การปรับและควบคุมอาหารเป็นเรื่องสำคัญเมื่อมีปัญหาหัวใจ

12 SEP 2023
share :

ปัจจุบันโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยงนั้นพบได้เยอะขึ้น ด้วยปัจจัยขององค์ความรู้และวิทยาการต่างๆ ทำให้สัตวแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้มากขึ้น รวมทั้งการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของส่งผลให้สัตว์ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น ความเสี่ยงจากโรคชราจึงเลี่ยงได้ยาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือโรคหัวใจนั่นเอง

การรักษาโรคหัวใจนั้น ส่วนใหญ่มักเน้นการรักษาทางยา แม้จะไม่หายจากโรคหัวใจแต่ก็ช่วยยืดระยะเวลาการเสื่อมของโรค สัตว์ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการพัฒนาความเสื่อมของหัวใจที่มากขึ้น ส่งผลให้ยาที่ต้องป้อนก็ค่อยๆมากขึ้นตามมาเช่นกัน จนบางครั้งคำกล่าวของเจ้าของที่ว่า “กินยาเป็นอาหาร” ก็อาจจะไม่เกินจริงนัก แต่ในความเป็นจริงนั้นการดูแลโรคหัวใจนอกจากยาแล้วนั้น อาหารที่ทานในแต่ละวันก็เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโรคหัวใจได้เช่นกัน

การจัดการโภชนาการเป็นสิ่งที่เจ้าของควรให้ความสำคัญตั้งแต่ต้น เพราะสามารถช่วยลดการใช้ยาลง ชะลอความรุนแรงของโรคและช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะน้ำหนักเกิน มีความจำเป็นต้องลดน้ำหนัก ปรับโภชนาการ และมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงของโรคทางเดินหายใจและหัวใจ ในขณะเดียวกันสัตว์ป่วยโรคหัวใจเรื้อรังระยะท้ายมักมีภาวะเบื่ออาหารและร่างกายที่ผอมลง กล้ามเนื้อลดลง หรือเรียกว่าภาวะ Cardiac cachexia ส่งผลให้มวลน้ำหนักตัวโดยรวมไม่รวมไขมัน (Lean body mass) ลดลง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งระยะเวลาในการมีชีวิตรอดสั้นลงด้วยเช่นกัน ซึ่งการจัดการภาวะเบื่ออาหารนั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเปลี่ยนอาหารเม็ดเป็นอาหารเปียก อุ่นอาหารเพื่อเพิ่มความน่ากิน การให้อาหารทีละน้อยๆ และเพิ่มความถี่ของมื้ออาหารขึ้น หรือการปรุงอาหาร Homemade ที่มีองค์ประกอบโภชนาการและสารอาหารที่เหมาะสม การให้อาหารที่มีพลังงานสูงและเสริมกรดไขมันจำเป็นในร่างกาย เป็นต้น

แร่ธาตุสำคัญเช่นโซเดียม ควรจำกัดในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อช่วยลดการคั่งน้ำในร่างกาย ลดความเสี่ยงเรื่องความดันโลหิตสูง

  • สุนัขโรคหัวใจ ระดับ 1 ควรได้รับปริมาณโซเดียม น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมโซเดียมต่อ 100 กิโลแคลอรีในอาหาร
  • สุนัขโรคหัวใจระดับ 2 ปริมาณโซเดียมน้อยกว่า 80 มิลลิกรัมโซเดียมต่อ 100 กิโลแคลอรี่ในอาหาร
  • สุนัขโรคหัวใจระดับ 3 ขึ้นไป ควรได้รับโซเดียมต่อวันไม่เกิน 50 มิลลิกรัมโซเดียมต่อ 100 กิโลแคลอรี่ในอาหาร

มีการศึกษาพบว่าการจำกัดปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมร่วมกับการรักษาทางยาในสุนัขโรคหัวใจ สามารถช่วยลดขนาดหัวใจลง และสามารถลดการใช้ยาขับน้ำลงได้ แต่ขณะเดียวกันการได้รับโซเดียมที่น้อยเกินไปจนเสียสมดุลของร่างกายก็ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแรงได้เช่นกัน นอกจากโซเดียมแล้ว โพแทสเซียมและแมกนีเซียม ก็มีผลต่อการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจและเพิ่มผลข้างเคียงจากยาโรคหัวใจบางตัวได้เช่นกัน

ในขณะเดียวกันการขาดสารอาหารบางอย่าง ส่งผลให้เกิดปัญหาโรคหัวใจได้ ยกตัวอย่างเช่นการขาดทอรีนทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงร่วมกับการขยายใหญ่ของห้องหัวใจในสุนัขและแมว โดยพบว่าเมื่อทำการเสริมสารดังกล่าว ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานดีขึ้น การบีบตัวดีขึ้น และการประเมินค่าต่างๆ โดยการอัลตราซาวด์หัวใจอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นเช่นกัน

ส่วนสารอาหารชนิดอื่นเช่นโปรตีนนั้น สัตว์ป่วยโรคหัวใจไม่มีความจำเป็นต้องจำกัดปริมาณและควรเพิ่มคุณภาพของโปรตีน เพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอแม้ได้รับอาหารในปริมาณน้อย ยกเว้นแต่ว่ามีปัญหาโรคหัวใจร่วมกับโรคไตร่วมด้วย ซึ่งต้องทำการปรับยาและโภชนาการให้สมดุลกันระหว่างสองโรค นอกจากนี้เราสามารถเสริมสารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินบีในสัตว์ป่วยโรคหัวใจได้ด้วย

การปรับและควบคุมอาหารในสัตว์ป่วยโรคหัวใจมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ช่วยให้เราเปลี่ยนจาก “การกินยาเป็นอาหาร” สู่ “การกินอาหารเป็นยา” ได้ ทั้งช่วยลดปริมาณยาที่สัตว์ป่วยต้องกินในแต่ละมื้อ ลดความเครียดของสัตว์ป่วยและเจ้าของในการป้อนยาเพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน ทั้งยังช่วยชะลอความรุนแรงของโรค และให้น้องหมาน้องแมวได้มีช่วงเวลาอยู่กับเจ้าของได้นานที่สุดอย่างมีความสุข ภายใต้การมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง

อ่านบทความเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ การดูแลอาหารสำหรับสัตว์ป่วยโรคหัวใจ

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch และสามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App เพื่อช่วยในการนับและบันทึกอัตราการหายใจได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ.กรแก้ว ทองแตง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

12 OCT 2023
แม้น้องหมาต้องอยู่คู่กับโรคหัวใจ ก็อายุยืนขึ้นได้ ด้วยวิธีนี้
หมอแนะนำเจ้าของให้ทำการตรวจวินิจฉัยเรื่องโรคหัวใจเพิ่มเติม เพื่อทำการประเมินระยะของโรค หลังทำการวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพรังสีและอัลตร้าซาวน์หัวใจ (echocardiography) แล้ว พบว่าน้องพิริ เป็นโรคหัวใจในระยะหัวใจโตแต่ยังไม่มีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วม (stage B2)
15 NOV 2021
โรคหัวใจที่พบได้บ่อยในแมว
แมวก็คล้ายกับคนและสุนัขที่มีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน แต่ชนิดของโรคหัวใจอาจแตกต่างไป โรคหัวใจในแมว สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ โรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด และโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลังกำเนิด
11 APR 2023
ตรวจโรคหัวใจต้องทำอะไรบ้าง หมอจะเล่าให้ฟัง
วันนี้เราได้รับการติดต่อจากคุณหมออายุรกรรมเรื่องนัดหมายให้พบกับคุณแม่ของน้องน้ำตาล สุนัขเพศเมียทำหมันแล้ว พันธุ์พุดเดิ้ล อายุ 13 ปี ซึ่งน้องน้ำตาลได้เข้าตรวจกับคุณหมออายุกรรมด้วยอาการหอบ เหนื่อยง่ายขึ้น มีอาการไอแห้ง โดยเฉพาะเวลากลางคืน และเริ่มมีอาการเป็นลมเวลาตื่นเต้นดีใจ
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่