รู้ก่อนป่วย รักษาก่อนเป็นหนัก “อาการแบบไหน” ที่ต้องเริ่มให้ยารักษาโรคหัวใจ เพื่อจะได้ช่วยให้เค้าอยู่กับเราไปนานๆ

7 JUL 2022
share :

ภาวะโรคหัวใจ หมายถึง ภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ (ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะในสุนัขและแมว) โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของลักษณะโครงสร้าง เช่น ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว กล้ามเนื้อหัวใจเสียความยืดหยุ่นหรืออ่อนแรง ผนังห้องหัวใจรั่ว หรือเกิดจากการนำไฟฟ้าของหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นภาวะที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือ เกิดขึ้นภายหลังก็ได้ และบางกรณีอาจเกิดความผิดปกติขึ้นแบบทุติยภูมิเนื่องมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นก็ได้ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวในแมวจากปัญหาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น

เมื่อไรจึงเรียกว่ามีอาการของโรคหัวใจ

สุนัขและแมวที่มีภาวะโรคหัวใจสามารถแบ่งตามลักษณะการแสดงอาการได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังไม่แสดงอาการป่วย และ กลุ่มที่แสดงอาการป่วย ซึ่งกลุ่มหลังนี้ก็อาจมีทั้งที่แสดงอาการอย่างชัดเจนกับไม่แสดงอาการชัดเจน

อาการป่วยของสุนัขและแมวที่มีภาวะโรคหัวใจ ช่วงแรกอาจจะเริ่มสังเกตเห็นว่าสุนัขหรือแมวเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น ทำกิจวัตรประจำวันลดลง นอนมากขึ้น หรืออาจพบว่ามีความอยากอาหารลดลง หลังจากนั้นเมื่อภาวะโรคหัวใจเริ่มทรุดลงเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว จะเกิดการคั่งน้ำในระบบไหลเวียนโลหิตหรือ ตามช่องว่างในร่างกาย สัตว์จะแสดงอาการต่างๆให้เห็นชัดเจนขึ้น เช่น หายใจเร็วและ/หรือแรงกว่าปกติ แม้ในขณะพัก ออกกำลังกายแล้วเหนื่อยง่าย บางรายอาจมีอาการไอร่วมด้วย อาจมีท้องบวมใหญ่ขึ้นผิดปกติ และอาจมีภาวะบวมน้ำตามขาได้ จะเห็นได้ว่าหากรอจนสัตว์แสดงอาการชัดเจนหรือเรียกว่ามี “อาการหนัก” แล้วก็คือสัตว์ป่วยโรคหัวใจที่เข้าสู่ระยะหัวใจล้มเหลวแล้วนั่นเอง ซึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาหลายขนานอย่างแน่นอน

“อาการแบบไหน” ที่สามารถเริ่มให้ยารักษาหัวใจได้ก่อนที่จะแสดงอาการหนัก

คำตอบ คือ กลุ่มที่ยังไม่แสดงอาการ หรือเริ่มมีอาการแบบไม่ชัดเจน โดยจะแตกต่างกันในสุนัขและแมว

โรคหัวใจในสุนัข ที่พบมากที่สุด คือ โรคลิ้นหัวใจไมทรัลรั่ว โดยเมื่อสุนัขถูกตรวจพบว่ามีภาวะลิ้นหัวใจไมทรัลรั่ว สัตวแพทย์จะทำการตรวจโดยการซักประวัติ เอกซเรย์ช่องอกและตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) เพื่อวินิจฉัยว่าสุนัขอยู่ในระยะใดของโรคตาม ACVIM consensus guidelines 2019 โดยหาก เอกซเรย์พบว่ามีหัวใจโตวัด vertebral heart scale (VHS) ได้มากกว่า 10.5 ร่วมกับการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง วัดขนาดหัวใจห้องบนซ้ายแล้วเทียบกับหลอดเลือดแดงใหญ่ (LA/Ao) ได้ตั้งแต่ 1.6 ขึ้นไป และวัดขนาดหัวใจห้องล่างซ้ายได้ (LVDDN) ตั้งแต่ 1.7 ขึ้นไป จะจัดว่าสุนัขอยู่ในระยะ B2 ซึ่งแนะนำให้เริ่มใช้ยา *pimobendan (** ใช้ในการควบคุมโดยสัตวแพทย์เท่านั้น โปรดปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อการวินิจฉัย รักษา และการใช้ที่ถูกต้อง ไม่แนะนำให้ซื้อเอง **) เนื่องจากมีหลักฐานว่าการให้ยาแก่สุนัขในระยะนี้สามารถช่วยให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถช่วยยืดระยะเวลาเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวออกไปได้เมื่อเทียบกับสุนัขที่ไม่ได้รับยานี้

โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ (dilated cardiomyopathy) นับเป็นภาวะโรคหัวใจที่พบได้บ่อยในสุนัขรองลงมาจากโรคลิ้นหัวใจไมทรัลรั่ว โดยสามารถวินิจฉัยได้โดยการทำ ตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ซึ่งสัตวแพทย์จะพิจารณาให้ยาแก่สุนัขกลุ่มที่ไม่แสดงอาการได้หากตรวจพบหัวใจบีบตัวได้น้อยกว่าปกติและห้องหัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติ

โรคหัวใจในแมว กลุ่มที่ยังไม่แสดงอาการป่วยนั้นจะต้องได้รับการตรวจจากสัตวแพทย์ด้วยวิธี ตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง จึงจะสามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคหัวใจชนิดใด ซึ่งส่วนมากมักเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ โดยโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว (feline hypertrophic cardiomyopathy) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด แมวที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจทุกตัวไม่ว่าเป็นชนิดใด จะมีความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันภายในหลอดเลือดแดงได้ ซึ่งสามารถนำมาสู่อันตรายและเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ แมวกลุ่มนี้ควรได้รับยาต้านเกล็ดเลือดเพื่อเป็นการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (aortic thromboembolism)

ในลูกสัตว์ที่มีภาวะโรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด อาจมีภาวะโตช้าและตัวเล็กกว่าพี่น้องในครอกเดียวกัน อาจไม่เล่นหรือร่าเริงเหมือนตัวอื่นๆ ออกกำลังแล้วหายใจหอบเหนื่อยง่าย สีลิ้นและเหงือกออกคล้ำม่วง โดยหากเจ้าของสุนัขและแมวสังเกตพบอาการเหล่านี้ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพราะภาวะโรคหัวใจแต่กำเนิดบางชนิดหากได้รับการดูแลและรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีก็สามารถหายป่วยได้หรืออย่างน้อยจะช่วยให้ไม่เกิดอาการหนักจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้

รู้หรือไม่อยู่บ้านก็รู้อาการก่อนเป็นหนักได้...

เจ้าของสุนัขและแมวสามารถเป็นผู้สังเกตอาการของสุนัขและแมวที่เป็นโรคหัวใจได้เองที่บ้านก่อนที่อาการของโรคจะทรุดหนักได้ โดยการนับ “อัตราการหายใจ”ในขณะที่สัตว์หลับสนิท (sleeping respiratory rate: SRR) วิธีนับ คือ ดูการขยับของอกหรือท้อง เมื่อหายใจเข้าจะขยับขึ้นหรือพองออกและเมื่อหายใจออกจะขยับลงหรือยุบลง ให้นับเป็นหายใจ 1 ครั้ง จับเวลานับนาน 1 นาที สุนัขที่แข็งแรงดีไม่ได้เป็นโรคหัวใจ จะมี SRR 6-25 ครั้งต่อนาที (เฉลี่ย 14 ครั้งต่อนาที) สุนัขและแมวที่เป็นโรคหัวใจแต่อาการคงที่มี SRR ไม่เกิน 30 และ 35 ครั้งต่อนาทีตามลำดับ แนะนำให้นับ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และจดบันทึกไว้ หรือในปัจจุบันมี Mobile application ให้เลือกใช้ได้ด้วย โดยเมื่อใดก็ตามที่ SRR สูงขึ้นมากกว่าค่านี้ติดต่อกันเกิน 2-3 วัน ควรพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าเริ่มมีปอดบวมน้ำจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้

“อัตราการหายใจ” ขณะที่สัตว์หลับสนิท สุนัข แมว
ครั้งต่อนาที ไม่เกิน 30 ไม่เกิน 35

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

เอกสารอ้างอิง

Chetboul V. 2017. Feline myocardial diseases. In: Textbook of veterinary internal medicine. 8th ed. SJ Ettinger, EC.Feldman and E.Cote. Canada:Elsevier. 1278-1305.

Hezzell M. 2020. Monitoring congestive heart failure. In Practice. June 2020; 14-21

Keene BW, Atkins CE, Bonagura JD, Fox PR, Haggstrom J, Fuentes VL, Obama MA, Rush JE, Stephen R and Uechi M. 2019. ACVIM consensus guidelines for the diagnosis and treatment of myxomatosis mitral valve disease in dogs. J Vet Intern Med 2019; 1-14.

Scansen BA. 2017. Home respiratory rate monitoring in dogs and cats. Clinician’s brief.com December 2017. 60-63.

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ.ธนิกา อธิปธรรมวารี

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

30 JUN 2022
โรคหัวใจที่พบได้บ่อยในสุนัขและการจัดการดูแล
หัวใจ ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญและมีความซับซ้อนอีกอวัยวะหนึ่งของร่างกายสุนัข เพราะหัวใจมีหน้าที่สูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย การทำงานที่ผิดปกติของหัวใจสุนัขส่งผลให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจลดลง ทำให้เกิดภาวะการสะสมของน้ำในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความดันร่างกายลดลง และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในสุนัขตามมา
25 OCT 2022
ถ้าอยากให้สุนัขและแมวที่ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่กับเราไปนานๆ พฤติกรรมแบบไหนที่ไม่ควรทำ
ถึงแม้โรคหัวใจในสุนัขและโรคหัวใจในแมวนั้นจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็สามารถทำการรักษาและดูแลให้สุนัขและแมวมีความสุขด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เคล็ดลับในการดูแลสุนัขป่วยโรคหัวใจและแมวป่วยโรคหัวใจให้อยู่กับเจ้าของไปได้นาน ๆ ไม่ควรละเลยหรือปฏิบัติสิ่งต่อไปนี้
12 OCT 2023
แม้น้องหมาต้องอยู่คู่กับโรคหัวใจ ก็อายุยืนขึ้นได้ ด้วยวิธีนี้
หมอแนะนำเจ้าของให้ทำการตรวจวินิจฉัยเรื่องโรคหัวใจเพิ่มเติม เพื่อทำการประเมินระยะของโรค หลังทำการวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพรังสีและอัลตร้าซาวน์หัวใจ (echocardiography) แล้ว พบว่าน้องพิริ เป็นโรคหัวใจในระยะหัวใจโตแต่ยังไม่มีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วม (stage B2)
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่