ถ้าอยากให้สุนัขและแมวที่ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่กับเราไปนานๆ พฤติกรรมแบบไหนที่ไม่ควรทำ

25 OCT 2022
share :

ถึงแม้โรคหัวใจในสุนัขและโรคหัวใจในแมวนั้นจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็สามารถทำการรักษาและดูแลให้สุนัขและแมวมีความสุขด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เคล็ดลับในการดูแลสุนัขป่วยโรคหัวใจและแมวป่วยโรคหัวใจให้อยู่กับเจ้าของไปได้นาน ๆ ไม่ควรละเลยหรือปฏิบัติสิ่งต่อไปนี้

ไม่ละเลยการตรวจติดตามอาการของโรคหัวใจสุนัขและโรคหัวใจแมวตามนัดอย่างสม่ำเสมอ (Set up a recheck schedules)

ควรพาสุนัขและแมวไปพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอและเป็นประจำ เพื่อทำการตรวจสภาพร่างกาย เฝ้าติดตามและประเมินการดำเนินไปของโรคหัวใจในสุนัขและโรคหัวใจในแมว ประเมินประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยาโรคหัวใจที่ได้รับ เพื่อปรับการให้ยารักษาโรคหัวใจให้เหมาะสมกับโรคหัวใจที่สุนัขและแมวแต่ละตัวเป็นอยู่ และให้เหมาะกับอาการโรคหัวใจของสัตว์ป่วย ณ ปัจจุบัน นอกจากนี้ในกรณีที่สัตว์ป่วยมีอาการแย่ลง การตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอยังช่วยให้สัตวแพทย์สามารถทำการปรับการรักษาโรคหัวใจในสุนัขและโรคหัวใจในแมวได้ทันท่วงที รวมไปถึงในกรณีที่สัตว์เลี้ยงมีโรคแทรกซ้อนร่วม สัตวแพทย์ก็สามารถตรวจประเมินโดยการตรวจเลือด เอกซเรย์หรืออัลตร้าซาวด์ช่องท้องและวางแผนการจัดการดูแลได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสุนัขป่วยโรคหัวใจและแมวป่วยโรคหัวใจ

ไม่ควรจัดการปรับยาโรคหัวใจหรือเลือกยารักษาโรคหัวใจให้สุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจทานเอง

สิ่งสำคัญที่สุด คือ ควรดูแลเรื่องการให้ยารักษาโรคหัวใจที่ถูกต้องและต่อเนื่อง คือ เลือกยาโรคหัวใจที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องให้สัตว์ป่วยทาน หลีกเลี่ยงการสั่งซื้อยาโรคหัวใจออนไลน์ เพราะมีโอกาสสูงที่จะได้รับยาปลอม ยาเถื่อน ยาด้อยคุณภาพ และยาที่ไม่มีการผ่านมาตรฐานการรับรอง ซึ่งเมื่อทำการให้ยารักษาโรคหัวใจที่ไม่มีคุณภาพเหล่านี้แล้ว จะไม่สามารถควบคุมอาการของโรคหัวใจให้เป็นไปตามต้องการและอาจมีความเสี่ยงให้สุนัขและแมวถึงแก่ชีวิตได้อีกด้วย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงจำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคหัวใจสำหรับโรคหัวใจในสุนัขและโรคหัวใจในแมวที่สัตวแพทย์สั่งจ่าย (prescription) เท่านั้น นอกจากนี้เมื่อได้รับยาโรคหัวใจมาแล้ว เจ้าของสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจต้องดูแลโดยการให้ยาโรคหัวใจอย่างมีวินัยสม่ำเสมอ ตรงตามขนาดและเวลาตามฉลากยาที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ขาดยาและไม่หยุดยาเองโดยพลการ มั่นใจว่าสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจได้รับยารักษาโรคหัวใจจริง ไม่มีการอมยาหรือบ้วนยาทิ้ง เมื่อยาโรคหัวใจใกล้หมดควรรีบติดต่อสัตวแพทย์หรือนำสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจไปพบสัตวแพทย์ เพื่อทำการตรวจติดตามอาการและประเมินผลการตอบสนองต่อการรักษาโรคหัวใจ แล้วรับยารักษาโรคหัวใจไปทานอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรปล่อยให้มีการขาดยาในสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจโดยเด็ดขาด เนื่องจากการดำเนินไปของโรคหัวใจในสุนัขและโรคหัวใจในแมวจะเกิดตลอดเวลา จึงอาจทำให้อาการของโรคหัวใจเป็นไปในแนวทางที่แย่ลงได้

ไม่ควรพาสุนัขเดินเล่นเป็นเวลานานเกินไป โดยเฉพาะเวลาอากาศร้อน

ไม่ควรให้สุนัขออกกำลังกายหนัก ๆ ควรพาสุนัขเดินเล่นในเวลาที่สั้นลง พาสุนัขเดินเล่นในที่ร่มหรือไม่มีแดดจัด เพื่อลดภาวะเครียดต่อหัวใจ และไม่ทำให้เกิดอาการสุนัขเป็นลม โดยสุนัขควรอยู่ในสายจูงตลอดเวลาภายใต้การดูแลของเจ้าของอย่างเคร่งครัด

ไม่ให้อาหารที่ไม่เป็นมิตรกับหัวใจสุนัขและหัวใจแมว

อาหารปรุงสำเร็จในบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ของคนหรืออาหารปรุงเอง จะมีโภชนาการตามความต้องการของคนไม่ใช่สำหรับสุนัขและแมว มักมีองค์ประกอบเป็นน้ำซุปเคี่ยวกระดูกและมีปริมาณเกลือสูงเกินความต้องการของสุนัขและแมว รวมไปถึงอาจมีกระเทียม หัวหอม เป็นองค์ประกอบ ทำให้เป็นพิษต่อสุนัขและแมว โดยการทำลายเม็ดเลือดแดงและทำให้เกิดภาวะโลหิตจางในสุนัขและแมวได้ เป็นต้น ดังนั้นเจ้าของจึงควรให้อาหารที่ไม่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจสุนัขและแมว มีปริมาณโปรตีนและพลังงานในระดับที่เพียงพอต่อกิจกรรมในแต่ละวัน ป้องกันการสูญเสียน้ำหนักตัวโดยเฉพาะในสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจระยะท้ายที่มักจะผอมจนน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว

ไม่ควรจำกัดการกินน้ำของสุนัขและแมว

เนื่องจากสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจที่ต้องรับยาโรคหัวใจต่อเนื่อง มักจะได้รับยาขับน้ำเพื่อลดภาวะคั่งน้ำในปอดและหัวใจ สุนัขและแมวจะมีความกระหายน้ำ หากปริมาณน้ำไม่เพียงพอจะยิ่งซ้ำเติมเกิดภาวะแห้งน้ำอย่างรุนแรงได้

ไม่ควรทำให้เกิดภาวะเครียด (Stress) ต่างๆ

มีหลายปัจจัยที่จะโน้มนำและกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียด ซึ่งภาวะเครียดจะส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจของสุนัขและแมวให้เร็วมากขึ้น ทำให้การทำงานของหัวใจสุนัขและหัวใจแมวผิดปกติหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

ไม่ควรละเลยการสังเกตอาการที่ผิดปกติ

การละเลยการสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านพฤติกรรมและอาการอื่น ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในสุนัขและแมวเมื่อเทียบกับปกติที่เคยเป็นอยู่ เช่น ความอยากอาหาร การขับถ่ายปัสสาวะ ปริมาณการกินน้ำ การนอนหลับ ท่าทาง และกิจกรรมทั่วไป เจ้าของควรสังเกตและทำความเข้าใจกับอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในสุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจ เช่น อาการไอแห้ง ๆ อาการไอเรื้อรัง อาการเบื่ออาหาร ซึม หอบ หายใจเร็วขึ้น ช่องท้องโตขยายใหญ่ เป็นต้น การเฝ้าสังเกตอาการเหล่านี้จะช่วยบ่งชี้ถึงอาการเพิ่มขึ้นจากการทรุดลงของโรคหัวใจ หรือจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจในสุนัขและแมวหรือโรคของระบบอื่น ๆ ในร่างกายร่วมกัน หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยารักษาโรคหัวใจสุนัขและแมวก็เป็นได้

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ. ชัญภร กวางรัตน์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

19 APR 2022
คำแนะนำจากคุณหมอ-เคล็ดลับการดูแลรักษาแมวป่วยโรคหัวใจให้เค้าอยู่กับเราไปอีกนาน
เมื่อความสำเร็จในการรักษาโรคหัวใจในแมวนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงกับคุณหมอผู้ทำการรักษาน้องแมวเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการดูแลน้องแมวจากเจ้าของด้วย บทความนี้จึงแนะนำให้เจ้าของลองมาดูกันว่าควรดูแลแมวเป็นโรคหัวใจอย่างไร ให้เค้าสามารถอยู่กับเราไปได้อีกนาน
2 SEP 2021
ความเสี่ยงซื้อยาออนไลน์ อาจเป็นอันตรายกับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะการรักษาโรคหัวใจ
คงต้องยอมรับว่าผู้บริโภคอย่างพวกเราเริ่มมีความเคยชินกับการจับจ่ายซื้อขายของผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ประกอบกับช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งการเติบโตของการซื้อของออนไลน์
1 DEC 2023
5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดูแลน้องหมาโรคหัวใจ
เมื่อพูดถึงเรื่องของ “ความเชื่อ” แล้วนั้น คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างแน่นแฟ้นและยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขภาพ การปฏิบัติตัว การรับประทานอาหาร ไม่เว้นแม้แต่ความเชื่อเกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยง ที่ในหลายๆ ครั้งถูกส่งต่อกันมาในหลากหลายวิธี ตั้งแต่ปากต่อปาก ตำนาน ไปจนถึงวิธีการอื่นๆ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารมีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็วและแพร่หลาย ผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะช่องทางยอดฮิตอย่างโซเชียลมีเดีย
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่