น้องหมาก็เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ อันตรายเสี่ยงโรคหัวใจ

14 JUN 2024
share :

โรคความดันโลหิตสูงเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นเนื่องจากส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและอายุของน้องหมามากขึ้น ภาวะความดันโลหิตสูงหรือ systemic hypertension นั้นเป็นภาวะที่มีการเพิ่มสูงขึ้นของความดันโลหิตในขณะหลอดเลือดหดตัว (systolic blood pressure, SBP) เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากภาวะนี้ความรุนแรงจะไม่ได้เกิดขึ้นกับชีวิตของน้องหมาแบบฉับพลัน แต่ความเสียหายจะค่อย ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง ในร่างกายที่ “อวัยวะเป้าหมาย” หรือ Target organ damage (TOD) หลักๆ 4 ระบบ คือ ตา ไต หัวใจและสมอง ถ้าความดันสูงเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ในหลายระบบได้ ดังนั้นจึงควรมีการตรวจความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอและบ่อยครั้งมากขึ้น การวัดค่าความดันโลหิตนั้นมีวิธีการวัด 2 แบบ คือ

1. การวัดทางตรง (Direct blood pressure) โดยทำการใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงเพื่อทำการวัดความดัน แม้จะเป็นวิธีมาตรฐาน (Gold standard) แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้น้องหมาต้องเจ็บตัว

2. การวัดทางอ้อม (Indirect blood pressure) มี 2 แบบ โดยการใช้เครื่องมือ Doppler หรือ oscillometers ในการวัดความดัน

สิ่งสำคัญไม่แพ้เครื่องมือที่ใช้ในการวัดความดันโลหิตคือ ขั้นตอนการวัดความดันโลหิตเพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้องและแม่นยำ โดยสามารถทำได้ดังนี้

1.) ต้องทำการทวนสอบ (calibration) อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการวัดความดันสม่ำเสมอ แนะนำให้ทำ 2 ครั้งต่อปี

2.) ต้องทำการวัดในสถานที่เงียบและแยกจากห้องที่มีสัตว์อื่นอยู่ แนะนำให้เจ้าของอยู่กับน้องหมาขณะที่ทำการวัดตลอด ไม่ควรใช้ยาซึมและควรให้สุนัขปรับสภาพกับสถานที่ประมาณ 5-10 นาทีก่อนเริ่มดำเนินการตรวจวัดความดัน ควรทำการวัดในขณะที่สุนัขปรับตัวแล้วและรู้สึกสบายตัว

3.) จับบังคับในขณะวัดด้วยความนุ่มนวลและให้สุนัขนอนในท่าที่สบายตัว ส่วนใหญ่จะให้นอนคว่ำหรือนอนตะแคง และตำแหน่งที่ใช้วัดไม่ห่างจากระดับหัวใจเกิน 10 ซม. ในแนวตั้ง หากระยะห่างมากกว่า 10 ซม. ต้องทำการปรับค่าความดันที่วัดมาได้ โดยการเพิ่ม 0.8 มม.ปรอทต่อระยะ 1 ซม.ที่ต่ำกว่าหัวใจหรือลด 0.8 มม.ปรอทต่อระยะ 1 ซม.ที่สูงกว่าหัวใจ

4.) ขนาดปลอกที่ใช้วัด (cuff) จะคิดเป็น 30-40 % ของความยาวรอบวงของตำแหน่งที่วัด

5.) ตำแหน่งที่วัดจะเป็นขาหรือหางก็ได้

6.) วัดซ้ำ 5-7 รอบและทำการบันทึกค่าที่ได้ สามารถทำซ้ำได้หากไม่มั่นใจแล้วหาค่าเฉลี่ย

7.) ต้องทำการบันทึกคนที่ทำการตรวจ ขนาดปลอกที่ใช้วัด ตำแหน่งที่ใช้วัด ค่าที่วัดได้ทั้งหมด รวมไปถึงค่าเฉลี่ยที่ได้และการแปลผลด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น สายพันธุ์ อายุ เพศ หรือความดันโลหิตที่สูงเป็นผลมาจาก white coat syndrome คืออาการของความเครียดในสุนัขเมื่อถูกพามาโรงพยาบาล และค่าความดันโลหิตที่สูงในสุนัขบางตัวอาจไม่ได้ส่งผลให้เกิดโรคตามมา โดยทั่วไปแบ่งภาวะความดันโลหิตสูงได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. ภาวะความดันโลหิตสูงจากสภาวะรอบข้างหรือมีความเครียดเป็นตัวกระตุ้น (Situational hypertension)

2. ภาวะความดันโลหิตสูงแบบทุติยภูมิ (Secondary hypertension) เกิดความดันโลหิตเพิ่มสูงเป็นระยะเวลานานโดยอาจจะมีโรคหรือภาวะอื่นที่เป็นสาเหตุของภาวะความดันโลหิตโลหิตสูงได้

  • 2.1 โรคที่พบว่าเป็นสาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูงในสุนัข ได้แก่ ไตวายเรื้อรัง ไตวายเฉียบพลัน โรคที่มีการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตมากเกิน (hyperadrenocorticism) เบาหวาน โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (pheochromocytoma) เป็นต้น
  • 2.2 ยาหรือสารที่มีผลทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ได้แก่ ยาสเตียรอยด์
  • 2.3 สารพิษที่มีทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง

3. ภาวะความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิ (Idiopathic/Primary/Essential hypertension) ภาวะความดันโลหิตสูงแบบไม่ทราบสาเหตุ โดยวินิจฉัยพบระดับความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานร่วมกับการตรวจค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ค่าเคมีในเลือด และผลตรวจปัสสาวะ (urinalysis) ปกติ ทำให้การตรวจไม่พบสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิต

ซึ่งมาตรฐานความดันเลือดปกติ คือ น้อยกว่า 140 มม.ปรอท ความดันเลือด 140 – 159 มม.ปรอท ควรทำการวัดซ้ำ มีความเสี่ยงน้อย ความดันเลือด 160 – 179 มม.ปรอท มีความเสี่ยงปานกลางและเริ่มส่งผลเสียต่ออวัยวะเป้าหมาย หากความดันเลือดมากกว่า 180 มม.ปรอท จะส่งผลเสียรุนแรงต่ออวัยวะเป้าหมาย ควรทำการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อน

อาการในสุนัขที่มีความดันโลหิตสูงมักไม่แสดงอาการ แต่หากมีความรุนแรงมากอาจพบอาการ ชัก เดินเซหรือเดินวนเป็นวงกลม มึนงง รูม่านตาขยาย มีเลือดออกที่ดวงตา จอประสาทตาลอกหลุด ตาบอด ปัสสาวะมีเลือด พบโปรตีนในปัสสาวะ มีเลือดออกจมูก ไตมีการบวมหรือหดตัว เสียงหัวใจผิดปกติ อ่อนแรง

ความดันโลหิตสูงมีผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของหัวใจ หากเกิดภาวะความดันในหลอดเลือดสูงจะทำให้เกิดแรงต้านการทำงานของหัวใจ ผลที่ตามมา คือ หัวใจล่างซ้ายเกิดการหนาตัวขึ้น บางครั้งพบหัวใจเต้นผิดจังหวะและได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติเมื่อสัตวแพทย์ได้ทำการตรวจร่างกาย หากมีความรุนแรงและเป็นระยะเวลานานส่งผลต่อหัวใจ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด แต่พบได้น้อยมาก นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดเกิดภาวะเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ทำให้สมองขาดเลือด และอาจทำให้หลอดเลือดแดง aorta แตก เป็นต้น

วิธีการรักษา

ในการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงนั้นมีเป้าหมายในการรักษาหรือการให้ยาลดความดันเพื่อจะลดความเสียหายหรือลดความรุนแรงของอวัยวะเป้าหมาย โดยทั่วไปภาวะความดันโลหิตสูงไม่ควรที่จะให้ยาเพื่อทำให้ความดันตกอย่างรวดเร็วเกินไป ดังนั้นเป้าหมายการรักษาให้ลดความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140 มม.ปรอท เพื่อลดความเสี่ยงของอวัยวะเป้าหมาย ควรทำการปรับยาลดความดันให้เหมาะสมและทำการตรวจประเมินซ้ำอีกครั้งเมื่อพบว่าความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 160 มม.ปรอท และในทางตรงกันข้ามหากพบว่าความดันโลหิตน้อยกว่า 120 มม.ปรอท ร่วมกับน้องหมามีอาการอ่อนแรง (weakness) เป็นลม (syncope) หรืออัตราการเต้นของหัวใจมากกว่าปกติ (tachycardia) บ่งชี้ถึงภาวะความดันโลหิตต่ำ (hypotension) ซึ่งควรทำการปรับลดยาลดความดันให้ทันท่วงทีอย่างเหมาะสม ชนิดของยาลดความดันมีหลายชนิด โดยสัตวแพทย์จะเป็นผู้แนะนำชนิดของยาลดความดันให้เหมาะสมกับชนิดของโรคหรือสาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง

ควรปรับอาหารโดยให้อาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำและรักษาโรคที่เป็นสาเหตุไปพร้อมกัน ร่วมกับการลดน้ำหนักในน้องหมาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ดังนั้นน้องหมาที่เริ่มเข้าสู่อายุช่วงสูงวัยและมีความเสี่ยงควรพาน้องหมามาตรวจสุขภาพและวัดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอ

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch และสามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App เพื่อช่วยในการนับและบันทึกอัตราการหายใจได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ. ชัญภร กวางรัตน์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

19 APR 2022
“อาการไอ” ของสุนัข เราจะทราบได้อย่างไร ว่าเกิดจากโรคหัวใจในสุนัข หรือ โรคอื่น ๆ ?
อาการไอ มักพบเห็นได้บ่อยในสุนัข ไม่ว่าจะเป็นอาการสุนัขไอแห้งหรือสุนัขไอเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สุนัขเกิดอาการไอ นอกจากโรคระบบทางเดินหายใจแล้ว ก็ยังมีสาเหตุจากโรคหัวใจในสุนัขอีกด้วย ก่อนอื่นมาทำความรู้จักก่อนว่าอาการไอของสุนัขเกิดขึ้นได้อย่างไร
12 OCT 2023
น้องหมาอายุน้อยก็เป็นโรคหัวใจได้ เกิดจากอะไร ป้องกันได้ไหมนะ?
น้องโรวา ดัลเมเชียนอายุ 2 เดือน มาตรวจสุขภาพเพื่อทำวัคซีนเข็มแรก คุณหมอประจำบ้านตรวจพบเสียงลิ้นหัวใจรั่ว ดังฟู่วววววว ๆๆๆ จากการใช้สเตทโตสโคปฟังเสียงหัวใจ จึงรีบส่งตัวมาพบคุณหมอเฉพาะโรคหัวใจ คุณแม่ของน้องเล่าให้ฟังว่า
8 MAY 2024
สุนัขหายใจหอบ เหนื่อยง่าย อย่าเพิกเฉย อาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจ
อาการหอบ หมายถึง อาการที่สุนัขหายใจถี่กว่าปกติ โดยปกติเราสามารถเห็นอาการหอบของสุนัขได้บ่อยๆ เช่น หลังจากวิ่งเล่นออกกำลังกาย หลังจากเห่า หรือในสภาพอากาศร้อน โดยเมื่อสุนัขได้พักสักครู่หรือหลีกเลี่ยงสภาพอากาศร้อน อาการหอบก็จะหายไปเอง โดยที่สุนัขไม่ได้มีความผิดปกติอะไร แต่หากว่าอาการหอบเหล่านี้ไม่หายไป แล้วรู้สึกผิดสังเกต เราจะทำอย่างไร มาทำความรู้จักกับอาการหอบกันค่ะ
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่