“สุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจ” ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมแบบไหนที่เหมาะสม

2 NOV 2022
share :

สุนัขและแมวที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะในระยะที่รุนแรงจนเกิดหัวใจล้มเหลว มีน้ำท่วมปอดหรือท้องมานแล้ว การพาสัตว์เลี้ยงออกกำลังกายอย่างหนักบางประเภท เช่น วิ่งไล่สิ่งของ หรือว่ายน้ำ จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจของสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวใจของสุนัขและแมวทำงานหนัก ดังนั้นเจ้าของจึงควรหลีกเลี่ยงการพาสัตว์เลี้ยงออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเหล่านั้น แต่ทั้งนี้การออกกำลังกายก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะในสุนัข เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีร่างกายแข็งแรง สภาพจิตใจดี และเป็นการรักษารูปร่างให้เหมาะสม อีกทั้งการพาสัตว์เลี้ยงออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมร่วมกันถือเป็นการสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยงอีกด้วย วันนี้หมอจะมาแนะนำการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่สุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจและเจ้าของสามารถทำได้นะคะ

1. เดินเล่น

ระยะเวลา: 5-30 นาที, ระดับความยาก: ปานกลาง, ค่าใช้จ่าย: ฟรี

อุปกรณ์: ถุงเก็บอุจจาระ สายจูง

แน่นอนว่าการพาสัตว์เลี้ยงออกกำลังกายโดยการพาสัตว์เลี้ยงเดินหรือวิ่งอย่างหนัก เช่น การวิ่งไล่สิ่งของหรือการเดินขึ้นเขานั้น ไม่เหมาะสำหรับสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจ แต่การพาสัตว์เลี้ยงออกกำลังกายโดยการพาสัตว์เลี้ยงเดินเล่นเบา ๆ ในช่วงที่อากาศดี แดดไม่ร้อนจัด เป็นการออกกำลังกายเพื่อช่วยรักษารูปร่างของสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจ และยังช่วยทำให้สัตว์เลี้ยงของคุณอารมณ์ดี มีความสุข และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจได้ด้วย ทั้งนี้เจ้าของควรสังเกตอาการของสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจอย่างใกล้ชิดระหว่างการเดินด้วย

ขั้นตอนที่ 1 เลือกเวลาเดิน ควรเลือกวันที่ฝนไม่ตก อากาศไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป ไม่มีแดดจัด และหากสุนัขหรือแมวของคุณกลัวหรือตื่นเต้นมากเมื่อพบกับผู้คนหรือสัตว์เลี้ยงตัวอื่น เจ้าของอาจเลือกช่วงเวลาระหว่างวัน เพื่อลดโอกาสการพบสัตว์เลี้ยงตัวอื่นลงได้

ขั้นตอนที่ 2 เลือกสถานที่ เจ้าของอาจเลือกสถานที่เดินเล่นเป็นสวนหย่อมใกล้บ้านที่เดินทางสะดวกเป็นสถานที่ประจำในการเดินเล่น แต่ในบางครั้งการเปลี่ยนสถานที่เดินเล่นใหม่ ๆ เช่น ริมแม่น้ำหรือสวนสาธารณะที่แปลกออกไป ก็ช่วยทำให้สุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจของคุณได้พบเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ และช่วยลดความเบื่อหน่ายที่ดีด้วย

ขั้นตอนที่ 3 สังเกตอาการสัตว์ป่วย ความเครียดและการออกกำลังกายสามารถกระตุ้นให้หัวใจของสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจเต้นเร็วและทำงานหนักขึ้น หากเจ้าของสังเกตว่าสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจของคุณเริ่มเดินช้าลง เริ่มแสดงท่าทางเหนื่อย หรือว่ามีอัตราการหายใจที่ถี่และเร็วขึ้น ขอให้หยุดพักก่อน หรืออาจตัดเส้นทางการเดินวันนั้นให้สั้นลง

2. เล่นซ่อนหา

ระยะเวลา: 5-30 นาที, ระดับความยาก: ง่าย, ค่าใช้จ่าย: ฟรี

อุปกรณ์: ขนมเพื่อเป็นรางวัล

การเล่นซ่อนหาเป็นกิจกรรมที่สนุกและสามารถเล่นได้กับสัตว์เลี้ยงทั่วไป โดยเฉพาะในสุนัข สามารถเล่นซ่อนหากับสุนัขได้แทบทุกสายพันธุ์ การเล่นซ่อนหาเป็นกิจกรรมที่ใช้สมอง ใช้ความเฉลียวฉลาด และทักษะในการแก้ไขปัญหา และหากเจ้าของเล่นซ่อนหากับสุนัขแบบควบคุมได้ ไม่ทำให้สุนัขตื่นเต้นมากจนเกินไป การเล่นซ่อนหาก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานมากทีเดียว อีกทั้งการเล่นซ่อนหายังเป็นกิจกรรมที่เด็กและสมาชิกคนอื่นในบ้านสามารถร่วมเล่นกับสุนัขได้ด้วย

ขั้นตอนที่ 1 เลือกของรางวัล ขนมสุนัขและแมวที่ขายตามท้องตลาดนั้น มักมีปริมาณไขมัน เกลือ หรือน้ำตาลที่มากเกินไป ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงและทำให้เกิดภาวะอ้วน โดยเฉพาะปริมาณเกลือที่มากเกินไป จะส่งผลเสียต่อโรคหัวใจในสุนัขและโรคหัวใจในแมวโดยตรง การเล่นซ่อนหานั้น สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจไม่ได้ต้องการของรางวัล แต่หากบางตัวต้องการขนมเพื่อล่อใจในการเล่นให้สนุกมากขึ้น การเลือกขนมที่มาจากธรรมชาติ มีแคลอรีต่ำ เช่น แครอท หรือแตงโมชิ้นเล็ก ๆ ก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าขนมสุนัขและแมวทั่วไป

ขั้นตอนที่ 2 เลือกสถานที่ซ่อน ในการเล่นซ่อนหาครั้งแรก เจ้าของอาจเลือกซ่อนในที่ที่สัตว์เลี้ยงสามารถมองเห็นได้เล็กน้อย เช่น ตู้เสื้อผ้าที่ประตูเปิดออกครึ่งบาน หรือบริเวณใต้เตียงโดยให้แขนยื่นออกมาข้างหนึ่ง เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของคุณเข้าใจไอเดียในการเล่นซ่อนหา และในการเล่นซ่อนหาครั้งถัด ๆ ไป ก็อาจเลือกสถานที่ที่เพิ่มความท้าทายในการค้นหาให้สัตว์เลี้ยงมากขึ้น

ขั้นตอนที่ 3 รออย่างอดทนหรือใช้เสียงเรียก ในขณะที่สัตว์เลี้ยงกำลังตามหาเจ้าของอยู่นั้น หากเจ้าของรู้สึกว่าสัตว์เลี้ยงไปผิดเส้นทางมากเกินไป อาจเรียกชื่อสัตว์เลี้ยงเพื่อให้สัตว์เลี้ยงมองหาที่ซ่อนที่ถูกตำแหน่งมากขึ้น และเมื่อสัตว์เลี้ยงเจอเจ้าของที่ซ่อนอยู่แล้ว อย่าลืมให้รางวัลด้วยการแสดงความรัก กล่าวชม หรือให้ขนมที่เตรียมไว้แก่สัตว์เลี้ยงด้วย เจ้าของไม่ควรลืมว่าอย่ากระตุ้นให้สุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจรู้สึกตื่นเต้นหรือตกใจจนเกินไป เพราะสามารถกระตุ้นให้หัวใจของสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจเต้นเร็วและทำงานหนักขึ้นได้ หากเจ้าของสังเกตว่าสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจรู้สึกเครียดในการหามากเกินไป อาจยุติการเล่นเกมได้

3. Doga (การฝึกโยคะไปพร้อมกับสุนัข)

ระยะเวลา: 15-30 นาที, ระดับความยาก: ปานกลาง, ค่าใช้จ่าย: ฟรี หรือไม่แพงมาก

อุปกรณ์: เสื่อโยคะ

การออกกำลังกายของสุนัขป่วยโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ ที่ทำให้หัวใจสุนัขเต้นเร็ว แต่เพื่อให้สุนัขป่วยโรคหัวใจมีคุณภาพชีวิตที่ดี การฝึกให้สุนัขป่วยโรคหัวใจออกกำลังกายระดับเบานั้นก็สามารถทำได้ และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับเจ้าของด้วย

ในมนุษย์ โยคะเป็นกิจกรรมที่ใช้ในการเหยียดกล้ามเนื้อ ลดความเครียด และผ่อนคลายจิตใจ ส่วน Doga ที่เป็นโยคะแนวใหม่สำหรับสุนัขนั้น คือการปรับใช้ท่าโยคะต่าง ๆ ให้เจ้าของกับสุนัขสามารถออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กันได้ ซึ่ง Doga กำลังเป็นการออกกำลังกายที่กำลังนิยมกันในต่างประเทศ

ขั้นตอนที่ 1 ประเมินสุขภาพกับคุณหมอ การประเมินสุขภาพและโรคโดยรวมเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุนัขหรือแมวชราที่อาจมีการป่วยเรื้อรังด้วยโรคกระดูก ข้อ สะโพก หรือโรคหัวใจ ซึ่งอาจจะต้องหลีกเลี่ยงท่าโยคะบางท่า หากสัตว์เลี้ยงของคุณไม่ได้ตรวจสุขภาพกับคุณหมอมานานแล้ว เจ้าของควรพาสัตว์เลี้ยงไปรับการตรวจวินิจฉัยก่อนเริ่มตัดสินใจทำกิจกรรมใหม่

ขั้นตอนที่ 2 เลือกวิธีโยคะในแบบคุณ หากคุณและสัตว์เลี้ยงเป็นประเภทชอบเข้าสังคม ชอบพบปะทำกิจกรรมร่วมกับคนหมู่มาก เป็นการดีในการเลือกเล่นโยคะแบบเป็นคลาส โดยมีครูสอนโยคะนำการทำท่าต่าง ๆ แต่ในทางตรงข้าม หากสุนัขของคุณเป็นสุนัขที่ค่อนข้างรักสันโดษ การเลือกเรียนโยคะจากหนังสือหรือคลิปวีดิโอน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสม

ขั้นตอนที่ 3 ได้เวลา Doga! อย่าลืมว่ากิจกรรมโยคะนั้นเป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานและผ่อนคลาย ท่าโยคะบางท่าอาจต้องมีการยกตัวสุนัขขึ้น หรือต้องจัดให้สุนัขอยู่ในตำแหน่งที่ไม่คุ้นเคย หากสุนัขแสดงท่าทางไม่สะดวกหรือเครียดมากเกินไป อย่าพยายามฝืนในการจัดท่าทางดังกล่าวให้แก่สุนัข

สามกิจกรรมนี้เป็นตัวอย่างของการออกกำลังกายและกิจกรรมที่เจ้าของสามารถทำร่วมกับสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การเล่นเกมหรือของเล่นที่ใช้สมอง การนวดสุนัข การฝึกให้ทำตามคำสั่งง่าย ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ตามที่กล่าวในข้างต้นว่าสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัข ต้องการการออกกำลังกาย เพื่อให้มีร่างกายที่แข็งแรง มีความสุข และส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์ของสัตว์เลี้ยง แต่ในสุนัขป่วยโรคหัวใจนั้น ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือการออกกำลังกายหนัก ทางที่ดีควรได้รับการประเมินจากคุณหมอว่าสุนัขสามารถทำกิจกรรมได้หนัก-เบาเพียงใด เพื่อสร้างสุขภาพกายและใจที่ดี เพิ่มคุณภาพชีวิตของสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจ พร้อมสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าของด้วยนะคะ

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ.ธนวัน มังคละพฤกษ์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

7 JUL 2022
รู้ก่อนป่วย รักษาก่อนเป็นหนัก “อาการแบบไหน” ที่ต้องเริ่มให้ยารักษาโรคหัวใจ เพื่อจะได้ช่วยให้เค้าอยู่กับเราไปนานๆ
ภาวะโรคหัวใจ หมายถึง ภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ (ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะในสุนัขและแมว) โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของลักษณะโครงสร้าง เช่น ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว กล้ามเนื้อหัวใจเสียความยืดหยุ่นหรืออ่อนแรง ผนังห้องหัวใจรั่ว
11 JAN 2022
การประเมินอาการสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือมีภาวะหัวใจล้มเหลวที่บ้าน
เมื่อสัตว์เลี้ยงของเรา มีอาการที่ผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก มีอาการไอแห้งบ่อย ๆ ในสุนัข หรือแสดงอาการไม่ใช้สองขาหลังเฉียบพลัน ซึ่งมักพบได้บ่อยในแมว เจ้าของควรนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ หลังจากทำการตรวจวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์แล้ว
12 OCT 2023
อันตรายจากการให้ยาโรคหัวใจสัตว์เลี้ยงไม่ต่อเนื่องหรือให้ไม่ถูกต้องเหมาะสม
สาเหตุที่มักทำให้แมวและสุนัขได้รับยาโรคหัวใจไม่สม่ำเสมอ
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่