คำแนะนำจากคุณหมอ-เคล็ดลับการดูแลรักษาแมวป่วยโรคหัวใจให้เค้าอยู่กับเราไปอีกนาน

19 APR 2022
share :

เมื่อความสำเร็จในการรักษาโรคหัวใจในแมวนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงกับคุณหมอผู้ทำการรักษาน้องแมวเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการดูแลน้องแมวจากเจ้าของด้วย บทความนี้จึงแนะนำให้เจ้าของลองมาดูกันว่าควรดูแลแมวเป็นโรคหัวใจอย่างไร ให้เค้าสามารถอยู่กับเราไปได้อีกนาน

ก่อนอื่น ต้องทราบก่อนว่าอาการโรคหัวใจในแมวที่อันตรายและพบบ่อยได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลวแบบมีน้ำท่วมปอด ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงใหญ่ และเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน แต่ทั้งนี้ไม่ใช่แมวเป็นโรคหัวใจทุกตัวที่จะแสดงอาการเช่นนั้น แมวป่วยโรคหัวใจนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นสองระยะใหญ่ ได้แก่ ระยะที่ไม่แสดงอาการ (asymptomatic stage) และ ระยะที่แสดงอาการ (symptomatic stage) สำหรับโรคหัวใจในแมวแบบที่ไม่แสดงอาการนั้น อาจตรวจพบได้จากการที่คุณหมอพบความผิดปกติของหัวใจแมวโดยบังเอิญ โดยการพบเสียงการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติขณะตรวจร่างกายทั่วไป หรือจากการตรวจพบขนาดของหัวใจแมวใหญ่กว่าปกติจากฟิล์มถ่ายเอกซเรย์ช่องอก การดูแลแมวป่วยโรคหัวใจในระยะที่ยังไม่แสดงอาการนั้น อาจไม่ต้องดูแลเข้มข้นเท่าแมวป่วยที่แสดงอาการแล้ว โดยทั่วไปเจ้าของควรหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในน้องแมว ได้แก่ อาการหายใจลำบาก แมวอ่อนแรง แมวเป็นลม หรือมีอาการสองขาหลังหรือขาใดขาหนึ่งเดินเป็นอัมพาตแบบเฉียบพลัน ซึ่งหมายถึงว่าน้องแมวของคุณได้ข้ามเข้าสู่ระยะโรคหัวใจแมวแบบแสดงอาการแล้ว แต่หากน้องแมวของคุณยังโชคดี ไม่มีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมาเลย สิ่งที่เจ้าของควรทำคือ พาน้องแมวไปตรวจร่างกายและตรวจหัวใจตามนัดหมายของคุณหมอ โดยทั่วไปคุณหมอมักจะทำการนัดตรวจร่างกายและเอกซเรย์ช่องอกทุก 3-6 เดือน และทำการเอคโค่ (echocardiography หรือการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง) หัวใจทุก 4-12 เดือน ทั้งนี้ระยะห่างในการนัดหมาย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคหัวใจในแมวและความร่วมมือของน้องแมวระหว่างตรวจ เช่นว่าหากน้องแมวของคุณได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคหัวใจในแมวระยะต้น โดยที่หัวใจแมวยังไม่โตและไม่มีความเสี่ยงใด ๆ และน้องแมวเครียดมากเวลามาโรงพยาบาล คุณหมออาจจะนัดตรวจทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี เป็นต้น แต่หากแมวของคุณเป็นสายพันธุ์แท้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจในแมวมากอยู่แล้ว ได้แก่พันธุ์ เมนคูน เปอร์เซีย สฟิงซ์ แร็กดอลล์ เบงกอล คุณหมอมักจะนัดตรวจหัวใจทุก 3-6 เดือน ที่สำคัญมากสำหรับเจ้าของก็คือในระหว่างที่อยู่บ้านนั้น เจ้าของควรต้องเฝ้าสังเกตแมวของท่านว่า มีอาการผิดปกติของโรคหัวใจในแมวดังที่กล่าวไปหรือไม่ โดยเฉพาะการสังเกตอัตราการหายใจขณะพัก หรือ resting respiratory rate ควรจะมีค่าน้อยกว่า 40 ครั้งต่อนาที โดยหากน้องแมวของคุณมีอัตราการหายใจขณะพักมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีหรือมีการเพิ่มแรงในการหายใจมากกว่าปกติ และเป็นอย่างต่อเนื่องแม้จะผ่านไปหลายชั่วโมง เจ้าของควรจะพาแมวไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจหัวใจซ้ำและประเมินว่าเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวแล้วหรือยัง นอกจากนั้นในแมวอายุมากที่เป็นโรคหัวใจ ควรมีการประตรวจประเมินค่าไต ไทรอยด์ และภาวะความดันสูงร่วมด้วย เพราะโรคเหล่านี้จะทำให้โรคหัวใจในแมวเกิดความรุนแรงได้มากขึ้น

สำหรับการดูแลแมวเป็นโรคหัวใจระยะแสดงอาการ โดยหลัก ๆ เจ้าของคงต้องหาวิธีป้อนยาแมวให้ได้ตามที่คุณหมอจ่าย และยาโรคหัวใจแมวส่วนใหญ่มักจะต้องกินไปตลอดและควรมีการป้อนอย่างสม่ำเสมอ หากแมวบ้านไหนกินยาง่ายไม่ฝากรอยเล็บให้เจ้าของ ถือได้ว่าเจ้าของมีอภิชาตแมวแล้ว หากแมวตัวไหนป้อนยายาก เจ้าของคงต้องได้ฝึกวิทยายุทธ์กันสักหน่อย หรืออาจใช้อุปกรณ์ในการป้อนยา ไม่ว่าจะโดยวิธีใด สุดท้ายเจ้าของก็จะชนะและจักทำได้สำเร็จ การป้อนยาถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการดูแลแมวป่วย ไม่ว่าจะโรคไหนก็ตาม และถือว่าความสำเร็จในการรักษาส่วนหนึ่ง อยู่ที่การจัดการระหว่างเจ้าของกับแมวในขณะอยู่บ้าน ในส่วนของการนัดตรวจร่างกายและเอกซเรย์ช่องอกน้องแมวป่วยจะอยู่ที่ประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากได้รับยาขับน้ำกลับไปกินที่บ้าน และจะนัดประมาณ 1-3 เดือนในแมวป่วยที่อาการคงที่แล้ว การเอกซเรย์ช่องอกน้องแมวเป็นโรคหัวใจนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง ที่สำคัญคือ ติดตามภาวะน้ำท่วมปอด หรือน้ำในช่องอกหลังจากทำการรักษาด้วยยาขับน้ำแล้ว คุณหมอจะได้ประเมินและจัดการปริมาณยาขับน้ำได้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้นการตรวจประเมินการทำงานของไตก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากน้องแมวที่ได้รับยาขับน้ำเป็นระยะเวลานาน อาจจะมีภาวะขาดน้ำและทำให้มีปัญหาไตตามมา ดังนั้นในขณะที่อยู่บ้านน้องแมวควรมีแหล่งน้ำสะอาดให้กินอย่างเพียงพอ แมวป่วยโรคหัวใจระยะแสดงอาการ มักจะมีอาการน้ำหนักลดอย่างเรื้อรัง อันเนื่องจากภาวะทุพโภชนาการจากภาวะหัวใจล้มเหลว ดังนั้นอาหารที่ให้ต้องมีแคลอรี่เพียงพอต่อวัน อาหารที่แนะนำ อาจเป็นอาหารสูตรเดียวกับอาหารรักษาโรคไตแมว เนื่องจากมีการจำกัดปริมาณโซเดียมและมีปริมาณพลังงานและโปรตีนอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับแมวเป็นโรคหัวใจ แต่ทั้งนี้หากแมวปฏิเสธการกินอาหารรักษาโรคไตแมว ก็สามารถให้แมวของท่านกินอาหารสูตรแมวสูงวัยหรืออาหารปรุงเองได้ ที่สำคัญคือระวังปริมาณโซเดียมในอาหารและงดการปรุงรสเพิ่มในอาหาร สิ่งที่สำคัญมากเช่นเดียวกันของแมวป่วยโรคหัวใจระยะนี้คือ เจ้าของควรสังเกตลักษณะหายใจของน้องแมว และสามารถวัดอัตราการหายใจขณะพักของน้องแมวได้อย่างสม่ำเสมอ หากน้องแมวหายใจแรงหอบหนัก หรือมีอัตราการหายใจขณะพักมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีและเป็นติดต่อกันหลายครั้ง แนะนำให้มาพบสัตวแพทย์เพื่อติดตามดูภาวะน้ำท่วมปอด อาการอื่นที่ควรนำน้องแมวมาหาหมอก่อนนัดอย่างเช่น แมวอ่อนแรง แมวเป็นลม หรือมีภาวะอาเจียน แมวเบื่ออาหาร นอกจากนั้นภาวะที่สำคัญคือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดซึ่งมักพบว่าแมวมีอาการร้องเจ็บและสองขาหลังเดินไม่ได้อย่างเฉียบพลัน หากมีอาการเช่นนี้ควรรีบพามาพบสัตวแพทย์โดยด่วน

ระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของแมวเป็นโรคหัวใจนั้นหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยทั่วไปหากได้รับการวินิจฉัยโรคหัวใจในแมวแล้ว แมวที่ไม่แสดงอาการจะมีค่ากลางระยะเวลาการอยู่รอดอยู่ที่ประมาณสามปี และประมาณหนึ่งปีครึ่งสำหรับแมวป่วยที่แสดงอาการหัวใจล้มเหลวแล้ว และประมาณ 6 เดือนสำหรับแมวป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด แต่ทั้งนี้ระยะเวลาของน้องแมวป่วยโรคหัวใจแต่ละตัวนั้นหลากหลายมาก แน่นอนว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยการดูแลของเจ้าของเป็นส่วนสำคัญ

และมาถึงจุดนี้หากผู้อ่านไม่ต้องการอ่านข้อความยาว ๆ หมอขอสรุปแนวทางการดูแลแมวป่วยโรคหัวใจให้ตรงนี้นะคะ

แมวเป็นโรคหัวใจแบบยังไม่แสดงอาการ

1. สังเกตอาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้นในน้องแมว ได้แก่ แมวหายใจแรงหอบหนัก อัตราการหายใจขณะพักหรือขณะนอนมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที แมวเป็นลม แมวอ่อนแรง หรือสองขาหลังหรือขาใดขาหนึ่งเดินไม่ได้อย่างเฉียบพลัน ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์

2. พาไปตรวจติดตามการดำเนินไปของโรคหัวใจในแมวกับสัตวแพทย์โดยการเอกซเรย์ช่องอกและเอคโค่หัวใจทุก 3-6 เดือน

แมวเป็นโรคหัวใจแบบแสดงอาการ

1. สังเกตลักษณะการหายใจและอัตราการหายใจขณะพักหรือขณะนอน หากมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที แมวหายใจแรงหอบหนัก และเป็นติดกันหลายครั้งควรพาไปพบสัตวแพทย์

2. สังเกตอาการผิดปกติอื่นที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ แมวเป็นลม แมวอ่อนแรง สองขาหลังหรือขาใดขาหนึ่งเดินไม่ได้อย่างเฉียบพลัน

3. ป้อนยาตามที่คุณหมอสั่งให้ตรงเวลาและสม่ำเสมอ

4. มีแหล่งน้ำสะอาดให้กินอย่างเพียงพอ และสังเกตอาการผิดปกติของระบบไต ได้แก่ แมวอาเจียน แมวซึม แมวเบื่ออาหาร

5. อาหารให้ได้ตามปริมาณแคลอรี่ที่ต้องการต่อวัน อาจพิจารณากินอาหารรักษาโรคไตแมว

6. พาไปพบสัตวแพทย์ตามกำหนด ส่วนใหญ่จะต้องทำการตรวจค่าไตและเอกซเรย์ช่องอก หากอาการคงที่แล้วประมาณทุก 1-3 เดือน

ทั้งนี้ท่านที่เลี้ยงแมวสายพันธุ์แท้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแมว ได้แก่พันธุ์ เมนคูน เปอร์เซีย สฟิงซ์ แร็กดอลล์ เบงกอล หรือมีประวัติญาติพี่น้องของน้องแมวที่ป่วยหรือเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมาก่อน หรือน้องแมวที่บ้านเริ่มย่างเข้าสู่วัยชราแล้ว อย่ารอให้แมวเกิดอาการของโรคหัวใจแมวก่อน หมอขอแนะนำ ให้พาน้องแมวมาตรวจสุขภาพโดยละเอียด ฟังเสียงการเต้นของหัวใจ เอกซเรย์ช่องอก ตรวจระดับสารชีวภาพบ่งชี้โรคหัวใจ (cardiac biomarker) เอคโค่หัวใจ เพื่อเฝ้าระวังและดำเนินการหาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนแสดงอาการ นอกจากนี้โปรแกรมดูแลสุขภาพแมวทั่วไป ได้แก่ การทำวัคซีนหลักอย่างสม่ำเสมอทุกปี การถ่ายพยาธิแมวและป้องกันพยาธิหนอนหัวใจเป็นประจำทุกเดือน ทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นแล้วช่วยให้น้องแมวของคุณห่างไกลจากโรคภัยต่าง ๆ ได้ ดังนั้นหากท่านทำตามวิธีการที่แนะนำไปดังกล่าวแล้ว เชื่อได้ว่าน้องแมวของท่านจะต้องมีชีวิตยืนยาวและอยู่ด้วยกันนานแน่นอนค่ะ

อ้างอิง

1. Cote E, MacDonald KA, Meurs KM, Sleeper MM. Feline Cardiology: Hypertrophic cardiomyopathy. 1st ed. John Wiley & Sons, 2011.

2. Chetboul V. Textbook of Veterinary Internal Medicine: Feline myocardial diseases. 8th ed. Missouri: Elsevier, 2017.

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ.ธนวัน มังคละพฤกษ์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

12 OCT 2023
น้องหมาอายุน้อยก็เป็นโรคหัวใจได้ เกิดจากอะไร ป้องกันได้ไหมนะ?
น้องโรวา ดัลเมเชียนอายุ 2 เดือน มาตรวจสุขภาพเพื่อทำวัคซีนเข็มแรก คุณหมอประจำบ้านตรวจพบเสียงลิ้นหัวใจรั่ว ดังฟู่วววววว ๆๆๆ จากการใช้สเตทโตสโคปฟังเสียงหัวใจ จึงรีบส่งตัวมาพบคุณหมอเฉพาะโรคหัวใจ คุณแม่ของน้องเล่าให้ฟังว่า
27 JUL 2021
โรคพยาธิหนอนหัวใจในสัตว์เลี้ยง
โรคพยาธิหนอนหัวใจในสัตว์เลี้ยง เกิดจากพยาธิตัวกลมที่ชื่อ Dirofilaria immitis เข้าไปอาศัยอยู่ในหัวใจและปอดของสุนัขหรือแมว โดยยุงเกือบทุกชนิดสามารถเป็นพาหะนำเชื้อนี้ได้
25 OCT 2022
ถ้าอยากให้สุนัขและแมวที่ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่กับเราไปนานๆ พฤติกรรมแบบไหนที่ไม่ควรทำ
ถึงแม้โรคหัวใจในสุนัขและโรคหัวใจในแมวนั้นจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็สามารถทำการรักษาและดูแลให้สุนัขและแมวมีความสุขด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เคล็ดลับในการดูแลสุนัขป่วยโรคหัวใจและแมวป่วยโรคหัวใจให้อยู่กับเจ้าของไปได้นาน ๆ ไม่ควรละเลยหรือปฏิบัติสิ่งต่อไปนี้
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่