การดูแลสุขภาพหัวใจในสุนัขป่วยโรคหัวใจ เป็นการดูแลแบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นการป่วยในระยะที่ยังไม่แสดงอาการป่วย (asymptomatic) หรือระยะที่แสดงอาการป่วยแล้ว (symptomatic) ซึ่งในกลุ่มแรกอาจมีการใช้ยาตามความเหมาะสม ส่วนในกลุ่มหลังจำเป็นต้องมีการใช้ยาประกอบการรักษาด้วยเสมอ
1. ยา การใช้ยาอย่างถูกต้องจะช่วยให้การดูแลสุนัขป่วยโรคหัวใจมีประสิทธิภาพและช่วยยืดระยะเวลาการรอดชีวิตได้ การใช้ยาควรเลือกซื้อยาจากสถานพยาบาลสัตว์ที่น่าเชื่อถือใช้ยาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งปริมาณและความถี่ในการให้ยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง (ไม่แนะนำให้ใส่ยาในอาหารหากไม่มั่นใจว่าสุนัขจะกินได้หมด) ไม่ควรปรับยาเอง หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยา หรือการใช้ยาร่วมกับการรักษาโรคอื่นๆ ควรปรึกษาสัตวแพทย์เสมอเพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของสุนัขป่วย
2. อาหาร อาหารของสุนัขป่วยโรคหัวใจ ควรเป็นอาหารที่มีปริมาณเกลือ (sodium) ต่ำ เพื่อลดการกระตุ้นการเก็บน้ำไว้ในร่างกายมากเกินไป โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นต้องบังคับให้ทานแต่อาหารสำเร็จรูปเท่านั้น ผู้เลี้ยงสุนัขสามารถปรุงอาหารสด (homemade diet) ให้สุนัขกินได้ โดยคำนวณตามสัดส่วนของสารอาหารและพลังงานที่สุนัขควรได้รับในแต่ละวัน โดยยึดหลักที่ว่า “ยอมให้สุนัขทานอาหารเองได้บ้างดีกว่าต้องบังคับให้ทานอาหารที่เคร่งครัดเกินไป” ซึ่งหากสุนัขไม่ยอมทานอาจทำให้เกิดความเครียดหรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และที่ต้องให้ความสำคัญพอๆ กับอาหารก็คือ น้ำ ในแต่ละวันสุนัขควรได้รับน้ำอย่างเพียงพอด้วย โดยเฉพาะสุนัขที่ได้รับยาขับน้ำ ควรให้สุนัขได้รับน้ำเองอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ปริมาณน้ำโดยประมาณที่สุนัขควรได้รับในแต่ละวันเท่ากับ น้ำหนักตัว คูณด้วย 50 (เช่น สุนัขหนัก 5 กิโลกรัม ควรได้รับน้ำวันละ 250 มิลลิลิตร) โดยนับรวมทั้งน้ำดื่มและน้ำที่อยู่ในอาหาร การให้อาหารเสริมหรือขนมแก่สุนัขป่วยควรคำนึงถึงส่วนประกอบและความปลอดภัยด้วย
3. การออกกำลังกาย คนส่วนมากจะเข้าใจว่าสุนัขป่วยโรคหัวใจห้ามออกกำลังกาย ความจริงแล้วไม่ได้มีข้อห้ามในการออกกำลังในสุนัขกลุ่มนี้เลย เพียงแต่ต้องทำด้วยความเข้าใจและเหมาะสมตามสภาวะของสุนัขแต่ละตัว การออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์หลายอย่างทั้งต่อร่างกายและจิตใจ ดังที่มีรายงานการศึกษามากมาย ซึ่งประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่การที่มีการขยับเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง ทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ ได้ใช้งานทำให้สามารถรักษามวลของกล้ามเนื้อไว้ได้ ข้อต่อจะมีการสร้างน้ำเลี้ยงข้อสม่ำเสมอช่วยให้การเคลื่อนไหวเป็นไปด้วยดี อัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นในระดับที่พอดีไม่สูงเกินไปจะช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น และยังส่งเสริมสมรรถภาพการทำงานของหัวใจอีกด้วย นอกจากนี้อาจยังสามารถช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินของสุนัขลงได้ด้วยซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม
3.1 การจูงเดินระยะทางสั้นๆ (short walks) พบว่าการจูงสุนัขเดินเป็นเวลานาน 25 นาทีต่อวันช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจของสุนัขลงถึงร้อยละ 50 การจูงสุนัขเดินหรือวิ่งเบาๆ สามารถทำได้ตามสภาพสุนัขแต่ละตัว ไม่ให้เหนื่อยมากเกินไป เป็นไปตามจังหวะที่สุนัขยังรู้สึกสบาย (dog’s pace) โดยต้องสังเกตอาการของสุนัขตลอดเวลา หากสุนัขมีอาการหอบหายใจเร็วมาก หรือทรุดลงนั่ง ควรให้หยุดพักการเดิน และควรหลีกเลี่ยงการพาเดินในช่วงเวลาหรือสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด และควรป้องกันหรือเลี่ยงสิ่งที่สุนัขไม่ชอบหรือสิ่งที่จะกระตุ้นให้สุนัขต้องใช้แรงเยอะหรือทำให้หัวใจต้องเต้นเร็วมากกว่าปกติด้วย
3.2 ให้จมูกนำทาง หรือ sniffaris คือการปล่อยให้สุนัขออกไปหาสิ่งที่สุนัขสนใจภายนอก สุนัขมักจะใช้จมูกดมสำรวจไปในสิ่งแวดล้อมรอบตัวและพยายามเดินไปเรื่อยๆ ถือเป็นการทำให้สุนัขรู้สึกสดชื่นขึ้นด้วย
3.3 การออกกำลังกายในน้ำ (aquatic exercise) มี 2 วิธี คือ การว่ายน้ำ เป็นกิจกรรมที่สุนัขส่วนมากชอบแต่ไม่ใช่ทุกตัว เหมาะกับสุนัขป่วยโรคหัวใจที่เคยว่ายน้ำมาก่อนแล้ว และอยู่ในระยะที่ควบคุมอาการได้คงที่ แนะนำให้ว่ายน้ำได้ในระยะเวลา 15-30 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขเหนื่อยหรือมีอัตราการเต้นของหัวใจที่มากเกินไป2 วิธีที่ 2 คือ การเดินลู่วิ่งใต้น้ำ (underwater treadmill) เหมาะกับสุนัขที่ไม่เคยออกกำลังกายในน้ำมาก่อน โดยการออกกำลังกายในน้ำของสุนัขป่วยโรคหัวใจนี้ควรขอความเห็นและได้รับการประเมินจากสัตวแพทย์ก่อน และต้องสวมชูชีพให้สุนัขตลอดเวลาและมีผู้เฝ้าสังเกตใกล้ชิด ทั้งสีเยื่อเมือก ลิ้น และการหายใจ ถ้าสุนัขมีอาการกระวนกระวายมากควรหยุดกิจกรรมทันที
3.4 การเล่น ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น จานร่อน ลูกเทนนิส Destruction box หรือ puzzle game ต่างๆ ก็เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการขยับร่างกาย แบบไม่เหนื่อยมาก และเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างสุนัขและเจ้าของได้ดี ทั้งยังช่วยให้สุนัขเกิดความผ่อนคลายจากกิจกรรมที่ชื่นชอบและจัดเป็นการฝึกสมองไปในตัวอีกด้วย
สุดท้ายนี้หัวใจของการดูแลสุขภาพหัวใจในสุนัขป่วยโรคหัวใจก็คือความเอาใจใส่จากเจ้าของสุนัขและสัตวแพทย์ร่วมกัน จะต้องสอดประสานกันจึงจะประสบผลสำเร็จในการช่วยให้สุนัขป่วยนั้นได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch
และสามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App เพื่อช่วยในการนับและบันทึกอัตราการหายใจได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่
สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”