มีอวัยวะหนึ่งของคนเรารวมถึงของน้องหมาที่ขยันขันแข็ง ทำงานตลอดเวลา หนักบ้าง เบาบ้าง แต่ก็ไม่เคยได้หยุดพักเลย ซึ่งอวัยวะที่กล่าวถึงก็คือหัวใจนั่นเอง
การดูแลสุนัขป่วยเป็นโรคหัวใจ นอกจากการป้องกันโรคหัวใจจากปรสิตอย่างเจ้าพยาธิหนอนหัวใจแล้ว การดูแลหัวใจของน้องหมาด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องก็ยังมีความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้หัวใจไม่ต้องทำงานหนักเกินไปจากปัจจัยที่ไม่สมควรต่าง ๆ หรือแม้แต่การไม่ให้อาหารแก่น้องหมามากจนเกินไป รวมถึงหลีกเลี่ยงการให้ของกินที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพของพวกเขา
การดูแลน้ำหนักและรูปร่างให้น้องหมาก็เป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจในสุนัข การจัดการกับปัญหาโรคหัวใจในสุนัขมีหลักการบางส่วนเช่นเดียวกับการจัดการในคน โดยถ้าหากน้องหมามีภาวะน้ำหนักเกิน หรืออ้วนแล้วมีปัญหาโรคหัวใจ ก็จำเป็นจะต้องลดน้ำหนักอย่างเร่งด่วน รวมถึงการงดขนมและเลือกอาหารที่เหมาะสม แต่ถ้าตอนนี้น้องหมาของเรายังมีหัวใจที่แข็งแรงดี ก็ควรดูแลรูปร่างไม่ให้อ้วนจนเกินไปก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้
เกลือ หรือโซเดียม เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลาย ๆ ท่ายเคยได้ยินว่าเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจสุนัข ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง โดยปกติในอาหารสำหรับน้องหมาต้องมีเกลือจากมวลอาหารแห้ง ไม่น้อยกว่า 0.08% และ 0.068% ตามลำดับ* ซึ่งปกติแล้วในอาหารทั่วไปจะมีเกลือประมาณ 0.3-0.5% โดยอาจมากหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยนี้ตามความต้องการสารอาหารของแต่ละสูตร เช่น อาหารสำหรับสุนัขเป็นโรคหัวใจ และสุนัขเป็นโรคไต ก็จะมีสัดส่วนของโซเดียมที่ลดให้ต่ำลงกว่าค่าเฉลี่ยมากพอสมควร
ถึงแม้ว่าเกลือโซเดียมจะเป็นแร่ธาตุที่ถูกมองว่าอันตรายและต้องควบคุม แต่โซเดียมเหล่านี้ก็ยังมีความจำเป็นต่อกระบวนการทำงานตามปกติของร่างกาย หากร่างกายได้รับไม่เพียงพอก็จะส่งผลเสียได้เช่นกล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่างกายอ่อนเพลีย และเกิดความผิดปกติของของเหลวภายในร่างกายได้
ในมุมของอันตรายจากการได้รับเกลือมากเกินไป คือส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นจากความดันเลือดที่สูงขึ้น แต่ถึงกระนั้น การควบคุมเกลืออย่างเข้มงวดมากเกินไปก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เนื่องจากร่างกายน้องหมาที่ทำงานได้เป็นปกติจะสามารถรักษาสมดุลของแร่ธาตุและน้ำในร่างกายได้ แต่ในกรณีที่น้องหมาเป็นโรคหัวใจ การควบคุมเกลือให้มีสัดส่วนที่ลดลง เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง
นอกเหนือจากเกลือโซเดียมที่พูดถึงเป็นส่วนมากในการจัดการกับความผิดปกติของหัวใจแล้ว การปรับสมดุลของสารอาหารให้เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปด้วย โดยจะขอสรุปสารอาหารที่เหมาะสมในกรณีเกิดโรคหัวใจในสุนัขเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. เกลือโซเดียมต่ำ
2. เสริมแอลคาร์นิทีน
3. เสริมกรดไขมันจำเป็น
4. อาหารสำหรับโรคหัวใจ ต้องการอาหารพลังงานสูง เพราะสุนัขมีโอกาสเกิดภาวะผอมแห้ง (cachexia)
5. ควรลดน้ำหนัก หากน้องหมามีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน
6. เสริมกรดอะมิโนทอรีน
7. ควบคุมปริมาณโปรตีนและฟอสฟอรัสให้ไม่สูงเกินไป เนื่องจากโรคหัวใจและโรคไตมีความเชื่อมโยงกันได้
8. เสริมวิตามินบีรวม โดยเฉพาะในกรณีที่คุณหมอมีการจ่ายยาขับน้ำ
9. เสริมสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ
การจัดการโภชนาการหลังจากป่วยเป็นโรคหัวใจเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและมีข้อจำกัดมากมาย ดังนั้นในวันที่น้องหมายังมีหัวใจที่แข็งแรงดีอยู่ ก็ควรดูแลให้ไม่อ้วนเกินไป ไม่ให้กินอาหารคนที่มีการปรุงรส และมีกิจกรรมเพื่อให้น้องหมาได้ออกกำลังกายเบา ๆ หรือได้ใช้แรงบ้าง เพื่อให้หัวใจแข็งแรงและยังทำงานได้อย่างสมบูรณ์ไปอีกนาน ๆ
*Small Animal Clinical Nutrition, 5th Edition, 2010
สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”
ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch