หมอขอเล่า... หมาอ้วน ดูน่ารัก แต่เสี่ยงสารพัดโรค รวมถึงโรคหัวใจด้วยไหมนะ? ส่องโรคหัวใจแทรกซ้อนที่อาจซ่อนในหมาอ้วน

10 FEB 2023
share :

น้องหมาบ้านใครอวบอ้วน กอดอุ่นบ้าง ยกมือขึ้น …

ถ้าเป็นเรื่องความน่ารัก เต็มไม้เต็มมือ ใครๆ ก็คงอยากมีน้องหมาอวบอ้วนสักหนึ่งตัวเป็นของตัวเอง แต่ในเรื่องของสุขภาพสัตว์เลี้ยงนั้น รู้หรือไม่ว่าหมาอ้วนจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เมื่อเทียบกับน้องหมาหุ่นดี ความอ้วน จัดเป็น “ปัญหาทางสุขภาพ” ที่สำคัญของสัตว์เลี้ยง

ในปัจจุบันเราพบสัตว์เลี้ยงที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานมาเข้ารับการรักษาตามสถานพยาบาลสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้เลี้ยงมีพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ที่เปรียบเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง (Pet humanization) ซึ่งอาจไม่ได้มองสัตว์เลี้ยงเป็นแค่ “เพื่อน” แต่อาจมีสถานภาพเป็นเหมือน “ลูก” หรือ “น้องคนเล็ก” ของบ้านผู้เลี้ยงหรือคุณพ่อคุณแม่อย่างเราๆ จึงมีบทบาทในการเป็นผู้ปกครองที่คอยดูแลสารทุกข์สุขดิบของสมาชิกในครอบครัว (Pet parent) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่ อาหารการกิน อารมณ์ความรู้สึก หรือแม้แต่เรื่องของสุขภาพ

ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่นต่างมีรายงานปัญหาโรคอ้วนในสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากสถิติในภาพรวม เมื่อนำสัตว์เลี้ยงมา 5 ตัว จะพบว่ามีน้อง ๆ อย่างน้อย 2 ตัว ที่กำลังประสบปัญหาโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน

แต่เดี๋ยวก่อน…ก่อนที่เราจะปรักปรำน้อง เรามานิยามคำว่าอ้วนในสัตว์เลี้ยงกันก่อนดีกว่า ...

สัตว์เลี้ยงที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานประมาณ 20 % จะถือว่ามีปัญหาโรคอ้วน โดยอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น อายุ เพศ พันธุกรรม การทำหมัน การให้อาหาร หรือพฤติกรรมการเลี้ยงดูจากผู้ปกครองเอง

แม้น้องหมาที่อ้วนจะมีรูปลักษณ์ที่น่ารัก น่าเอ็นดูเป็นพิเศษ ใครเห็นเป็นต้องแวะเข้ามาเล่นด้วย แต่ภายใต้ความน่ารักนี้ก็แอบแฝงไปด้วยโรคร้ายที่อาจทำให้น้องหมาของเราต้องป่วยด้วยโรคต่างๆ ตามมา

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาความอ้วนนั้นส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ชัดเจน เช่น ปัญหากระดูกและข้อ หรือโรคที่มากไปกว่านั้นอย่างโรคผิวหนัง โรคเบาหวาน โรคในระบบทางเดินหายใจ หรือแม้แต่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกบางชนิด แต่ผู้ปกครองหลายๆ ท่านรู้หรือไม่ว่า อวัยวะสำคัญอย่าง “หัวใจ” ก็เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากการปัญหาการมีไขมันส่วนเกินสะสมในร่างกาย

แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีการศึกษาวิจัยใดที่ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างความอ้วนและการเกิดโรคหัวใจชนิดใดชนิดหนึ่งเหมือนกับโรคหัวใจในคน เพราะในคนนั้นโรคอ้วนมักทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้โดยตรง จากระดับของคอเลสเตอรอลและไขมันสะสมในร่างกายที่สูงกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดการอุดตันของหลอดเลือดและพัฒนากลายเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้

แต่ในสุนัข ความอ้วนจะส่งผลกระทบที่ไม่ดีกับโครงสร้างหัวใจ และการทำงานของหัวใจได้ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เมื่อเทียบกับสุนัขที่มีน้ำหนักปกติ สุนัขที่อวบอ้วนเกินเกณฑ์จะมีผนังของหัวใจห้องล่างซ้ายที่หนาตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การคลายตัวเพื่อรับเลือดของหัวใจห้องล่างซ้ายทำได้ลดลง นอกจากนี้สุนัขที่อ้วนมักมีปัญหาการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ซึ่งความดันโลหิตนี้จะก่อให้เกิดแรงต้านในการบีบตัวของหัวใจ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้นในการพยายามส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลเสียกับการทำหน้าที่ของหัวใจในระยาว นอกจากนี้ บางงานวิจัยยังรายงานถึงผลกระทบที่ไม่ดีของความอ้วนต่อความสามารถในการบีบตัวหรือสูบฉีดเลือดของหัวใจ เมื่อทำการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง

เห็นแล้วใช่ไหมว่า… ความจ้ำม่ำน่ารัก น่าเอ็นดู นั้นแฝงไปด้วยโรคร้ายที่ซ่อนเร้นอยู่มากมาย และอวัยวะสำคัญอย่างหัวใจก็เป็นอีกหนึ่งอวัยวะหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไปด้วยนะครับ

รู้อย่างนี้แล้ว เราสามารถฟันธงไปได้เลยว่า ..."ความอ้วน" ไม่ใช่เรื่องปกติของสัตว์เลี้ยง หากแต่เป็น "โรคและความเจ็บป่วย" ที่ต้องได้รับการรักษา.. นั่นก็คือการ "ลดน้ำหนัก" นั่นเอง ซึ่งคุณเจ้าของสามารถขอคำแนะนำได้จากสัตวแพทย์ใกล้บ้านนะครับ.

อ่านบทความหมอขอเล่าในฉบับนี้จบแล้ว อย่าลืมลองหันมองเจ้าขนปุยข้างๆดูกันว่า ตอนนี้ถึงเวลาออกกำลังกายแล้วหรือยัง

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

เอกสารอ้างอิง

https://wsava.org/wp-content/uploads/2020/01/Body-Condition-Score-Dog.pdf

https://www.aaha.org/globalassets/02-guidelines/weight-management/weightmgmt_bodyconditionscoring.pdf

https://www.akc.org/expert-advice/nutrition/breed-weight-chart/

https://dogslim.com/articles/dog-weight-chart.html

บทความนี้เขียนโดย อ.น.สพ.ธนพล สันติวัฒนธรรม

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

17 MAY 2021
โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อมในสุนัข (Canine degenerative mitral valve disease)
ลิ้นหัวใจไมทรัลคืออะไร? สุนัขนั้นมีหัวใจ 4 ห้องเช่นเดียวกับคน ห้องหัวใจฝั่งขวาจะรับเลือดดำมาแล้วส่งไปฟอกที่ปอด จากนั้นเลือดแดงที่ผ่านการฟอกที่ปอดแล้วจึงกลับมายังห้องหัวใจฝั่งซ้าย
12 SEP 2023
การปรับและควบคุมอาหารเป็นเรื่องสำคัญเมื่อมีปัญหาหัวใจ
ปัจจุบันโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยงนั้นพบได้เยอะขึ้น ด้วยปัจจัยขององค์ความรู้และวิทยาการต่างๆ ทำให้สัตวแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้มากขึ้น รวมทั้งการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของส่งผลให้สัตว์ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น ความเสี่ยงจากโรคชราจึงเลี่ยงได้ยาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือโรคหัวใจนั่นเอง
18 JUL 2024
“เตรียมรับมือ รู้จักระยะของโรคหัวใจในสุนัข”
เมื่อพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์และหากสุนัขของเราได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ เชื่อว่าสิ่งแรกที่วิ่งเข้ามาในหัวของเจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายท่านคือภาพอาการที่รุนแรงของโรคหัวใจ เช่น การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรืออาการหัวใจวายแบบที่เราเห็นกันได้บ่อยๆ ในภาพยนตร์หรือซีรีส์ แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า แท้จริงแล้วคำว่าโรคหัวใจในสุนัขมีความหมายที่กว้างกว่านั้น และโรคหัวใจส่วนใหญ่ที่เราเจอกันในทางคลินิกเป็นโรคที่มีการดำเนินไปอย่างเรื้อรังและประกอบด้วยระยะต่างๆ
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่