โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงในสุนัข

17 MAY 2021
share :

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงในสุนัขเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติไป ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้น้อย ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายน้อยลง มีผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขยายใหญ่ และเกิดภาวะหัวใจโตตามมา

โรคนี้พบว่าอาจได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือการขาดสารอาหารบางชนิด มักพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น บ็อกเซอร์ โดเบอร์แมน ค็อกเกอร์สแปเนียล โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ ดัลเมเชี่ยน เกรทเดน ไอริชวูล์ฟฮาวด์ โปรตุกีสวอร์เตอร์ด็อก และชเนาเซอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สามารถพบโรคนี้ในสุนัขพันธุ์เล็กได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าโรคนี้สามารถเกิดจากการที่สุนัขได้รับสารพิษหรือยาต้านมะเร็งบางชนิดที่มีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ หรือภาวะการติดเชื้อที่กล้ามเนื้อหัวใจ

อาการ

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง สามารถแบ่งตามอาการได้เป็น 2 ระยะ คือ

1. ระยะที่ไม่แสดงอาการ สุนัขจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆให้เห็น แต่หัวใจเริ่มมีการขยายใหญ่ และมีการบีบตัวได้น้อยกว่าปกติ

2. ระยะที่แสดงอาการ สุนัขมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น อาการหอบ หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย อ่อนแรง ไอ เป็นลม เหงือกซีด ท้องกาง เป็นต้น หรือในบางพันธุ์ เช่น พันธุ์โดเบอร์แมน อาจทำให้เกิดการตายอย่างฉับพลัน

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจำเป็นต้องใช้วิธีการวินิจฉัยหลายวิธีร่วมกัน ในเบื้องต้น สัตวแพทย์จะทำการซักประวัติทั่วไป รวมถึงเรื่องอาหาร ขนม ยา วิตามินที่ได้รับ จากนั้นทำการตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจ เอกซเรย์ช่องอก ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรืออาจมีการตรวจเลือดเพื่อประเมินดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และการทำงานของตับหรือไต ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่พบความผิดปกติอะไร วิธีการวินิจฉัยที่ช่วยบ่งชี้โรคนี้ได้ดีคือ การตรวจอัลตราซาวน์หัวใจ หรือการทำเอ็คโค่หัวใจ เนื่องจากสัตวแพทย์สามารถประเมินการทำงานของหัวใจได้ดี โดยการเห็นภาพภายในหัวใจ เห็นการทำงานและการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ในบางกรณีอาจทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจติดตามตัว 24 ชั่วโมง หรือการตรวจเลือดเพื่อดูตัวบ่งชี้ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือการตรวจสารพันธุกรรม เป็นต้น

การรักษา

เมื่อสุนัขถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงแล้ว มีแนวทางการรักษาดังนี้

1. ระยะที่ไม่แสดงอาการ: ให้ยาช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว ซึ่งพบว่าอาจช่วยชะลอระยะเวลาการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้หลายปีในสุนัขบางพันธุ์

2. ระยะที่แสดงอาการแล้ว: ในกรณีที่สุนัขมีอาการรุนแรง ต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลและได้รับยาที่เหมาะสม ซึ่งอาจมียาหลายชนิด รวมถึงยาช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว เมื่อสุนัขมีอาการคงที่ดี สัตวแพทย์อาจให้เจ้าของพากลับไปดูแลที่บ้าน โดยดูแลตามที่สัตวแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด การพยากรณ์โรคในระยะนี้ สุนัขอาจมีชีวิตอยู่ได้อีก 2-3 เดือน หรืออีกหลายปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษา

คำแนะนำ

ควรพาสุนัขไปตรวจสุขภาพและฟังเสียงหัวใจสม่ำเสมอ ในกรณีสุนัขพันธุ์ใหญ่และเป็นพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม นอกจากนั้นควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี และให้ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจอย่างสม่ำเสมอ ในเรื่องของอาหารควรให้อาหารที่มีโภชนาการที่สมดุล การให้อาหารเสริม เช่น ทอรีน โคเอนไซม์คิวเทน แอลคาร์นิทีน หรือโอเมก้า อาจได้ประโยชน์ในบางกรณี บางกรณีอาจไม่มีความจำเป็น หากมีข้อสงสัยหรือพบอาการผิดปกติ ควรปรึกษาสัตวแพทย์

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

เอกสารอ้างอิง

1. Prosek, R. Dilated Cardiomyopathy in Dogs and Cats. 2019. [online]. Available: https://veterinarypartner.vin.com/default.aspx?pid=19239&id=4952598

2. Stern, J.A., et al. Client information: Myocardial disease in dogs. In: Ettinger, S.J., Feldman, E.C., Cote, E., 2017. Textbook of Veterinary Internal Medicine. 8thEdition. Missouri, Elsevier.

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ.สุชาดา หัทยานานนท์


อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

17 SEP 2021
การดูแลและรักษาสุนัขที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (part 1)
การดูแลรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ต้องคำนึงถึงหลักสำคัญในหลายปัจจัยพิจารณาร่วมด้วย
30 SEP 2024
การดูแลสุขภาพหัวใจ ในสุนัขป่วยโรคหัวใจ
การดูแลสุขภาพหัวใจในสุนัขป่วยโรคหัวใจ เป็นการดูแลแบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นการป่วยในระยะที่ยังไม่แสดงอาการป่วย (asymptomatic) หรือระยะที่แสดงอาการป่วยแล้ว (symptomatic) ซึ่งในกลุ่มแรกอาจมีการใช้ยาตามความเหมาะสม ส่วนในกลุ่มหลังจำเป็นต้องมีการใช้ยาประกอบการรักษาด้วยเสมอ
12 OCT 2023
อันตรายจากการให้ยาโรคหัวใจสัตว์เลี้ยงไม่ต่อเนื่องหรือให้ไม่ถูกต้องเหมาะสม
สาเหตุที่มักทำให้แมวและสุนัขได้รับยาโรคหัวใจไม่สม่ำเสมอ
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่