‘ยาโรคหัวใจสุนัข’ ยาสำหรับสุนัขเป็นโรคหัวใจ สังเกตอย่างไรให้มั่นใจว่าไม่ใช่ยาปลอม?

24 FEB 2022
share :

โรคหัวใจในสุนัข ภัยอันตรายใกล้ตัวที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะเราสามารถช่วยยืดอายุของสุนัขที่ป่วยได้ด้วยยาโรคหัวใจสุนัข

เนื่องจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นในปัจจุบัน ทำให้มีวิธีที่สามารถช่วยชะลอความรุนแรงของโรค และทำให้สุนัขเป็นโรคหัวใจสามารถอยู่กับเจ้าของได้นานขึ้นได้ โดยการให้ ‘ยาโรคหัวใจสุนัข’ นั่นเอง แล้วยาโรคหัวใจสุนัขนี้สามารถหาได้จากที่ไหน? เจ้าของสามารถหาซื้อเองได้หรือไม่? แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ายานั้นปลอดภัย ไม่ใช่ยาปลอม? บทความนี้มีคำตอบ

โรคหัวใจในสุนัข เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขทุกขนาดและทุกสายพันธุ์ โดยสุนัขอาจป่วยเป็นโรคหัวใจได้ตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากความผิดปกติในการทำงานของหัวใจหรือโรคประจำสายพันธุ์ หรืออาจป่วยหลังกำเนิด เนื่องจากน้ำหนักหรืออายุที่มากขึ้น เมื่อสุนัขเป็นโรคหัวใจแล้ว จะมีไอแห้ง หอบ ซึม หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร เป็นต้น โดยอาการที่แสดงจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคหัวใจในสุนัขด้วย

เมื่อสัตว์เลี้ยงของเราป่วยเป็นโรคหัวใจแล้ว เจ้าของหลายคนมักเกิดความกังวลใจว่าจะรักษาอย่างไร? โรคหัวใจในสุนัขรักษาที่ไหนดี? คำตอบที่ดีที่สุดคือควรรีบพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับอาการของโรค รวมถึงสาเหตุของโรคด้วย โดยวิธีเริ่มต้นที่นิยมใช้ในการรักษาโรคหัวใจในสุนัขหลังวินิจฉัยมากที่สุดคือ การให้ยารักษาโรคหัวใจสุนัข

ยาโรคหัวใจสุนัข มีกลุ่มยาหลากหลายที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจในสุนัข เช่น ยาขับน้ำ ยากลุ่มช่วยการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ยากลุ่มควบคุมระบบประสาทและฮอร์โมน ยาขยายหลอดเลือด และยาต้านการทำงานของเกล็ดเลือด เป็นต้น โดยสัตวแพทย์จะจ่ายยาที่เหมาะสมกับอาการของโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยงแต่ละตัวมากที่สุด

ยาโรคหัวใจสุนัข หาได้จากที่ไหน สามารถหาซื้อเองได้หรือไม่

นอกจากที่กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่ายาโรคหัวใจสุนัข ควรได้รับจากการพาสุนัขที่ป่วยเป็นโรคหัวใจไปเข้ารับการรักษากับสัตวแพทย์ ไม่แนะนำให้เจ้าของหาซื้อยาโรคหัวใจสุนัขด้วยตนเอง เนื่องจากยาโรคหัวใจที่ให้ในสุนัข ต้องเป็นกลุ่มยาที่เหมาะสมกับอาการป่วยนั้นๆและเป็นชนิดที่สัตวแพทย์แนะนำเท่านั้น เพื่อจะมั่นใจได้ว่าเป็นยาโรคหัวใจสุนัขที่ปลอดภัยต่อสุนัขของเราจริงๆ อีกทั้งสัตวแพทย์ต้องมีการปรับเปลี่ยนขนาดยาให้เหมาะสมตามอาการของโรคหัวใจที่เปลี่ยนแปลงไป จึงไม่แนะนำให้เจ้าของไปหาซื้อยาเอง เพราะนอกจากจะทำให้ได้ยาที่ไม่ตรงกับอาการของโรคที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วยังมีความเสี่ยงที่อาจเจอยาปลอมหรือยาที่ไม่ได้คุณภาพอยู่ไม่น้อย เนื่องจากในปัจจุบัน ยาโรคหัวใจสุนัขที่วางขายอยู่บนอินเทอร์เน็ต ส่วนมากมักเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิต หรืออาจจะเป็นยาเสื่อมคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการรับรอง หรือเป็นยาปลอม แล้วเจ้าของจะมีวิธีสังเกตอย่างไรให้มั่นใจได้ว่ายาโรคหัวใจสุนัขที่กำลังจะซื้อนั้นเป็นยาที่มีคุณภาพและไม่ใช่ยาปลอม?

วิธีสังเกตยาโรคหัวใจสุนัขที่มีคุณภาพ

1. ดูทะเบียนและเอกสารกำกับยา ยาที่มีคุณภาพจะต้องมีเลขทะเบียนและเอกสารกำกับยาที่ถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้

2. สังเกตฉลากบนกล่องและบรรจุภัณฑ์ หากมีจุดที่ตัวหนังสือลบเลือน อาจบอกได้ว่าเป็นยาที่ไม่ได้มาตรฐาน

3. สังเกตวันที่ผลิตและวันหมดอายุ ต้องมีวันที่ผลิต วันหมดอายุ รวมถึงเลขล็อตของยาประทับอยู่บนกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ชัดเจน

4. ได้รับจากสถานที่ที่เชื่อถือได้ เช่น ศูนย์โรคหัวใจสุนัข โรงพยาบาลสัตว์ หรือคลินิกรักษาสัตว์ เป็นต้น

5. ตัวยามีสีคงเดิม ไม่เปลี่ยนไป ไม่มีลักษณะความชื้น หรือร่วนผิดไปจากเดิม ไม่มีจุดราขึ้น

ดังนั้นก่อนให้ยาโรคหัวใจแก่สุนัข อย่าลืมตรวจสอบคุณภาพและความน่าเชื่อถือ รวมทั้งแหล่งที่มาของยาทุกครั้ง เพราะข้อเสียของการที่ให้น้องหมาเป็นโรคหัวใจกินยาปลอมหรือยาที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นมีอยู่มาก นอกจากจะไม่สามารถรักษาสุนัขให้มีอาการดีขึ้นได้แล้ว ยังอาจทำให้อาการป่วยรุนแรงกว่าเดิมจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย และยังแนะนำว่าการพาสุนัขไปรักษาและรับยากับสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอและถูกต้องนั้นเป็นวิธีที่ปลอดภัยและช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของมากที่สุด ถ้ารักกันจริงอย่าลืมหมั่นพาไปพบสัตวแพทย์และตรวจเช็คหัวใจเป็นประจำนะคะ ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ Your Pet Heart : ดูแลหัวใจ ห่วงใยสัตว์เลี้ยง

CVCA. Heart Disease in Dogs. (ออนไลน์). สืบค้นจาก: https://www.cvcavets.com/canine-heart-diseases/ (เข้าถึงเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565)

FETCH by WebMD. Congestive Heart Failure in Dogs. (ออนไลน์). สืบค้นจาก: https://pets.webmd.com/dogs/congestive-heart-failure-dogs#1 (เข้าถึงเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565)

Michele Taylor. Congestive Heart Failure in Dogs. (ออนไลน์). สืบค้นจาก: https://pets.webmd.com/dogs/congestive-heart-failure-dogs (เข้าถึงเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565)

Suzanne M. Cunningham. Treatment of Cardiovascular Disease in Dogs. (ออนไลน์). สืบค้นจาก: https://www.msdvetmanual.com/dog-owners/heart-and-blood-vessel-disorders-of-dogs/treatment-of-cardiovascular-disease-in-dogs (เข้าถึงเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565)

โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์. วิธีสังเกต ยาเสื่อมคุณภาพ. (ออนไลน์). สืบค้นจาก: https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/expired-medicine (เข้าถึงเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565)

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

9 DEC 2021
รู้หรือไม่? น้องแมวก็ป่วยเป็นโรคหัวใจได้นะ
โรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง หลายคนอาจเคยได้ยินว่ามักเกิดขึ้นในน้องหมา แต่รู้หรือไม่ว่าโรคหัวใจก็สามารถเกิดขึ้นในน้องแมวได้เช่นกัน โดยโรคหัวใจที่พบในแมวจะมีทั้งแบบโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด และโรคหัวใจหลังกำเนิด ซึ่งโรคหัวใจที่พบได้บ่อยที่สุดในแมว
30 JUN 2022
รู้ได้อย่างไร? ว่าสุนัขของเราเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
โรคหัวใจเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในสุนัข สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากการเป็นโรคหัวใจในสุนัขตั้งแต่กำเนิด (Congenital heart disease) หรือโรคหัวใจในสุนัขที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired heart disease) เช่น ในสุนัขสูงวัย สุนัขน้ำหนักเกิน อีกทั้งโรคหัวใจยังเป็นโรคประจำสายพันธุ์ของสุนัขในบางสายพันธุ์อีกด้วย แล้วสุนัขของเรามีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือไม่? จะทราบได้อย่างไรว่าสุนัขมีความเสี่ยง?
26 SEP 2022
ถ้ารักกันจริงต้องดูแลด้วยหัวใจ ระวัง...การเลือกใช้ “ยาปลอม” หรือ "ยาไม่ได้ขึ้นทะเบียน" อาจทำร้ายเขาถึงชีวิต
เมื่อเราตัดสินใจเลี้ยงสุนัข หมายความว่าเราพร้อมที่จะดูแลเขาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลในด้านของสุขภาพใจหรือสุขภาพกาย เราก็อยากให้เขาแข็งแรงอยู่เสมอ และเมื่อมาถึงวันที่สุนัขของเราล้มป่วย โดยเฉพาะการป่วยจากโรคหัวใจในสุนัข
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่