การดูแลสัตว์ป่วยโรคหัวใจ

17 MAY 2021
share :

แม้ว่าโรคหัวใจในสุนัขและโรคหัวใจในแมวจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การจัดการดูแลที่เหมาะสมจะช่วยให้สัตว์ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนยาวขึ้นได้ โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการจัดการดูแลสุนัขป่วยหรือแมวป่วยโรคหัวใจก็คือเจ้าของสัตว์เลี้ยงนั่นเอง มาลองดูวิธีการจัดการดูแลสัตว์ป่วยโรคหัวใจง่าย ๆ โดยใช้หลัก 3 ประการ ดังนี้

I. สังเกต

สิ่งที่ต้องสังเกตประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

1. ลักษณะทั่วไป สังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ พฤติกรรม ความอยากอาหาร ปริมาณน้ำที่ทาน เมื่อเทียบจากปกติที่เคยเป็น เช่น สุนัขไอแห้ง สุนัขไอเรื้อรัง สุนัขเบื่ออาหาร ซึม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจบ่งชี้ถึงผลข้างเคียงที่เกิดจากการให้ยาโรคหัวใจสุนัขและแมว หรืออาการที่ทรุดลงจากภาวะหัวใจล้มเหลว หรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคหัวใจหรือโรคทางระบบอื่น ๆ

2. อัตราการหายใจ บางครั้งเจ้าของอาจพบว่าน้องแมวหรือน้องหมาหายใจไม่ออก ให้ลองสังเกตอัตราการหายใจ โดยนับจำนวนครั้งของการหายใจใน 1 นาที ในเวลาที่สัตว์พักผ่อนหรือนอนหลับสนิท หากไม่มีการรบกวนต่อตัวสัตว์ จำนวนครั้งของการหายใจใน 1 นาทีของน้องแมวน้องหมา ปกติจะน้อยกว่า 30 ครั้ง/นาที หากอัตราการหายใจเพิ่มขึ้น 20% อาจบ่งชี้ถึงภาวะความผิดปกติที่ปอดได้

3. อัตราการเต้นของหัวใจ สังเกตได้โดยทำการวัดชีพจรที่ขาหนีบในช่วงสัตว์พัก หากชีพจรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% อาจบ่งชี้ถึงอาการที่ทรุดลงจากภาวะหัวใจล้มเหลว

การสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยระบุปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที หากมีการเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมาเกิดขึ้น ควรรีบพาสัตว์ป่วยไปพบสัตวแพทย์ที่โรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจสุนัขโดยเร็วที่สุด

II. ใส่ใจ เจ้าของควรใส่ใจสัตว์เลี้ยงที่ป่วย 3 เรื่องหลัก ดังนี้

1. ใส่ใจในการรักษา
การรักษาโรคหัวใจสุนัขหรือแมวในปัจจุบัน โดยมากจะเป็นการรักษาทางยา ซึ่งมักจะมีการใช้ยาหลายตัวร่วมกันเพื่อช่วยในการรักษา และชะลอให้สุนัขเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวช้าที่สุด เพราะฉะนั้นเจ้าของจึงควรทำความเข้าใจ และสอบถามสัตวแพทย์ให้ชัดเจนเกี่ยวกับอาการของสุนัขป่วยเป็นโรคหัวใจ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น วัตถุประสงค์ของการให้ยาแต่ละชนิด รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาโรคหัวใจสุนัข เพื่อที่จะได้เฝ้าระวัง สังเกตอาการต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองเมื่ออยู่ที่บ้าน และให้ข้อมูลอาการที่สำคัญแก่สัตวแพทย์ เพื่อประโยชน์ในการรักษาต่อไป

2. ใส่ใจในอาหาร
สัตว์ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว แนะนำให้ลดปริมาณเกลือ (sodium chloride) ในอาหาร เนื่องจากการให้อาหารที่มีปริมาณเกลือมากจะทำให้เกิดการดึงน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายและทำให้สุนัขแสดงอาการของโรคมากขึ้น และทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้นด้วย ขนมและอาหารสัตว์ตามท้องตลาดโดยทั่วไป รวมถึงอาหารที่คนรับประทานมักมีปริมาณเกลืออยู่ในระดับสูง จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ ทั้งนี้ เจ้าของสามารถปรุงอาหารที่มีปริมาณเกลือต่ำให้สัตว์ป่วยด้วยตนเองได้ หรืออีกวิธีที่แนะนำคือการเลือกซื้ออาหารสำหรับสัตว์ที่มีปัญหาโรคหัวใจโดยตรง เช่น อาหารสำหรับสุนัขเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากมีการคำนวณสูตรอาหารและมีปริมาณเกลือในอาหารที่เหมาะสมกับสัตว์ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะ โดยสามารถหาซื้อได้ทั่วไปที่ศูนย์รักษาโรคหัวใจ หรือโรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้าน

3. ใส่ใจในการดูแลการออกกำลังกายอย่างใกล้ชิด
หนึ่งในอาการของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ เหนื่อยง่าย และไม่ทนต่อการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม ดังนั้นน้องแมวหรือน้องหมาป่วยโรคหัวใจจึงควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ อย่างไรก็ตาม เจ้าของสามารถพาสัตว์ป่วยไปออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำได้ ภายใต้การดูแลของเจ้าของอย่างเคร่งครัด เช่น การพาเดินที่สนามหญ้าในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่ไม่มีแดด ไม่ควรบังคับหากพบว่าสัตว์ป่วยเริ่มเหนื่อย นอกจากนี้ หากพบว่าสัตว์ป่วยมีอาการเป็นลมหรืออ่อนแรงอย่างฉับพลัน ควรรีบพาสัตว์ป่วยไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด ในกรณีที่สัตว์อยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรงให้งดการออกกำลังกายทุกชนิดโดยเด็ดขาด

III. มีวินัย ใน 2 เรื่องหลัก ดังนี้

1. มีวินัยในการให้ยา
สิ่งสำคัญที่สุดในวิธีรักษาสุนัขป่วยหรือแมวป่วยเป็นโรคหัวใจ คือการให้ยาโรคหัวใจสุนัขหรือแมวอย่างสม่ำเสมอ ตรงตามขนาดและเวลาที่ฉลากกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยยาที่ให้ต้องเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง เมื่อยาใกล้หมด ควรรีบพาสัตว์ป่วยมาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจติดตามผลการรักษา และรับยาไปทานอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้สัตว์ป่วยขาดยาเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้โรคหัวใจมีการดำเนินไปในทางที่แย่ลง

2. มีวินัยในการพาสัตว์ป่วยไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำ และต่อเนื่อง
เจ้าของควรนำสัตว์ป่วยไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำและต่อเนื่อง เพื่อตรวจสภาพร่างกาย และประเมินอาการเพื่อปรับการให้ยา โดยทุกครั้งที่ไปพบสัตวแพทย์ตามนัด เจ้าของควรนำยาทั้งหมดที่สัตว์ป่วยทานในปัจจุบันมาด้วย พร้อมกับแจ้งอาการผิดปกติที่เจ้าของสังเกตพบเมื่อทานยาชุดนี้ให้สัตวแพทย์ทราบ นอกจากนี้สัตวแพทย์อาจจะทำการตรวจเลือดเป็นระยะ เพื่อเฝ้าระวังการทำงานของตับและไต รวมถึงอิเล็กโทรไลต์ที่สำคัญ เช่น โพแทสเซียม โซเดียม

สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากเน้นย้ำคือ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

12 OCT 2023
บทสัมภาษณ์ รักและแคร์ เลยขอแชร์ฟีลลิ่ง “เมื่อรู้ว่าน้องหมาเป็นโรคหัวใจ”
บทสัมภาษณ์นี้พบกับเรื่องราวของคุณยุ้ย กับน้องมอลลี่และท็อดดี้ ชิวาว่าวัยเก๋า ที่ถึงแม้จะตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจ แต่พลังความน่ารักสดใสก็ไม่ได้ลดลงไปเลย คุณยุ้ยมีวิธีดูแลน้องๆ ให้ยังดูสดใสแข็งแรง ไปพร้อมกับดูแลความรู้สึกของตัวเองอย่างไร? มาหาคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์พิเศษ “รักและแคร์ เลยขอแชร์ฟีลลิ่ง เมื่อรู้ว่าน้องหมาเป็นโรคหัวใจ” นี้ไปพร้อมกันได้เลย
28 MAR 2022
การดูแลสุนัขป่วยโรคหัวใจ ไม่ยากอย่างที่คิด?
เราเชื่อว่าเจ้าของสุนัขทุกคน ไม่มีใครอยากให้น้องป่วย แต่บางครั้งเรื่องของโรคภัยก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ ซึ่งโรคหัวใจในสุนัขก็เป็นหนึ่งในโรคเหล่านั้น แต่ถึงแม้สุนัขป่วยโรคหัวใจแล้ว เจ้าของก็ยังอยากดูแลน้องให้ดีที่สุดเพื่อให้น้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่กับเราได้นาน ๆ ซึ่งการดูแลสุนัขป่วยโรคหัวใจก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่หลายคนคิด
16 AUG 2021
การดูแลอาหารสำหรับสัตว์ป่วยโรคหัวใจ
เพราะหัวใจไม่เคยหยุดพัก...มีอวัยวะหนึ่งของคนเรารวมถึงของน้องหมาที่ขยันขันแข็ง ทำงานตลอดเวลา หนักบ้าง เบาบ้าง แต่ก็ไม่เคยได้หยุดพักเลย ซึ่งอวัยวะที่กล่าวถึงก็คือหัวใจนั่นเอง
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่