บทสัมภาษณ์ รักและแคร์ เลยขอแชร์ฟีลลิ่ง “เมื่อรู้ว่าน้องหมาเป็นโรคหัวใจ”

12 OCT 2023
share :

บทสัมภาษณ์นี้พบกับเรื่องราวของคุณยุ้ย กับน้องมอลลี่และท็อดดี้ ชิวาว่าวัยเก๋า ที่ถึงแม้จะตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจ แต่พลังความน่ารักสดใสก็ไม่ได้ลดลงไปเลย คุณยุ้ยมีวิธีดูแลน้องๆ ให้ยังดูสดใสแข็งแรง ไปพร้อมกับดูแลความรู้สึกของตัวเองอย่างไร? มาหาคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์พิเศษ “รักและแคร์ เลยขอแชร์ฟีลลิ่ง เมื่อรู้ว่าน้องหมาเป็นโรคหัวใจ” นี้ไปพร้อมกันได้เลย

แนะนำตัวและเล่าถึงที่มาของโรค

ท็อดดี้และมอลลี่ เป็นชิวาว่าอายุ 14 ปี ที่มีกิจวัตรประจำวันคือการเดินเล่นอยู่ในบ้าน ไม่เคยมีอาการบ่งบอกว่าเป็นโรคหัวใจ แต่ตอนอายุ 10 กว่าขวบ ไปตรวจสุขภาพเจออาการเบื้องต้นว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว อยู่ในระดับที่ยังไม่ต้องรับการรักษาหรือกินยา ให้ติดตามอาการต่อ หลังจากนั้นหนึ่งปีน้องเริ่มไอ ก็หาหมออยู่ตลอด มีการตรวจดูความพัฒนาของโรคว่าอยู่ในขั้นไหน ก็ต้องให้ยาตามน้ำหนัก ตามลำดับขั้นของโรคต่อไป

ความรู้สึกและการปรับตัวเมื่อรู้ว่าน้องเป็นโรคหัวใจ

คุณยุ้ยบอกว่าไม่ได้รู้สึกตกใจเพราะเข้าใจถึงภาวะว่าแก่แล้วก็มีโรคได้บ้าง ไม่เป็นโรคหัวใจก็อาจจะเป็นโรคอื่น ก็ต้องคุยกับคุณหมอและดูแนวทางการรักษาว่าจะดูแล ให้ยายังไง กินอาหารแบบไหน และทำความเข้าใจกับโรคที่เกิดขึ้น ส่วนการปรับตัวก็ไม่ได้ปรับอะไรเยอะมาก เพราะสุนัขพันธุ์เล็กไม่ได้ต้องการเดินเยอะอยู่แล้ว เน้นไปที่เรื่องอาหารว่าอะไรกินได้ ไม่ได้ เหมาะกับโรคไหม และเน้นการกินยาตามที่คุณหมอสั่ง ซึ่งคุณหมอเน้นย้ำว่าให้กินยาเพื่อควบคุมอาการอย่างตรงเวลา คุณยุ้ยบอกอีกว่าน้องๆ กินยายาก เลยตำยาเม็ดผสมกับยาน้ำ ยังไงก็ต้องให้กินเพื่อรักษาอาการที่เค้าเป็นอยู่ ช่วงแรกๆ ก็ต้องบังคับ พอเป็นกิจวัตรก็เริ่มชิน

ความถี่ในการหาหมอและการสังเกตอาการที่บ้าน

มอลลี่มีเรื่องไตซึ่งต้องให้น้ำเกลือ เลยต้องไปพบคุณหมอทุกอาทิตย์ ส่วนท็อดดี้ก็เดือนละครั้ง การติดตามอาการตลอดนั้นสำคัญ เพราะไม่รู้ว่าอาการของโรคจะกำเริบขึ้นเมื่อไหร่ อยู่บ้านก็ต้องคอยสังเกต และไปหาคุณหมอตามนัด เพราะกินยาเยอะ บางทีก็ต้องตรวจเลือดเพื่อดูว่ายากับอาหารมีผลกระทบอะไรบ้าง คุณหมอจะได้ปรับให้เหมาะสม นอกจากนั้นก็มีการฟังเสียงปอด ตรวจเลือด วัดความดัน ช่วงไหนมีอาการผิดสังเกตเยอะ เช่น ไอเยอะ หายใจเร็วขึ้น ก็อาจจะต้องตรวจเพิ่มเพื่อดูว่าหัวใจโตขึ้นรึเปล่า

ส่วนตอนอยู่บ้านก็สังเกตอาการมากขึ้นว่าไอเยอะ หอบมั้ย ถ้าหอบเหนื่อย ตื่นเต้นโดยไม่มีสิ่งเร้า คือผิดปกติละ บางครั้งถ้าเป็นหนัก ไอแรง ไอต่อเนื่อง จนดูเหนื่อย ก็ไปหาหมอก่อนเลย ไม่รอให้ถึงวันนัด อีกอย่างคือสังเกตเวลานอนหลับหายใจผิดปกติรึเปล่า คุณหมอให้นับอัตราการหายใจ เป็นข้อมูลช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ดีขึ้น โดยการนับอัตราการหายใจขณะหลับสนิท ซึ่ง 1 นาทีไม่ควรเกิน 30 ครั้ง และถ้าตอนตื่นอยู่หายใจแปลก ก็ต้องดูว่าเกิดจากอะไร เป็นตอนไหน เป็นบ่อยไหม ไปเล่าให้คุณหมอฟังต่อ

อาการที่ต่างกันของท็อดดี้และมอลลี่

ที่ไม่เหมือนกันคือลักษณะของความรุนแรงของโรค อาการของน้องที่แตกต่างกัน อย่างอาการตอนที่เป็นน้ำท่วมปอดก็ไม่เหมือนกัน จึงต้องสังเกต อย่าง มอลลี่ น้ำท่วมปอด นั่งคอตก ดูไม่สบายตัว หายใจถี่ สังเกตลิ้น ทำตามที่หมอบอก แล้วพาไปโรงพยาบาล ส่วนท็อดดี้ จะเดินกระวนกระวาย เวลานอนไม่ยอมนอน เดินแบบไม่สบายตัว หายใจแรง ถ้าอาการเยอะ คุณหมอก็ให้ยามากิน แล้วนัดมาดูอีกสองอาทิตย์ ถ้าดีขึ้นก็ปรับเป็นเดือนนึงค่อยมา

การสังเกตอาการน้องเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เล่าให้หมอ หมอวิเคราะห์ ตรวจ ปรับยา คุณหมอก็จะอธิบายให้เข้าใจว่าโรคเป็นยังไง ความรุนแรงอยู่ในระดับไหน ต้องดูแลน้องยังไง แล้วกลับมาสังเกตอาการวนไป

สิ่งที่อยากฝากถึงคนที่รักน้องหมา

ก่อนรับน้องหมามาเลี้ยง ก็ต้องดูก่อนว่าเรามีเวลาให้เค้ารึเปล่า เพราะเค้าตัวคนเดียว ไม่มีใคร ต้องดูแลแบบใส่ใจ โดยเฉพาะถ้าแก่แล้วมีโรคก็ต้องใส่ใจมากขึ้น การสังเกตจะช่วยได้เยอะกับโรคที่เป็น และให้ยาตามที่หมอแนะนำ โดยเฉพาะอย่างน้องหมาที่เป็นโรคหัวใจยิ่งละเลยไม่ได้ ทั้งเรื่องของการให้ยาคุมโรคต้องตรงเวลา เจ้าของต้องปรับเวลาให้เข้ากับการให้ยาสุนัข เพราะเค้าต้องกินยาทุกวัน อาจจะไม่ต้องคอยเฝ้าเค้าตลอด แต่ต้องคอยสังเกตว่ามีอาการอะไรผิดปกติเท่านั้นเอง

สำหรับคนที่เลี้ยงน้องหมาอยู่และยังไม่ป่วย เมื่ออายุเยอะ นอกจากวัคซีนประจำปี ให้ตรวจอย่างอื่นด้วย เผื่อพบโรคเร็ว จะได้รักษาได้ทัน ถ้าเป็นโรคไปซักพักแล้วก็ต้องทำความเข้าใจกับโรค และการดูแลต่อจากนั้น ว่าดูแลยังไง ให้ยายังไง เพื่อให้เค้ามีชีวิตที่ดีต่อไป

และนี่ก็คือสิ่งที่คุณยุ้ยอยากฝากให้กับผู้อ่านทุกท่านนำไปปรับใช้ เพื่อการดูแลสุขภาพน้องหมาให้ดีที่สุด ส่วนสิ่งที่ Your Pet Heart อยากฝากไว้ โรคหัวใจในน้องหมาเป็นโรคที่พบได้บ่อย มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต หากรักษาไม่ทัน แต่หากตรวจพบเร็ว เริ่มรักษาเร็ว ก็จะยิ่งช่วยยืดอายุของสุนัข และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

และสามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App เพื่อช่วยในการนับและบันทึกอัตราการหายใจได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

12 OCT 2023
แชร์วิธีฮีลใจของเจ้าของและน้องหมาป่วยโรคหัวใจ
วันนี้มาพบกับบทสัมภาษณ์ที่แสนจะดีต่อใจ กับคุณป้อม มณฑณิศร์ นุชทอง กับน้องบิวตี้ ชิวาว่า น้องหมาที่มาพร้อมกับออร่าแห่งความสุขตลอดเวลา แต่แล้ววันนึงกลับต้องพบว่าน้องมีอาการของโรคหัวใจ แล้วคุณป้อมมีวิธีจัดการดูแลหัวใจน้องบิวตี้ รวมถึงหัวใจของตัวเองและครอบครัวอย่างไร มาอ่านไปพร้อมๆ กัน
21 DEC 2021
5 เรื่องที่ต้องดูแลเมื่อสัตว์เลี้ยงของคุณป่วยเป็นโรคหัวใจ
วันนี้จะมาแชร์เคล็ดลับวิธีการดูแลเมื่อสัตว์เลี้ยงของเราป่วยเป็นโรคหัวใจ เพื่อให้สัตว์ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่กับเราได้นานที่สุด
28 MAR 2022
การดูแลสุนัขป่วยโรคหัวใจ ไม่ยากอย่างที่คิด?
เราเชื่อว่าเจ้าของสุนัขทุกคน ไม่มีใครอยากให้น้องป่วย แต่บางครั้งเรื่องของโรคภัยก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ ซึ่งโรคหัวใจในสุนัขก็เป็นหนึ่งในโรคเหล่านั้น แต่ถึงแม้สุนัขป่วยโรคหัวใจแล้ว เจ้าของก็ยังอยากดูแลน้องให้ดีที่สุดเพื่อให้น้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่กับเราได้นาน ๆ ซึ่งการดูแลสุนัขป่วยโรคหัวใจก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่หลายคนคิด
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่