น้องหมาก็เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ อันตรายเสี่ยงโรคหัวใจ

14 JUN 2024
share :

โรคความดันโลหิตสูงเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นเนื่องจากส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและอายุของน้องหมามากขึ้น ภาวะความดันโลหิตสูงหรือ systemic hypertension นั้นเป็นภาวะที่มีการเพิ่มสูงขึ้นของความดันโลหิตในขณะหลอดเลือดหดตัว (systolic blood pressure, SBP) เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากภาวะนี้ความรุนแรงจะไม่ได้เกิดขึ้นกับชีวิตของน้องหมาแบบฉับพลัน แต่ความเสียหายจะค่อย ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง ในร่างกายที่ “อวัยวะเป้าหมาย” หรือ Target organ damage (TOD) หลักๆ 4 ระบบ คือ ตา ไต หัวใจและสมอง ถ้าความดันสูงเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ในหลายระบบได้ ดังนั้นจึงควรมีการตรวจความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอและบ่อยครั้งมากขึ้น การวัดค่าความดันโลหิตนั้นมีวิธีการวัด 2 แบบ คือ

1. การวัดทางตรง (Direct blood pressure) โดยทำการใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงเพื่อทำการวัดความดัน แม้จะเป็นวิธีมาตรฐาน (Gold standard) แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้น้องหมาต้องเจ็บตัว

2. การวัดทางอ้อม (Indirect blood pressure) มี 2 แบบ โดยการใช้เครื่องมือ Doppler หรือ oscillometers ในการวัดความดัน

สิ่งสำคัญไม่แพ้เครื่องมือที่ใช้ในการวัดความดันโลหิตคือ ขั้นตอนการวัดความดันโลหิตเพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้องและแม่นยำ โดยสามารถทำได้ดังนี้

1.) ต้องทำการทวนสอบ (calibration) อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการวัดความดันสม่ำเสมอ แนะนำให้ทำ 2 ครั้งต่อปี

2.) ต้องทำการวัดในสถานที่เงียบและแยกจากห้องที่มีสัตว์อื่นอยู่ แนะนำให้เจ้าของอยู่กับน้องหมาขณะที่ทำการวัดตลอด ไม่ควรใช้ยาซึมและควรให้สุนัขปรับสภาพกับสถานที่ประมาณ 5-10 นาทีก่อนเริ่มดำเนินการตรวจวัดความดัน ควรทำการวัดในขณะที่สุนัขปรับตัวแล้วและรู้สึกสบายตัว

3.) จับบังคับในขณะวัดด้วยความนุ่มนวลและให้สุนัขนอนในท่าที่สบายตัว ส่วนใหญ่จะให้นอนคว่ำหรือนอนตะแคง และตำแหน่งที่ใช้วัดไม่ห่างจากระดับหัวใจเกิน 10 ซม. ในแนวตั้ง หากระยะห่างมากกว่า 10 ซม. ต้องทำการปรับค่าความดันที่วัดมาได้ โดยการเพิ่ม 0.8 มม.ปรอทต่อระยะ 1 ซม.ที่ต่ำกว่าหัวใจหรือลด 0.8 มม.ปรอทต่อระยะ 1 ซม.ที่สูงกว่าหัวใจ

4.) ขนาดปลอกที่ใช้วัด (cuff) จะคิดเป็น 30-40 % ของความยาวรอบวงของตำแหน่งที่วัด

5.) ตำแหน่งที่วัดจะเป็นขาหรือหางก็ได้

6.) วัดซ้ำ 5-7 รอบและทำการบันทึกค่าที่ได้ สามารถทำซ้ำได้หากไม่มั่นใจแล้วหาค่าเฉลี่ย

7.) ต้องทำการบันทึกคนที่ทำการตรวจ ขนาดปลอกที่ใช้วัด ตำแหน่งที่ใช้วัด ค่าที่วัดได้ทั้งหมด รวมไปถึงค่าเฉลี่ยที่ได้และการแปลผลด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น สายพันธุ์ อายุ เพศ หรือความดันโลหิตที่สูงเป็นผลมาจาก white coat syndrome คืออาการของความเครียดในสุนัขเมื่อถูกพามาโรงพยาบาล และค่าความดันโลหิตที่สูงในสุนัขบางตัวอาจไม่ได้ส่งผลให้เกิดโรคตามมา โดยทั่วไปแบ่งภาวะความดันโลหิตสูงได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. ภาวะความดันโลหิตสูงจากสภาวะรอบข้างหรือมีความเครียดเป็นตัวกระตุ้น (Situational hypertension)

2. ภาวะความดันโลหิตสูงแบบทุติยภูมิ (Secondary hypertension) เกิดความดันโลหิตเพิ่มสูงเป็นระยะเวลานานโดยอาจจะมีโรคหรือภาวะอื่นที่เป็นสาเหตุของภาวะความดันโลหิตโลหิตสูงได้

  • 2.1 โรคที่พบว่าเป็นสาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูงในสุนัข ได้แก่ ไตวายเรื้อรัง ไตวายเฉียบพลัน โรคที่มีการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตมากเกิน (hyperadrenocorticism) เบาหวาน โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (pheochromocytoma) เป็นต้น
  • 2.2 ยาหรือสารที่มีผลทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ได้แก่ ยาสเตียรอยด์
  • 2.3 สารพิษที่มีทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง

3. ภาวะความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิ (Idiopathic/Primary/Essential hypertension) ภาวะความดันโลหิตสูงแบบไม่ทราบสาเหตุ โดยวินิจฉัยพบระดับความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานร่วมกับการตรวจค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ค่าเคมีในเลือด และผลตรวจปัสสาวะ (urinalysis) ปกติ ทำให้การตรวจไม่พบสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิต

ซึ่งมาตรฐานความดันเลือดปกติ คือ น้อยกว่า 140 มม.ปรอท ความดันเลือด 140 – 159 มม.ปรอท ควรทำการวัดซ้ำ มีความเสี่ยงน้อย ความดันเลือด 160 – 179 มม.ปรอท มีความเสี่ยงปานกลางและเริ่มส่งผลเสียต่ออวัยวะเป้าหมาย หากความดันเลือดมากกว่า 180 มม.ปรอท จะส่งผลเสียรุนแรงต่ออวัยวะเป้าหมาย ควรทำการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อน

อาการในสุนัขที่มีความดันโลหิตสูงมักไม่แสดงอาการ แต่หากมีความรุนแรงมากอาจพบอาการ ชัก เดินเซหรือเดินวนเป็นวงกลม มึนงง รูม่านตาขยาย มีเลือดออกที่ดวงตา จอประสาทตาลอกหลุด ตาบอด ปัสสาวะมีเลือด พบโปรตีนในปัสสาวะ มีเลือดออกจมูก ไตมีการบวมหรือหดตัว เสียงหัวใจผิดปกติ อ่อนแรง

ความดันโลหิตสูงมีผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของหัวใจ หากเกิดภาวะความดันในหลอดเลือดสูงจะทำให้เกิดแรงต้านการทำงานของหัวใจ ผลที่ตามมา คือ หัวใจล่างซ้ายเกิดการหนาตัวขึ้น บางครั้งพบหัวใจเต้นผิดจังหวะและได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติเมื่อสัตวแพทย์ได้ทำการตรวจร่างกาย หากมีความรุนแรงและเป็นระยะเวลานานส่งผลต่อหัวใจ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด แต่พบได้น้อยมาก นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดเกิดภาวะเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ทำให้สมองขาดเลือด และอาจทำให้หลอดเลือดแดง aorta แตก เป็นต้น

วิธีการรักษา

ในการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงนั้นมีเป้าหมายในการรักษาหรือการให้ยาลดความดันเพื่อจะลดความเสียหายหรือลดความรุนแรงของอวัยวะเป้าหมาย โดยทั่วไปภาวะความดันโลหิตสูงไม่ควรที่จะให้ยาเพื่อทำให้ความดันตกอย่างรวดเร็วเกินไป ดังนั้นเป้าหมายการรักษาให้ลดความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140 มม.ปรอท เพื่อลดความเสี่ยงของอวัยวะเป้าหมาย ควรทำการปรับยาลดความดันให้เหมาะสมและทำการตรวจประเมินซ้ำอีกครั้งเมื่อพบว่าความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 160 มม.ปรอท และในทางตรงกันข้ามหากพบว่าความดันโลหิตน้อยกว่า 120 มม.ปรอท ร่วมกับน้องหมามีอาการอ่อนแรง (weakness) เป็นลม (syncope) หรืออัตราการเต้นของหัวใจมากกว่าปกติ (tachycardia) บ่งชี้ถึงภาวะความดันโลหิตต่ำ (hypotension) ซึ่งควรทำการปรับลดยาลดความดันให้ทันท่วงทีอย่างเหมาะสม ชนิดของยาลดความดันมีหลายชนิด โดยสัตวแพทย์จะเป็นผู้แนะนำชนิดของยาลดความดันให้เหมาะสมกับชนิดของโรคหรือสาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง

ควรปรับอาหารโดยให้อาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำและรักษาโรคที่เป็นสาเหตุไปพร้อมกัน ร่วมกับการลดน้ำหนักในน้องหมาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ดังนั้นน้องหมาที่เริ่มเข้าสู่อายุช่วงสูงวัยและมีความเสี่ยงควรพาน้องหมามาตรวจสุขภาพและวัดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอ

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch และสามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App เพื่อช่วยในการนับและบันทึกอัตราการหายใจได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ. ชัญภร กวางรัตน์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

7 JUL 2022
รู้ก่อนป่วย รักษาก่อนเป็นหนัก “อาการแบบไหน” ที่ต้องเริ่มให้ยารักษาโรคหัวใจ เพื่อจะได้ช่วยให้เค้าอยู่กับเราไปนานๆ
ภาวะโรคหัวใจ หมายถึง ภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ (ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะในสุนัขและแมว) โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของลักษณะโครงสร้าง เช่น ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว กล้ามเนื้อหัวใจเสียความยืดหยุ่นหรืออ่อนแรง ผนังห้องหัวใจรั่ว
11 FEB 2022
“สุนัขไอเรื้อรัง” อาการที่พบได้บ่อยนี้ นอกจากโรคหัวใจ มีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการไอ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในสุนัข ไม่ว่าจะเป็นอาการที่สุนัขไอแห้ง หรือสุนัขไอเรื้อรัง ก็เป็นหนึ่งในอาการที่ทำให้เจ้าของรู้สึกไม่สบายใจ เมื่อสุนัขในบ้านมีอาการไอเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดขึ้นแบบเรื้อรัง สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้สุนัขไอเรื้อรัง
6 AUG 2021
วิธีการให้ยาในสุนัขและแมวที่เป็นโรคหัวใจ
เมื่อสุนัขและแมวที่เป็นโรคหัวใจ มีภาวะหัวใจล้มเหลว สัตวแพทย์จะจ่ายยาโรคหัวใจเพื่อช่วยควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดขึ้น ช่วยลดภาวะปอดบวมน้ำ ท้องมาน หรืออาการบวมตามร่างกาย
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่