10 อาการเตือนที่บ่งบอกว่าสุนัขของคุณอาจป่วยเป็นโรคหัวใจในสุนัข

17 MAR 2022
share :

โรคหัวใจในสุนัขสามารถพบได้เช่นเดียวกันกับในคน สามารถพบได้ตั้งแต่เกิด (Congenital heart disease) แต่มีโอกาสเกิดได้น้อย หรือพบตามมาภายหลังเกิด (Acquired heart disease) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว โรคหัวใจมีการพัฒนาเกิดขึ้นในช่วงกลางชีวิต โดยเฉพาะในสัตว์อายุมาก

อาการของโรคหัวใจในสุนัข เมื่อสุนัขเป็นโรคหัวใจแล้ว โดยทั่วไปมักพบอาการทำให้สุนัขมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไปจากปกติ แต่อาการอาจไม่จำเพาะเจาะจง บ่งบอกได้ยาก เพราะมักมีความคล้ายคลึงกับความผิดปกติของโรคอื่น อาการค่อนข้างไม่แน่นอน บางครั้งอาจไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็น จนถึงสามารถสังเกตอาการผิดปกติได้เด่นชัดเมื่อโรคหัวใจในสุนัขมีการพัฒนาจนมีความรุนแรงมากขึ้น อาการโรคหัวใจในสุนัข มีดังนี้

1. สุนัขไอเรื้อรัง (Persistent cough) อาการไอนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้ (Allergies) โรคหอบหืด (Asthma) โรคทางเดินหายใจในส่วนต้น และหลอดลม การไอที่เกิดจากโรคหัวใจเป็นอาการหนึ่งที่มักพบในสุนัขเป็นโรคหัวใจ มีลักษณะที่สุนัขไอแห้ง ๆ หากพบว่าอาการสุนัขไอเรื้อรังเป็นเวลา 1 – 2 สัปดาห์ไม่หายไปหรือร่วมกับภาวะหายใจถี่ หรือสุนัขหายใจลำบาก อาจเกิดจากโรคหัวใจที่ไม่สามารถทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เกิดการไหลย้อนกลับและคั่งในปอด เกิดน้ำท่วมปอด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการไอได้

2. สุนัขหายใจลำบาก (Difficulty breathing) ในขณะที่เกิดภาวะคั่งของของเหลวที่ปอดนั้นทำให้เกิดการไอแล้ว ยังทำให้เกิดการหายใจลำบาก เนื่องจากการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ปอดน้อยลง โดยสุนัขจะแสดงอาการหายใจถี่และตื้น นั่งยืดคอ อ้าปากหายใจ กระสับกระส่าย ไม่สามารถนอนหมอบหรือตะแคงหลับได้

3. สุนัขซึม อ่อนล้า หรือเป็นลม (Fainting/collapsing) หากสุนัขมีอาการซึม อ่อนล้า หรือเป็นลมล้มฟุบหมดสติ อาการเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณเตือนหนึ่งของโรคหัวใจในสุนัข อย่างไรก็ตามอาการที่สุนัขซึม อ่อนล้า เป็นลม ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น โรคระบบประสาท หรือโรคทางระบบอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง จึงจำเป็นต้องพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยแยกแยะต่อไป

4. สุนัขท้องมานหรือท้องกาง (Abdominal swelling/distention) อาการช่องท้องขยายใหญ่ อาจเกิดจากปัญหาภายในช่องท้อง เช่น การอุดตันในกระเพาะอาหาร หรือเนื้องอก หรืออาจเกิดจากภาวะท้องมาน หรือการสะสมของของเหลวในช่องท้องซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคหัวใจในสุนัข การติดพยาธิหนอนหัวใจ หรืออาจเกิดจากภาวะโปรตีนต่ำ จากการติดพยาธิในลำไส้หรือโรคลำไส้อักเสบในสุนัขก็เป็นได้

5. สุนัขเหนื่อยง่ายเมื่อออกกำลังกาย ( Less tolerance to exercise) หากไม่ใช่สุนัขที่ชอบออกกำลังกาย อาจจะสังเกต ความผิดปกติได้ยาก ซึ่งอาการที่สุนัขหอบหลังออกกำลังกายมักพบเป็นปกติ แต่หากพบว่าสุนัขใช้เวลานานมากขึ้นในการพัก หรือมีอาการสุนัขหายใจหอบเหนื่อย หายใจแรง เหนื่อยง่าย ไม่อยากทำกิจกรรม อาจบ่งชี้ถึงความผิดปกติของหัวใจ เจ้าของจึงควรนำสุนัขไปตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อรับการวินิจฉัยกับสัตวแพทย์ต่อไป

6. เสียงฟู่ของหัวใจ (Heart murmur) คล้ายกับในคนที่เริ่มมีการพัฒนาโรคหัวใจเกิดขึ้น โดยเสียงหัวใจที่ได้ยินเกิดจาก การที่เลือดไหลแบบวนภายใจหัวใจ แทนที่จะไหลไปในทิศทางเดียว เช่นในกรณีลิ้นหัวใจรั่ว จึงทำให้ได้ยินเสียงผ่านการใช้หูฟัง ซึ่งระดับเสียงดังเบาอาจบ่งชี้ถึงระดับความรุนแรงของความผิดปกติได้ในบางกรณี

7. สุนัขมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการเต้นของหัวใจ (Change in heart rate) โดยปกติแล้วมักจะทราบจากการตรวจโดยสัตวแพทย์ จึงทำให้เจ้าของสัตว์มองข้ามไป แต่สามารถใช้อาการนี้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นได้ โดยปกติอัตราการเต้นของหัวใจสุนัข คือ 60 – 140 ครั้ง/นาที หากอยู่นอกเกณฑ์ทั้งเร็วหรือช้ากว่าปกติ หรือมีจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอจะบ่งชี้ถึงโรคหัวใจในสุนัข

8. สุนัขมีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนัก (Change in body weight) ปัญหาสุนัขน้ำหนักลดอาจพบได้ในกรณีที่สุนัขเป็นโรคหัวใจแบบเรื้อรัง แต่หากน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว อาจมีความสัมพันธ์กับโรคทางระบบอื่น ๆ ในบางกรณีของโรคหัวใจในสุนัข เช่น ภาวะสุนัขท้องมาน อาจพบการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักเนื่องจากการสะสมของของเหลว

9. สุนัขการกระวนกระวายหรือหลบซ่อน (Restless or hiding) อาจพบพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากความไม่สบายตัว เช่น ซึมเศร้า ซ่อนตัว กระวนกระวาย ไม่เข้าใกล้เจ้าของ หรือต่อต้าน

10. สุนัขเบื่ออาหาร (Loss of appetite) ไม่กินอาหารที่เคยชอบ ความอยากอาหารลดลง อาจเป็นอาการของความผิดปกติในหลาย ๆ ระบบ แต่หากพบร่วมกับอาการอื่นด้วย เช่น สุนัขไอแห้ง ๆ หายใจเหนื่อยหอบ จะค่อนข้างมั่นใจและบ่งชี้ได้ว่าอาจมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจในสุนัข

โดยหากสำรวจแล้ว พบว่าสุนัขมีอาการในข้อ 1 – 4 นั้น ควรรีบนำสุนัขพบสัตวแพทย์ เนื่องจากอาการค่อนข้างบ่งชี้ถึงโรคหัวใจ เจ้าของควรนำสุนัขเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญการที่ศูนย์โรคหัวใจสุนัขหรือโรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้าน เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการดูแลรักษาที่ถูกต้อง อาการหรือความผิดปกติที่กล่าวข้างต้น เป็นเพียงอาการที่เจ้าของสามารถสังเกตได้เองเบื้องต้น เนื่องจากโรคหัวใจในสุนัขนั้นมีหลายชนิด เช่น โรคที่เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งมีความสำคัญและอาการรุนแรง การจัดการ การดูแล และการรักษาที่มีอยู่ปัจจุบันนั้น มีเพียงเพื่อควบคุมอาการให้สุนัขเป็นโรคหัวใจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโดยการให้ยาโรคหัวใจสุนัข การให้อาหารรักษา และการปรับกิจกรรม

ในบางครั้งอาการของโรคอื่น ๆ อาจมีอาการแสดงคล้ายกับโรคหัวใจในสุนัข จึงเป็นปัญหาสำคัญที่อาจทำให้เจ้าของมองข้ามโรคหัวใจ โรคอื่นที่อาจแสดงอาการคล้ายโรคหัวใจในสุนัข ได้แก่ โรคข้ออักเสบ (arthritis) โรคลมชัก (seizures) โรคปอดเรื้อรัง (Chronic lung disease) ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกแยะหาสาเหตุของโรคหัวใจ ได้แก่

1. การวินิจฉัยด้วยภาพถ่ายรังสีช่องอก (Chest X-ray) เป็นวิธีที่ดีในการประเมินขนาดหัวใจ ภาวะคั่งเลือดในปอด(pulmonary congestion) และการสะสมของของเหลวในช่องอก (pleural effusion)

2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography) เพื่อตรวจหาชนิดของการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ

3. การตรวจคลื่นสะท้อนความถี่สูงหัวใจ (Echocardiography) การตรวจหาความผิดปกติทางโครงสร้างและการทำงานของหัวใจเพื่อบ่งบอกถึงสาเหตุของโรคหัวใจ รวมถึงการวัดค่าต่าง ๆ เพื่อประเมินเลือกให้การรักษาที่ครอบคลุมมากขึ้น

โรคหัวใจที่พบในสุนัขส่วนใหญ่คล้ายกับในคน คือ ไม่มีวิธีป้องกัน ยกเว้นการติดพยาธิหนอนหัวใจที่สามารถป้องกันได้ สุนัขที่เป็นโรคหัวใจแล้ว บางตัวอาจพัฒนาจนเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ สุนัขจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีหากมีการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาเบื้องต้นได้เร็ว จึงควรนำสุนัขพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคหัวใจ และตรวจเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอทุก 6 เดือนสำหรับสุนัขอายุมาก เพื่อชีวิตที่ยืนยาวของสุนัขต่อไป หรือสามารถตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจเบื้องต้นได้ที่ Your Pet Heart : ดูแลหัวใจ ห่วงใยสัตว์เลี้ยง

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ. ชัญภร กวางรัตน์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

17 MAY 2021
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงในสุนัข
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงในสุนัขเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติไป ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้น้อย ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายน้อยลง มีผลให้กล้ามเนื้อ หัวใจขยายใหญ่ และเกิดภาวะหัวใจโตตามมา
11 JAN 2022
การประเมินอาการสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือมีภาวะหัวใจล้มเหลวที่บ้าน
เมื่อสัตว์เลี้ยงของเรา มีอาการที่ผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก มีอาการไอแห้งบ่อย ๆ ในสุนัข หรือแสดงอาการไม่ใช้สองขาหลังเฉียบพลัน ซึ่งมักพบได้บ่อยในแมว เจ้าของควรนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ หลังจากทำการตรวจวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์แล้ว
7 MAR 2023
สัตว์เลี้ยงของเราถึงเวลาตรวจเช็คสุขภาพหัวใจหรือยัง จะทราบได้อย่างไร
“หัวใจ” เป็นอวัยวะที่สำคัญมีหน้าที่สูบฉีดเลือด เพื่อนำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายสัตว์เลี้ยง จึงจำเป็นที่เราจะต้องใส่ใจในเรื่องของหัวใจ เพราะหากหัวใจไม่แข็งแรงหรือทำงานผิดปกติ ก็อาจจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ตามมา
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่