“อาการไอ” ของสุนัข เราจะทราบได้อย่างไร ว่าเกิดจากโรคหัวใจในสุนัข หรือ โรคอื่น ๆ ?

19 APR 2022
share :

อาการไอ มักพบเห็นได้บ่อยในสุนัข ไม่ว่าจะเป็นอาการสุนัขไอแห้งหรือสุนัขไอเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สุนัขเกิดอาการไอ นอกจากโรคระบบทางเดินหายใจแล้ว ก็ยังมีสาเหตุจากโรคหัวใจในสุนัขอีกด้วย ก่อนอื่นมาทำความรู้จักก่อนว่าอาการไอของสุนัขเกิดขึ้นได้อย่างไร

อาการไอ เป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกายสุนัข เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ โดยเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น สิ่งแปลกปลอม ฝุ่นละออง ควัน สารเคมี สิ่งคัดหลั่ง (mucus) การอักเสบ (inflammation) หรือแรงกดทับ เข้าไปในระบบทางเดินหายใจ จะเกิดการกระตุ้นตัวรับที่ทำให้เกิดอาการไอ (cough receptors) ทำงาน ส่วนใหญ่ตัวรับจะอยู่ที่บริเวณกล่องเสียง หลอดลมใหญ่ (trachea) และหลอดลมบริเวณขั้วปอด (mainstem bronchi) และมีตัวรับจำนวนน้อยลงในบริเวณหลอดลมส่วนปลาย จากนั้นสุนัขจะมีอาการไอเกิดขึ้น โดยแสดงอาการหายใจเข้าแรงขึ้น ตามด้วยอาการไอ เพื่อพยายามผลักสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกไปจากทางเดินหายใจ

อาการไอในสุนัข หากพบนาน ๆ ครั้ง เช่นสัปดาห์ละครั้ง ถือว่าพบได้เป็นปกติ เนื่องจากอาจมีฝุ่นละออง หรือสารเคมีเข้าไประคายเคืองระบบทางเดินหายใจ เมื่อสุนัขไอออกมาแล้วอาการก็จะหายไป แต่หากอาการไอในสุนัขเกิดขึ้นเป็นประจำ เช่นเกิดขึ้นทุกวันหรือเกิดขึ้นทั้งวัน จนรบกวนการใช้ชีวิตปกติ ควรต้องหาสาเหตุเพื่อการวินิจฉัยโรคต่อไป

อาการไอในสุนัขที่เกิดจากโรคระบบทางเดินหายใจ

ระบบทางเดินหายใจแบ่งเป็น ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น และระบบทางเดินหายใจส่วนปลาย และแต่ละส่วนประกอบด้วยอวัยวะดังนี้

ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ประกอบด้วย จมูก โพรงจมูก คอหอย กล่องเสียง

ระบบทางเดินหายใจส่วนปลาย ประกอบด้วย หลอดลม หลอดลมบริเวณขั้วปอด หลอดลมฝอย ถุงลม เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับอวัยวะเหล่านี้ มักทำให้เกิดอาการไอในสุนัขขึ้น เช่น

  • โรคโพรงจมูกอักเสบ อาการไอในสุนัขอาจเกิดจากมีสิ่งคัดหลั่งไหลย้อนเข้าไปในหลอดลม มักพบว่าสุนัขจะมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น สุนัขมีน้ำมูกหรือสุนัขจาม บางครั้งอาจมีโพรงจมูกตัน มีเสียงหายใจดังบริเวณโพรงจมูก
  • โรคเกี่ยวกับกล่องเสียง อาการไอในสุนัขเกิดจากกล่องเสียงอักเสบ มีสิ่งแปลกปลอมที่กล่องเสียง หรือมีก้อนเนื้อบริเวณกล่องเสียงของสุนัข มักพบว่าสุนัขมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น มีเสียงหายใจดังบริเวณกล่องเสียง มีอาการสุนัขหายใจลำบาก มีอาการขย้อน คอบวม
  • โรคหลอดลมอักเสบติดเชื้อ สุนัขมักมีอาการไอเฉียบพลัน และมีอาการไอรุนแรง มักพบว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย
  • โรคหลอดลมตีบ มักพบในสุนัขกลางวัยโดยเฉพาะสุนัขพันธุ์เล็ก มีอาการสุนัขไอแห้ง สุนัขไอเสียงดัง คล้ายเสียงร้องของห่าน
  • โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สุนัขมักมีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 2 เดือน อาการสุนัขไอเรื้อรังมักเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่มีช่วงเวลาที่เกิดอาการชัดเจน
  • โรคพยาธิหนอนหัวใจ และโรคพยาธิในปอด อาการไอในสุนัขที่เกิดจากมีการอักเสบในปอด อาจมีอาการสุนัขหายใจเร็ว สุนัขเหนื่อยง่ายร่วมด้วย มีประวัติไม่ได้รับยาป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ
  • โรคปอดอักเสบ มักมีอาการสุนัขไอ สุนัขหายใจเร็ว และมักมีอาการทางระบบอื่นร่วมด้วย เช่น สุนัขซึม สุนัขมีไข้ สุนัขไม่กินอาหาร
  • มีก้อนเนื้อในช่องอก เกิดจากการที่สุนัขมีก้อนเนื้อทำให้มีแรงดันไปกระตุ้นระบบทางเดินหายใจ จึงทำให้เกิดอาการไอในสุนัขได้ มักพบในสุนัขกลางวัย หรือสูงวัย อาการไม่ชัดเจนหากก้อนเนื้อขนาดเล็ก มักมีอาการสุนัขหายใจเร็ว อาการสุนัขเหนื่อยง่ายร่วมด้วย
  • ภาวะมีของเหลวในช่องอก (pleural effusion) เกิดจากมีแรงดันของของเหลวไปกระตุ้นระบบหายใจ อาจทำให้เกิดอาการสุนัขไอได้ มักมีอาการสุนัขเพลีย สุนัขเหนื่อยง่าย สุนัขเหงือกซีด และมีอาการสุนัขหายใจเร็วร่วมด้วย

อาการไอในสุนัขที่เกิดจากโรคหัวใจในสุนัข

สุนัขเป็นโรคหัวใจในระยะแรก มักไม่แสดงอาการให้เห็น อาการไอในสุนัขที่เกิดจากโรคหัวใจในสุนัข ส่วนใหญ่มักพบในสุนัขมีภาวะหัวใจโตและมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย ในสุนัขพันธุ์เล็กช่วงกลางวัยถึงสูงวัย มักพบว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม ในสุนัขพันธุ์ใหญ่ มักพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ส่งผลให้หัวใจสุนัขมีขนาดโตขึ้น ไปกดทับหลอดลมบริเวณขั้วปอด ซึ่งไปกระตุ้นตัวรับทำให้เกิดอาการไอในสุนัขได้ หากสุนัขมีภาวะหัวใจล้มเหลว กล่าวคือมีน้ำท่วมปอด จะมีการคั่งของหลอดเลือดดำที่ปอด และกระตุ้นตัวรับในปอด (juxtapulmonary receptors) ทำให้เกิดหลอดลมฝอยหดตัวและเพิ่มสิ่งคัดหลั่งในระบบหายใจ ผลทำให้เกิดการกระตุ้นอาการไอในสุนัข และอาจมีอาการขากหลังจากไอร่วมด้วย นอกจากอาการไอแล้ว พบว่ามักมีอาการสุนัขเหนื่อยง่าย สุนัขหายใจเร็ว เยื่อเมือกซีด ในสุนัขบางตัวหากมีอาการไอมากติดต่อกัน อาจเกิดอาการสุนัขเป็นลมได้

ในบางกรณีพบว่าอาการไอในสุนัขเกิดจากโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจร่วมกันได้ เช่นสุนัขพันธุ์เล็กที่เป็นโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม และมีโรคระบบทางเดินหายใจ เช่นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

คำแนะนำ

อย่างไรก็ตามหากสุนัขมีอาการไอหรือมีอาการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นเพียงการคาดคะเนในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นเท่านั้น ไม่อาจช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคว่าเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจในสุนัขได้แน่นอน เจ้าของควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ เพื่อซักประวัติเพิ่มเติม ตรวจร่างกายอย่างละเอียด และสัตวแพทย์จะพิจารณาตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์ช่องอก การตรวจเลือด หรือการทำเอ็คโค่หัวใจ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคต่อไป

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

เอกสารอ้างอิง

1. Hsieh, B.M., Beets, A.K. Coughing in small animal patients. 2019. Frontiers in veterianary science. 6:513.

2. Ferasin, L. Client information: Cough. In: Ettinger, S.J., Feldman, E.C., Cote, E., 2017. Textbook of Veterinary Internal Medicine. 8thEdition. Missouri, Elsevier.

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ.สุชาดา หัทยานานนท์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

31 OCT 2024
การดูแลน้องหมาป่วยโรคหัวใจในภาวะฉุกเฉิน
การดูแลสุนัขที่เป็นโรคหัวใจนั้น ไม่เพียงแต่การดูแลป้อนยาให้สม่ำเสมอ และการดูแลเรื่องอาหารการกินเท่านั้น เราต้องมีการเตรียมรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดจากโรคหัวใจ ที่เราอาจจะพบได้เมื่ออยู่ที่บ้าน เช่น การเป็นลม การหายใจลำบาก เป็นต้น ภาวะฉุกเฉินทางโรคหัวใจ เป็นอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและมีอาการที่รุนแรงจนสามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ฉะนั้นเรามาทำความรู้จักอาการสำคัญที่จะพบได้และวิธีการช่วยเหลือก่อนส่งตัวถึงสัตวแพทย์กันค่ะ
12 OCT 2023
เมื่อรู้ว่าสุนัขเป็นโรคหัวใจแล้วไปไหนต่อ...แชร์ประสบการณ์การดูแลเคสโรคหัวใจ
สุนัขเป็นโรคหัวใจ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว... ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคหัวใจ (heart disease) หมายถึง การที่หัวใจมีความผิดปกติเกิดขึ้น โดยอาจมีสาเหตุมาจากโครงสร้างของหัวใจ หลอดเลือด หรือลิ้นหัวใจอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งอย่างก็ได้
21 JUL 2021
วิธีการวินิจฉัยโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง
โรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง เป็นโรคที่ใช้วิธีการวินิจฉัยหลายวิธีร่วมกัน เริ่มจากการวินิจฉัยโรคหัวใจ เบื้องต้น โดยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย เพื่อประเมินว่าสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจหรือไม่
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่