ยารักษาโรคหัวใจสุนัขออกฤทธิ์อย่างไร? ทำไมถึงช่วยยืดอายุได้ ต้องให้กินตลอดไปไหม?

23 JUL 2024
share :

เคยสงสัยมั้ยคะ ยาโรคหัวใจที่คุณหมอจ่ายมาให้น้องสุนัขนั้น คือยาอะไรบ้าง และแต่ชนิดมีผลต่อสุนัขอย่างไร ทำไมหมอหัวใจถึงกำชับนักหนาในการป้อนยาให้สม่ำเสมอ การรักษาโรคหัวใจนั้นจะแตกต่างกันตาม ชนิดโรคหัวใจที่เป็นค่ะ หากเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแก้ไข ในขณะที่อาการโรคหัวใจอื่นนั้นต้องได้รับการควบคุมด้วยยารักษาโรคหัวใจ

เมื่อน้องสุนัขได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจและอยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับยาโรคหัวใจแล้วนั้น แสดงว่าหัวใจของน้องสุนัขมีการขยายขนาดแล้วค่ะ คุณหมอจะแจ้งเจ้าของว่า ตอนนี้หัวใจน้องโตแล้วนะคะ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น เมื่อนานวันเข้า หัวใจก็จะบอกว่าฉันทำงานไม่ได้แล้วนะ อาการของโรคหัวใจล้มเหลวก็แสดงออกมา อาการที่เราพบได้บ่อยๆ ได้แก่ ภาวะน้ำท่วมปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวน้อย มีน้ำในช่องท้อง มีน้ำในช่องอก เป็นต้น ดังนั้นเมื่อคุณหมอตรวจพบหัวใจโตและได้ทำการอัลตราซาวน์หัวใจแล้วก็จะจ่ายยาสำหรับช่วยการทำงานของหัวใจน้องๆ นั่นเองค่ะ การให้ยาในสุนัขที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว จะเริ่มต้นให้ยาในระยะที่สุนัขเริ่มมีภาวะหัวใจโต (Stage B2) ตามแนวทางของ American College of Veterinary Internal Medicine (ACVIM) และเมื่อเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว (Stage C) น้องสุนัขก็จะได้รับยาหลายชนิดใช้ร่วมกันมากขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระการทำงานของหัวใจ ลดภาวะคั่งน้ำในร่างกาย เพิ่มการไหลเวียนเลือดเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ ช่วยควบคุมความเร็วและจังหวะการเต้นของหัวใจ และช่วยให้น้องสุนัขมีคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นถึงแม้โรคหัวใจนั้นจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ก็ตาม

แล้วถ้าสุนัขที่เป็นโรคหัวใจ แล้วไม่ได้รับยาหัวใจล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น ในช่วงแรกๆ นั้นเราอาจจะไม่เห็นอาการแสดงที่ผิดปกติ จนเมื่อหัวใจทนไม่ไหวแล้ว น้องสุนัขก็จะเกิดหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน หากพามาโรงพยาบาลรักษาไม่ทันก็จะเสียชีวิตได้ทันทีด้วยระบบทางเดินหายใจและหัวใจล้มเหลว การรับยาหัวใจตั้งแต่ก่อนเข้าสู่หัวใจล้มเหลวมีรายงานว่าจะช่วยให้โรคหัวใจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ช้าลง ช่วยยืดอายุและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้

จนถึงตอนนี้เจ้าของลองเอายาโรคหัวใจของน้องๆ มาดูสิคะว่า มียาอะไรกันบ้าง และทำงานช่วยเหลือหัวใจของน้องๆ อย่างไร ยาโรคหัวใจนั้นมีหลายกลุ่มค่ะ ซึ่งจะมีหน้าที่การทำงานแตกต่างกันไปตามอาการที่รุนแรงมากขึ้น ยาที่ใช้บ่อยๆ ได้แก่

1. ยาเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ ได้แก่ Pimobendan เป็นยาที่ช่วยเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจและช่วยขยายหลอดเลือดได้อีกด้วย ใช้สำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวจากโรคลิ้นหัวใจรั่ว (myxomatous mitral valve disease) และโรคผนังหัวใจบางและบีบตัวน้อย (Dilated cardiomyopathy) เมื่อหัวใจบีบตัวไล่เลือดได้ดี ก็จะทำให้อวัยวะปลายทาง เช่น สมอง ตับ ไต ได้รับเลือดและออกซิเจนได้ดีขึ้นค่ะ แต่การดูดซึมยาจะน้อยลงเมื่อให้ร่วมกับอาหารดังนั้นจึงเป็นยาที่ควรให้ก่อนอาหารประมาณ 30 นาทีนะคะ มีรายงานผลข้างเคียงจากการใช้ยาน้อยมาก

2. ยาขับน้ำ ได้แก่ Furosemide Torsemide Spironolactone เป็นต้น เมื่อหัวใจเสื่อมและทำงานควบคุมการไหลเวียนเลือดได้แย่ลง จะเกินภาวะน้ำเกินในร่างกาย ที่พบบ่อยที่สุดในโรงพยาบาล คือ อาการน้ำท่วมปอดค่ะ น้องสุนัขจะหายใจหอบ ไอ ยืดคอหายใจ เหมือนคนจมน้ำ และสุดท้ายก็จะจากไปค่ะ หากมีอาการเช่นนี้ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันทีเพื่อรับยาขับน้ำค่ะ ยาขับน้ำจะช่วยลดภาวะคั่งน้ำในปอดและบวมน้ำในร่างกายที่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นยาสำคัญอีกตัวหนึ่งที่ควรได้รับตรงเวลาและไม่ขาดยานะคะ เพราะอาการน้ำท่วมปอดจะเกิดขึ้นได้ฉับพลัน ยาที่ใช้บ่อยๆ มีดังนี้ค่ะ

  • ยาที่ออกฤทธิ์ที่ loop diuretic ได้แก่ Furosemide Torsemide ช่วยขับน้ำและโซเดียมออกจากร่างกาย เป็นยาขับน้ำประสิทธิภาพสูง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งจะใช้ยาไม่ได้ผลเนื่องจากมีการปรับตัวของการดูดกลับของโซเดียมมากขึ้น ยา Torsemide นั้นมีฤทธิ์แรงกว่า Furosemide หลายเท่าและมีระยะออกฤทธิ์นานกว่า จึงพิจารณาให้เมื่อสัตว์ได้รับ Furosemide ขนาดสูงแล้วไม่ได้ผลเมื่อคุณหมอจ่ายยากลุ่มนี้แล้วก็จะมีการตรวจค่าการทำงานของไตเป็นระยะ และควรสังเกตการปัสสาวะต่อวันเพื่อเฝ้าระวังภาวะแห้งน้ำจากการได้รับยาขับน้ำ
  • ยากลุ่ม potassium-sparing diuretics เช่น Spironolactone เป็นยาขับปัสสาวะที่ลดการดูดกลับโซเดียมและลดการขับทิ้งโพแทสเซียมในร่างกายทำให้ลดโอกาสการเกิดภาวะโพแทสเซียมต่ำ คุณหมอจะจ่ายยานี้เพื่อช่วยเรื่องการขับน้ำร่วมกับยากลุ่มที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

3. ยายับยั้ง angiotensin-converting enzyme ได้แก่ Enalapril Ramipril Benazepril Imidapril

ยาในกลุ่มนี้มีผลต่อการควบคุมการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ปริมาตรเลือด ความดันใน หลอดเลือดและสมดุลของเหลวในร่างกาย และช่วยทำให้หัวใจไม่ต้องทำงานหนักเกินไป เมื่อได้รับยากลุ่มนี้ ควรมีการเฝ้าระวังความดัน ค่าไตและโพแทสเซียม หากสุนัขที่มีภาวะความดันต่ำหรือจะเข้ารับการวางยาสลบ คุณหมออาจจะพิจารณางดยาในกลุ่มนี้ชั่วคราวค่ะ ดังนั้นหากน้องสุนัขมีการเพลีย ไม่มีแรง ควรแจ้งคุณหมอหัวใจให้ทราบด้วยนะคะ

  • Enalapril ออกฤทธิ์นาน 12-14 ชั่วโมง ดังนั้นสัตวแพทย์จึงสั่งจ่ายยาให้ ทุก 12 ชั่วโมง ผลข้างเคียงที่พบ ได้แก่ ความดันเลือดลดลง ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้ในสุนัขที่มีปัญหาตับและไตบกพร่อง
  • Ramipril เป็นยากลุ่มออกฤทธิ์นาน สามารถให้ยาทุก 24 ชั่วโมงได้ ยาถูกขับออกทางไตประมาณ 50%
  • Benazepril ใช้ในเคสที่มีความดันเลือดสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • Imidapril เป็นยารูปแบบน้ำ เป็นยาที่ควรให้ขณะท้องว่าง

4. ยาขยายหลอดเลือด ได้แก่ amlodipine เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของแคลเซียม ทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด ส่งผลให้ความดันเลือดลดลง ยาอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วได้ ควรมีการติดตามวัดความดันและนับอัตราการเต้นของหัวใจเป็นระยะ เนื่องจากอาจมีภาวะความดันต่ำได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ได้รับยาในขนาดสูง

5. ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่ Atenolol Diltiazem เป็นต้น อาการที่หมอพบบ่อยเมื่อหัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งช้าและเร็วเกินไป คือ อาการเป็นลม อ่อนแรง เหมือนจะวูบ แหงนคอตาลอย แขนขาดูอ่อนแรงไปหมด มักพบหลังจากมีกิจกรรมที่ออกแรงหนักๆ เช่น เห่ามาก ดีใจมากเมื่อเจ้าของกลับมาบ้าน ว่ายน้ำ หรือวิ่งหนักๆ และเกิดเมื่อหัวใจโตมากๆ ด้วยค่ะ ยากลุ่มนี้จะช่วยควบคุมการเต้นหัวใจให้เข้าสู่ปกติให้มากที่สุดเพื่อให้การเต้นของหัวใจแต่ละครั้งมีประสิทธิภาพมากพอที่จะส่งเลือด ส่งออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง และอวัยวะสำคัญอื่นๆ

  • Atenolol เป็นยากลุ่ม beta-blocker มีฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดแรงการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และสามารถใช้ในการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ผลข้างเคียงที่พบ ได้แก่ ความดันต่ำ หัวใจเต้นช้า ซึม ไม่อยากอาหารและท้องเสีย ควรระมัดระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดันตัวอื่นหรือในสัตว์ตั้งท้อง
  • - Diltiazem เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ใช้กรณีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ หลังจากใช้ยาควรติดตามอัตราการเต้นหัวใจ เราจะเห็นว่ายาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น มีความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นตัวช่วยที่สำคัญของการ

ทำงานของหัวใจที่เสื่อมและล้มเหลวไปแล้ว หากสุนัขได้รับยาไม่ครบหรือขาดยา จะมีความเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ สุนัขที่เป็นโรคหัวใจมักจะต้องรับยาไปตลอดเลยนะคะ ยกเว้นแต่ว่าเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา คุณหมอจะมีการตรวจติดตามการใช้ยาเป็นระยะ และพิจารณาการปรับยาตามอาการค่ะ

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch และสามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App เพื่อช่วยในการนับและบันทึกอัตราการหายใจได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ. รติพร ตันติศักดิ์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

13 DEC 2022
สารอาหารสำคัญชนิดไหนที่ช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง
ในสุนัขและแมวที่พบว่ามีปัญหาป่วยโรคหัวใจนั้น นอกจากยาโรคหัวใจที่เราจะใช้เพื่อช่วยในการรักษาแล้ว การจัดการปัจจัยด้านอื่น ๆ ก็ช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีอายุที่ยืนยาวขึ้นได้ การจัดการอาหารที่เหมาะสม ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการรักษาสัตว์ป่วยโรคหัวใจให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น อีกทั้งยังอาจมีส่วนช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งในสัตว์แต่ละตัวก็มีการจัดการอาหารที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค การซักประวัติ การตรวจร่างกาย หรือการมีโรคระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย เป็นต้น
18 APR 2024
โรคหัวใจในสุนัขและภาวะแทรกซ้อน
หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เมื่อหัวใจทำงานเสื่อมลงหรือมีความผิดปกติก็สามารถส่งผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญอื่นๆ ได้ด้วย สุนัขที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจนั้น จะแบ่งกลุ่มหลักๆ ได้สองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังไม่แสดงอาการและกลุ่มที่แสดงอาการ ในกลุ่มที่อยู่ในระยะแสดงอาการแล้ว
14 JUN 2024
น้องหมาก็เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ อันตรายเสี่ยงโรคหัวใจ
โรคความดันโลหิตสูงเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นเนื่องจากส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและอายุของน้องหมามากขึ้น ภาวะความดันโลหิตสูงหรือ systemic hypertension นั้นเป็นภาวะที่มีการเพิ่มสูงขึ้นของความดันโลหิตในขณะหลอดเลือดหดตัว (systolic blood pressure, SBP) เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากภาวะนี้ความรุนแรงจะไม่ได้เกิดขึ้นกับชีวิตของน้องหมาแบบฉับพลัน แต่ความเสียหายจะค่อย ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง ในร่างกายที่ “อวัยวะเป้าหมาย”
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่