatous Mitral Valve Disease in Dogs: A Narrative Review from 1970 to 2022. Animals 2022,12,209.

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ.กรแก้ว ทองแตง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

19 APR 2022
“อาการไอ” ของสุนัข เราจะทราบได้อย่างไร ว่าเกิดจากโรคหัวใจในสุนัข หรือ โรคอื่น ๆ ?
อาการไอ มักพบเห็นได้บ่อยในสุนัข ไม่ว่าจะเป็นอาการสุนัขไอแห้งหรือสุนัขไอเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สุนัขเกิดอาการไอ นอกจากโรคระบบทางเดินหายใจแล้ว ก็ยังมีสาเหตุจากโรคหัวใจในสุนัขอีกด้วย ก่อนอื่นมาทำความรู้จักก่อนว่าอาการไอของสุนัขเกิดขึ้นได้อย่างไร
18 OCT 2024
ยืดเวลาด้วยยาแท้ ทำไมถึงควรใช้ยาจากแหล่งที่เชื่อถือได้
ปัจจุบันมีสุนัขและแมวได้รับการวินิจฉัยและดูแลทำการรักษาโรคหัวใจมากขึ้น เนื่องด้วยเรามีอุปกรณ์ที่ทันสมัย โรคหัวใจเป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัขสูงวัย และในสุนัขบางพันธุ์มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว ในสุนัขพันธ์เล็กได้แก่ ปอมเมอเรเนี่ยน พุดเดิ้ล ยอร์คเชียร์ เทอเรีย ชิสุ หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขยายใหญ่
31 OCT 2024
การดูแลน้องหมาป่วยโรคหัวใจในภาวะฉุกเฉิน
การดูแลสุนัขที่เป็นโรคหัวใจนั้น ไม่เพียงแต่การดูแลป้อนยาให้สม่ำเสมอ และการดูแลเรื่องอาหารการกินเท่านั้น เราต้องมีการเตรียมรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดจากโรคหัวใจ ที่เราอาจจะพบได้เมื่ออยู่ที่บ้าน เช่น การเป็นลม การหายใจลำบาก เป็นต้น ภาวะฉุกเฉินทางโรคหัวใจ เป็นอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและมีอาการที่รุนแรงจนสามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ฉะนั้นเรามาทำความรู้จักอาการสำคัญที่จะพบได้และวิธีการช่วยเหลือก่อนส่งตัวถึงสัตวแพทย์กันค่ะ
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่